ทอท.ยื่นฟ้องศาลแพ่ง ขับไล่ 13 แกนนำพันธมิตรฯ ออกจากสนามบินดอนเมือง พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวสั่งแกนนำพาผู้ชุมนุมออกจากสนามบินทันที ศาลเปิดไต่สวนและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งออกจากสนามบินดอนเมืองทันที
วันนี้ (27 พ.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายอมร อมรรัตนานนท์ นายนรัณยู หรือศรัณยู วงศ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยที่ 1-13 เรื่องละเมิดและขับไล่ ขอให้ศาลบังคับพวกจำเลยออกจากบริเวณท่าอากาศยานสนามบินดอนเมือง และจัดทำบริเวณท่าอากาศยานฯให้สามารถใช้สอย และใช้ประโยชน์และอยู่ในความควบคุมดูและครอบครองของโจทก์ในสภาพเดิม และโจทก์ยังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี โดยให้พวกจำเลยออกจากสนามบินดอนเมืองทันที
ต่อมาที่ห้องพิจารณาคดี 501 ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์ นางพัชรา พรยุทธพงศ์ ผอ.ฝ่ายความปลอดภัยท่าอากาศยานฯ เบิกความสรุป ว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 51 เมื่อเวลา 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ประมาณ 100 คน นำโดยนายศิริชัย ไม้งาม เข้ามาปิดถนนหน้าสนามบินดอนเมือง และบุกรุกเข้ามาภายในพื้นที่ เพื่อขัดขวางการทำงานและการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริเวณชั้น 4 และวันที่ 25 พ.ย. 51 นายศิริชัย และแกนนำคนอื่นๆ ได้ชักชวนกลุ่มบุคคลอื่นๆ ภายนอกให้มาร่วมชุมนุม เพื่อขัดขวางการประชุม ครม.
วันที่ 26 พ.ย.เวลา 19.00 น.กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินเข้ามาในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ บริเวณหน้าชานชลาขาเข้า กระจายกำลังปิดถนนทางเข้าอาคารผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่สายการบินต่างๆ เกิดความตระหนก ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
ต่อมาผู้ชุมนุมบางส่วนเข้ามาเดินที่ห้องโถงผู้โดยสาร ทำให้เจ้าหน้าที่-ผู้โดยสารเกิดความตระหนกอย่างมาก เบื้องต้นได้เจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปนอกพื้นที่อาคาร และให้เปิดช่องทางให้ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยินยอมออกไป แต่ก็ไปชุมนุมต่อที่ด้านหน้าอาคาร และถนนสายต่างๆ ภายในดอนเมือง เพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้โดยสารเดินทางเข้ามาได้
กระทั่งเวลา 21.00 น.ของวันที่ 26 พ.ย. 51 ผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันมากขึ้น จนไม่สามารถให้บริการผู้โดยสารได้ ผอ.สนามบินดอนเมืองจึงเรียกประชุมส่วนราชการ และสายการบินที่เกี่ยวข้อง และมีมติให้ปิดสนามบินดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.51 ทั้งนี้ สนามบินดอนเมืองมีเที่ยวบินขึ้นลงวันละ 70-80 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณวันละ 10,000 คน ส่งผลให้ได้รับความเสียหายวันละ 4 ล้านบาท ทั้งนี้ทางสนามบินดอนเมืองได้บันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดไว้ได้เมื่อวันที่ 26 พ.ย. แต่วันที่ 27 พ.ย.ไม่สามารถบันทึกภาพได้เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯได้นำผ้าสีดำมาปิดกล้องวงจรปิดไว้
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยทั้ง13ใช้วิธีการประท้วง ขับไล่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยชักนำมวลชนเข้าร่วมชุมนุมที่เป็นการปิดกั้นท่าอากาศยานสนามบินดอนเมืองทั้งภายในและนอกอาคาร เป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง และมาตรา 34 วรรคสอง บัญญัติอีกว่าการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางจะทำไม่ได้เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์ แม้จำเลยทั้ง 13 และกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ จะมีเสรีภาพในการชุมนุมแต่ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง และจะต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าด้วยเสรีภาพในการเดินทางตามที่กล่าวมา รวมทั้งสิทธิของโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแลท่าอากาศยานสนามบินดอนเมือง ที่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถอำนวยการให้บริการแก่ประชาชนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินได้ และประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเดินทางไปมาได้ตามปกติ
กรณีมีเหตุฉุกเฉินจึงมีเหตุผลอันสมควรที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษามาใช้บังคับ จึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 13 ออกไป และนำกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมออกจากบริเวณท่าอากาศยานสนามบินดอนเมือง เพื่อให้พนักงาน ผู้ให้บริการ และประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการได้ตามปกติในทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตามกฎหมายฝ่ายจำเลยยังมีสิทธิยื่นคำคัดค้านต่อศาลแพ่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ รวมทั้งยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หากศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เหมือนเช่นกรณีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียื่นฟ้องขับไล่พันธมิตรฯ