xs
xsm
sm
md
lg

ประชัยลุ้นคำสั่งศาลอุทธรณ์ ยื้อเวลาจ่ายค่าปรับ6.9พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประชัย"ลุ้นคำสั่งศาลอุทธรณ์ ระงับสืบหาทรัพย์จ่ายค่าปรับคดีปั่นหุ้น 6.9 พันล้านวันนี้ นักวิชาการกฎหมาย มึนยืนอุทธรณ์ข้ามหัวศาลชั้นต้นผิดปกติ แถมอัยการยังไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด พร้อมจี้ทนายแผ่นดิน ทบทวนคำสั่งหากศาลอุทธรณ์งดไต่สวนสืบหาทรัพย์จริง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศตามหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายว่า วันนี้(22 ม.ค.51) ในเวลาประมาณ 9.00 ศาลอาญาจะอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีที่บริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีพีไอ โพลีน บริษัทเสติร์น สจ๊วต ประเทศไทย จำกัด และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ผู้เชี่ยวชาญการประเมินมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท สเติร์น สจ๊วต ประเทศไทย ภายหลังจำเลยได้ทำการยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลอุทธรณ์และนำมาเป็นข้ออ้างต่อศาลอาญาในการงดไต่สวนสืบหาทรัพย์ของบริษัทเพื่อนำมาเป็นค่าปรับจำนวน 6,900 ล้านบาท
สำหรับที่มาของคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะปั่นหุ้นทีพีไอจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย ต่อมาศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายประชัย และนายเชียรช่วง คนละ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญาและปรับคนละ 3 แสนบาท และให้ปรับบริษัท ทีพีไอ และบริษัท สเติร์น บริษัทละ 6,900 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 1 เดือนตามระยะเวลาของกฎหมาย บริษัททีพีไอ โพลีน มิได้นำเงินมาชำระ และศาลอาญาจึงมีคำสั่งไต่สวนสืบหาทรัพย์สิน เพื่อนำมาชำระค่าปรับดังกล่าวทันทีโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด และเป็นที่มาของการยื่นอุทธรณ์ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านกฎหมาย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การยื่นเรื่องอุทธรณ์ในนี้ผิดปกติจากขั้นตอนทีควรจะกระทำ โดยเป็นเสมือนการข้ามขั้นตอน เนื่องจากจำเลยทำการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์โดยตรง เพื่อให้มีคำสั่ง ซึ่งตามปกติควรยื่นคำร้องในกรณีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน และเมื่อมีการยื่นคำร้องดังกล่าว พนักงานอัยการโจทก์มีการคัดค้านไว้หรือไม่เพียงใด
นอกจากนี้ การบังคับโทษปรับด้วยวิธีการยึดทรัพย์สินออกทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าปรับ ตาม ป.อ.ม. 29,30 ไม่ใช่การบังคับคดีในทางแพ่ง จึงมิอาจนำหลักเกณฑ์เรื่องของการทุเลาบังคับคดีตามคำพิพากษา ใน ป.วิ.พ.ม. 231 มาบังคับใช้กับการบังคับโทษปรับได้ โดยจำเลยจะกระทำได้วิธีเดียวคือการขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นรายงวดเท่านั้น หากมีการอ้างว่าค่าปรับมีจำนวนสูงมาก และไม่มีเงินเพียงพอ อีกทั้งคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลสูงอีกด้วย
นักวิชาการท่านนี้ยังให้ความเห็นอีกว่า หากในวันนี้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญางดการไต่สวนสืบหาทรัพย์ของบริษัททีพีไอ โพลีน เพื่อนำมาเป็นค่าปรับ จะเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ
"พนักงานอัยการโจทก์ต้องทบทวนตรวจสอบคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่าจะมีเหตุผลฟังขึ้นในทางกฎหมายหรือไม่ในการงดการไต่สวน เพราะพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดินต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งจึงจะถูกต้อง"
อนึ่ง นายสุรจิตร ศรีบุญมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน กล่าวถึงคดีนี้ไว้ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ศาลอาญาบังคับ บริษัท ทีพีไอ นำเงิน 6,900 ล้านบาทมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษา ซึ่งจริงๆ แล้วการทำเช่นนั้นเป็นการข้ามขั้นตอนกฎหมายที่ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาก่อน แต่เมื่อจำเลยเลือกใช้สิทธิเช่นนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลอุทธรณ์ว่าจะใช้ดุลพินิจเช่นใด ถ้าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญาระงับบริษัททีพีไอฯนำเงิน 6,900 ล้านบาท มาชำระค่าปรับไว้จนกว่าคดีปั่นหุ้นจะถึงที่สุด การไต่สวนเพื่อสืบหาทรัพย์สินทีพีไอมาชำระค่าปรับจำนวนนี้ก็ต้องยุติ แต่ถ้าศาลอุทธรณ์ไม่มีคำสั่งให้ศาลอาญาระงับ ศาลก็ต้องไต่สวนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น