ศาลอาญาไต่สวนสืบหาทรัพย์สิน “บริษัท ทีพีไอ” เพื่อมาชำระค่าปรับ จำนวน 6.9 พันล้านบาท กรณีคดีปั่นหุ้นทีพีไอในตลาดหลักทรัพย์ โดยนัดไต่สวนครั้งต่อไป 22 ม.ค.ปีหน้า
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสุรจิตร ศรีบุญมา พร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจ และทรัพยากรเป็นโจทก์ยื่นคำร้องให้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีพีไอ โพลีน บริษัท เสติร์น สจ๊วต ประเทศไทย จำกัด และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ผู้เชี่ยวชาญการประเมินมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท สเติร์น สจ๊วต ประเทศไทย เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องการสืบหาทรัพย์สินของบริษัท ทีพีไอ เพื่อมาชำระค่าปรับจำนวน 6,900 ล้านบาท
โดยวันนี้ นายสมคิด แก้วมณี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ดูแลการฟื้นฟูกิจการของ บ.ทีพีไอ เบิกความสรุปว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอไม่มีการระบุรายละเอียดว่าปัจจุบันนี้ บ.ทีพีไอมีทรัพย์สินเป็นจำนวนเท่าไร คงมีแต่เพียงยอดเจ้าหนี้และยอดหนี้ จึงไม่อาจแยกรายละเอียดของทรัพย์สินทีพีไอได้ว่าจะมีทรัพย์สินอะไรที่มีมูลค่าใกล้เคียงกับจำนวนเงิน 6,900 ล้านบาทที่ศาลจะยึดเป็นค่าปรับและหากศาลยึดทรัพย์สิน บ.ทีพีไอ ซึ่งอยู่ระหว่างทำแผนฟื้นฟูกิจการ นอกจากจะกระทบต่อ บ.ทีพีไอซึ่งเป็นลูกหนี้แล้วยังกระทบต่อเจ้าหนี้ซึ่งต้องได้รับชำระหนี้ตามแผนด้วย แต่ไม่ทราบว่าจะส่งผลกระทบไปถึงผู้ถือหุ้นทีพีไอในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ พยานเบิกความเรื่องอื่นๆ แล้วเสร็จ ศาลจึงมีคำสั่งให้ทนายจำเลยนำนายประชัย นายประหยัด และนายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหาร บ.ทีพีไอ มาเบิกความครั้งต่อไปวันที่ 22 ม.ค. ศกหน้า เวลา 09.00 น.
ภายหลัง นายสุรจิตร ศรีบุญมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน กล่าวว่า คดีนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ศาลอาญาบังคับ บริษัท ทีพีไอ นำเงิน 6,900 ล้านบาทมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษา ซึ่งจริงๆ แล้วการทำเช่นนั้นเป็นการข้ามขั้นตอนกฎหมายที่ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาก่อน แต่เมื่อจำเลยเลือกใช้สิทธิเช่นนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลอุทธรณ์ว่าจะใช้ดุลพินิจเช่นใด ถ้าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญาระงับบริษัททีพีไอฯนำเงิน 6,900 ล้านบาท มาชำระค่าปรับไว้จนกว่าคดีปั่นหุ้นจะถึงที่สุด การไต่สวนเพื่อสืบหาทรัพย์สินทีพีไอมาชำระค่าปรับจำนวนนี้ก็ต้องยุติ แต่ถ้าศาลอุทธรณ์ไม่มีคำสั่งให้ศาลอาญาระงับ ศาลก็ต้องไต่สวนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องจากพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง บ.ทีพีไอ นายประชัย นายเชียรช่วง และ บ.เสติร์น สจ๊วต เป็นจำเลยกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะปั่นหุ้นทีพีไอจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย ต่อมาศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายประชัย และนายเชียรช่วง คนละ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญาและปรับคนละ 3 แสนบาท และให้ปรับบริษัท ทีพีไอ และบริษัท สเติร์น บริษัทละ 6,900 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดชำระเงินค่าปรับตามกฎหมาย บ.ทีพีไอ ไม่ได้นำเงินมาชำระ ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไต่สวนสืบหาทรัพย์สิน บ.ทีพีไอ เพื่อนำมาชำระค่าปรับดังกล่าวทันทีโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด แต่ บ.ทีพีไอ ยื่นคัดค้านด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ดังกล่าว