xs
xsm
sm
md
lg

แฉแผนลวง”เพื่อนเนวิน-ศรีสุข” ย้ายกลับสุวรรณภูมิเอื้อคิงเพาเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-ชำแหละแผนลวง”เพื่อนเนวินและศรีสุข”ชู นโยบาย Single Airport ที่สุวรรณภูมิ โยก 3 สายการบินกลับจากดอนเมืองโยกผลประโยชน์เม็ดเงินปีละกว่า 500 ล้านบาท ประเคนคิงเพาเวอร์ เมินปัญหาสุวรรณภูมิ แออัด รันเวย์แท็กซี่เวย์ชำรุด หวั่นผู้โดยสารไม่สะดวกสายการบินย้ายฐานหนี

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การชูนโยบายผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินเดี่ยว (Single Airport) รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมด ส่วนสนามบินดอนเมืองจะใช้สำหรับรองรับอุตสาหกรรมการบิน เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานและรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) โดยให้ย้าย 3 สายการบิน คือ การบินไทย นกแอร์ และวันทูโกจากสนามบินดอนเมืองกลับไปให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นอาจจะเป็นการชูนโยบายในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม และเป็นการซ้ำเติมปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้100% โดยเฉพาะเรื่องความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารและปัญหาการชำรุดของทางขับ (แท็กซี่เวย์) และทางวิ่ง (รันเวย์)

แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการนำนโยบาย Single Airport มาเป็นข้ออ้างเพื่อแฝงเป้าหมายในการโยกผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ จากดอนเมืองซึ่งทอท.จะได้รับรายได้เชิงพาณิชย์ทั้งหมด 100% กลับมาที่สุวรรณภูมิ ซึ่งมีบริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้ได้รับสัมปทานการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่

กล่าวคือจากจำนวนผู้โดยสารของสนามบินดอนเมือง ในปี 2551 รวม 5.751 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 80% หากมีการใช้จ่ายภายในสนามบินเพียงคนละ 100 บาท เม็ดเงินเกิดขึ้นจะมากถึง 500 ล้านบาทและการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคตก็จะยิ่งสร้างรายได้ให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในขณะที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศของสนามบินดอนเมืองมีขีดความสามารถรองรับได้ถึง 11 ล้านคนต่อปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่น่าแปลกที่ทั้งนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตประธานคณะกรรมการ ทอท. ซึ่งปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศจะประสานเสียงในการผลักดันให้ย้าย 3 สายการบินจากดอนเมืองกลับไปที่สุวรรณภูมิ โดยให้ความสำคัญของปัญหาความแออัดที่สุวรรณภูมิว่าแค่วันละชั่วโมงเท่านั้น สามารถใช้การบริหารจัดการได้

****หวั่นผู้โดยสารล้นสุวรรณภูมิป่วน
แหล่งข่าวกล่าวว่า การใช้สนามบินดอนเมืองสำหรับรองรับเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีผู้โดยสารต่อเครื่องนั้น เพื่อช่วยลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร เนื่องจากช่วงที่ออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิในขณะนั้นยังไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ในขณะที่แผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปีทำไม่ทันกับการเติบโตของผู้โดยสาร เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวทำให้ สายการบินต่างๆ จะย้ายไปทำการบินในประเทศเพื่อนบ้านและ สุวรรณภูมิสูญเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
โดยในปี 2551 สุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสาร 41.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 4% ดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสาร 5.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 80% หากย้าย 3 สายการกลับมาที่สุวรรณภูมิจะทำให้มีผู้โดยสารถึง 46.93 ล้านบาท ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับ

“สุวรรณภูมิมีอาคารผู้โดยสารหลังเดียว รองรับการบินทั้งสายการบินในประเทศ ระหว่างประเทศ และปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำภายในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความแออัดและในขณะเดียวกัน ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการบินทั้ง 4 ประเภทก็ไม่เท่ากัน ในหลักการควรต้องแยกผู้โดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำและภายในประเทศออกมาโดยอาจทำเป็นอาคารผู้โดยสารเฉพาะ แต่ก็จะเป็นการลงทุนใหม่ในขณะที่มีสนามบินดอนเมืองอยู่แล้ว จึงต้องการใช้ทรัพย์สินที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดนอกจากนี้ในแผนการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ได้สรุปว่าระหว่างการดำเนินการเฟส 2 นั้น ทอท.จำเป็นต้องใช้สนามบินดอนเมืองด้วย”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ นโยบาย Single Airport โดยให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานหลักท่าอากาศยานเดียวเกิดขึ้นในปี และวันที่ 6 ก.พ. 2550 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ใช้ สนามบินดอนเมืองควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีมติให้สายการบินภายในประเทศที่ไม่มี การเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศใช้สนามบินดอนเมือง ตามความสมัครใจ และให้ ทอท.ศึกษาความ เหมาะสมในการใช้สนามบินดอนเมือง เพื่อให้บริการสายการบินต่างชาติ และสายการบินต้นทุนต่ำ สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศในระยะต่อไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2550
เป็นการดำเนินนโยบายให้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสนามบินหลัก และดอนเมืองเป็นสนามบินรองรับ (Reliever Airport) ซึ่งจะสนับสนุนและส่งเสริมการรองรับการเติบโตของปริมาณจราจรทางอากาศของกรุงเทพฯ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทอท.ได้ว่างจ้าง องค์การการบินพลเรือระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ศึกษาการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิในลักษณะ Bangkok Airport System เพื่อคงสถานะความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยจะแล้วเสร็จในเดือนก.พ. 2552 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น