ศุกร์นี้หลบเสียงวิจารณ์ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลมาร์คผู้มีแต่ให้ มาดูประวัติชีวิต และผลงานนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ศาสตราจารย์ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตและวิญญาณ ในการนำความรู้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องร่วมชาติ จนผลงานของเขา “ธนาคารกรามีน” เป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก และคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2549 ได้สำเร็จ หากแต่สิ่งทรงคุณค่าเหนือกว่ารางวัลอันยิ่งใหญ่ คือ การที่นักวิชาการท่านนี้ได้เป็นเจ้าของ โมเดลแก้จนของจริง ที่จะลงไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชนชั้นรากหญ้าในบังกลาเทศ ให้ยกระดับฐานะความเป็นอยู่และลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้
คนไทยเรารู้จักนโยบายกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล กองทุนเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่รัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร จนถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และไม่ว่าตามความเป็นจริงรัฐบาลไหนจะเป็นผู้ลอกนโยบายใครก่อน-หลัง ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แนวคิดการสร้างโอกาสด้วยการหยิบยื่นเงินทุนให้ชาวบ้านที่ยากไร้ไปตั้งตัว สร้างกระบวนการพึ่งพาตนเอง มีจุดเริ่มต้นอันสำคัญ และเคยประสบผลสำเร็จมาแล้วในประเทศบังกลาเทศ ประเทศที่มีเนื้อที่เล็กกว่าไทยถึง 3 เท่า แต่มีประชากรหนาแน่นติดอันดับ 8 ของโลก
คนส่วนใหญ่ที่นี่ทำเกษตรกรรม ไม่รู้หนังสือ ยากไร้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ไร้ที่ทำกิน ยึดอาชีพแรงงานรับจ้าง มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หนำซ้ำบังกลาเทศยังโชคร้ายกว่าไทยมาก เพราะมีภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดที่ไซโคลนเข้าบ่อยสุดในเอเชียใต้ ส่วนปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก็กลายมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ
ไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่เข้าไปช่วยพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ในชนบทบังกลาเทศ แทนที่จะเป็นรัฐบาลหรือองค์กรเคลื่อนไหวใดๆ กลับกลายเป็นเพียงมือคู่น้อยๆ ของนักวิชาการผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ และตัดสินใจกลับมาทำงานตอบแทนแผ่นดินเกิด ศาสตราจารย์ผู้นี้แทนที่จะเอาความรู้ความสามารถไปรับใช้บริษัทเอกชนแลกเงินเดือนก้อนโต เขากลับเลือกไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดบ้านเกิดของเขา และที่นี่เองที่ทำให้เขาได้เข้าไปใกล้ชิดและช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน และสร้างประโยชน์ให้คนจำนวนมาก มากกว่าการเข้าไปดำรงตำแหน่งใหญ่โตในคณะกรรมาธิการวางแผนของรัฐบาล ซึ่งเขาแทบไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจังเลย นอกจากนั่งจิบกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์
มีสัจธรรมหลายข้อที่ยูนุสได้รับระหว่างการเป็นครูในชนบท เช่น การเป็นเพียงนักวิชาการที่มุ่งแสวงหาความรู้ในระดับที่สูงขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว โดยโดดเดี่ยวมหาวิทยาลัยไม่เข้าไปช่วยเหลือชุมชนรายรอบ และแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนบ้านเป็นเรื่องที่น่าละอาย หรือแม้แต่การค้นพบว่า ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ซับซ้อนแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยเมื่อมีคนกำลังจะตายเพราะความหิวโหยให้เห็นอยู่รอบๆ ห้องบรรยายของเขานั่นเอง
ศาสตราจารย์ยูนุสจึงเริ่มต้นการวิ่งเข้าไปสู่รากเหง้าของปัญหายากจนเพื่อศึกษาและหาทางแก้ไข เขาชักชวนนักเรียนให้วางตำราคลาสสิก และวิ่งลงไปนาไร่ สอนชาวบ้านเรียนรู้การทำนาแบบใหม่ นำพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตสูงมาให้ชาวบ้าน และเด็กๆ มีหน้าที่เขียนรายงานวัดผลการช่วยเหลือชาวบ้านส่งครู แทนการบ้านที่มีแต่โจทย์คณิตศาสตร์ยากๆ และไม่เกิดประโยชน์
เมื่อรัฐบาลไม่ทำอะไรนอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตให้เกษตรกร ก็เป็นหน้าที่ของยูนุสด้วยความเต็มใจ ที่จะเข้าไปสอนให้ชาวบ้านรู้จักการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ หลักการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ทำให้บ่อน้ำและปั๊มสูบที่เคยเหลือร้าง ไม่ถูกทิ้งอย่างว่างเปล่า ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามจะช่วยเหลือคนที่ยากไร้กว่าชนชั้นชาวนา หรือผู้ไม่มีกระทั่งที่ทำกินที่เพาะปลูก ได้กลายมาเป็นต้นกำเนิดของธนาคารเพื่อคนชนบท หรือ “ธนาคารกรามีน” นั่นเอง
ชีวิตของสตรีบังกลาเทศที่ได้รับค่าตอบแทน จากการสานตระกร้าขายวันละ 50 สตางค์เพราะเธอไม่มีเงินทุนจะไปซื้อไม้ไผ่สำหรับใช้สานตระกร้า จึงต้องกู้พ่อค้าคนกลางวันละ 5 บาท 50 สตางค์ จนกระทั่งเมื่อตระกร้าถูกสานจนเสร็จจึงนำไปขายคืนพ่อค้า รับส่วนต่างสำหรับเลี้ยงชีพเพียง 50 สตางค์ต่อวัน (เมื่อปี 2520) เหล่านี้คือโจทย์ชีวิตของจริงที่ศาสตราจารย์ชาวบังกลาเทศต้องแก้ให้ตก ตัวเขาเองถึงกับเปรยว่า ในชั่วโมงบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ขณะที่เขากำลังอธิบายทฤษฎีถึงตัวเลขเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ แต่ต่อหน้าต่อตาเขาปัญหาความเป็นความตายของคนเรากลับขึ้นอยู่กับเงินเพียง 2 เซนต์ (หรือประมาณ 50 สตางค์) เท่านั้น
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธนาคารคนยากที่ศาสตราจารย์ยูนุสก่อร่างสร้างขึ้นบนแนวคิดที่ว่า ชาวบ้านที่เขาช่วยเหลือไม่ได้จนเพราะโง่ หรือเกียจคร้าน แต่เพราะขาดโอกาสและเงินทุน และแน่นอนว่า ไม่มีธนาคารแห่งไหนยอมให้เงินกู้กับผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และขาดหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน แต่สำหรับยูนุส เขามองต่างออกไป เขาเชื่อว่าคนจนที่ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง หาเช้ากินค่ำ จำเป็นต้องชำระเงินกู้อย่างเคร่งครัดเพื่อรับสิทธิการกู้ครั้งใหม่ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปในวันรุ่งขึ้น ยูนุส มองว่า การที่จะต้องมีชีวิตอยู่ในวันต่อไปนี่ล่ะ จะเป็นหลักค้ำประกันที่ดีที่สุด
หนังสือเรื่อง มูฮัมหมัด ยูนุส ธนาคารคนจน และรางวัลโนเบล ที่มีวิทยากร เชียงกูล เป็นผู้เรียบเรียง และมีสำนักพิมพ์สายธาร เป็นผู้จัดพิมพ์ ราคาหน้าปกเพียง 140 บาท ยังได้อธิบายให้เราเห็นว่า การแก้ปัญหาความยากไร้ไม่ใช่แค่การโยน หรือยัดเงินเข้าไปใส่กระเป๋าชาวบ้านอย่างเปล่าประโยชน์ แต่ต้องจัดการส่งเสริมการเรียนรู้ระเบียบวินัยการกู้ให้ชาวบ้าน เช่น การจัดกลุ่มตรวจสอบในหมู่ชาวบ้านกลุ่มละ 5 คน, หมู่บ้านละ 7-8 กลุ่ม ทุกกลุ่มต้องผ่านการอบรมวัตถุประสงค์โครงการ ต้องสอบวัดความรู้ วัดความตั้งใจ ต้องมีวินัยในการชำระเงินกู้ เพราะหากผิดชำระก็จะกระทบต่อสิทธิในการกู้ของเพื่อนบ้านรายอื่นเป็นลูกโซ่ ธนาคารกรามีนของที่นี่กำลังสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างธนาคารกับคนยากจน แทนที่จะผูกมัดระหว่างกันด้วยสัญญาที่เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว และกำลังสร้างสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้เกิดขึ้น จากระดับหมู่บ้านเป็นจังหวัด และประเทศ จนถึงวันนี้ธนาคารกรามีนได้กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก
นี่เป็นอีกตัวอย่างของความพยายามในการแก้ปัญหาความยากจน ที่บ้านเราเองก็พยายามจะทำกันมาหลายสิบปีแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ มีความแตกต่างอยู่หลายประการ ระหว่างกระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศและบ้านเรา อย่างน้อยผู้ลงมืออย่าง ศาสตราจารย์ยูนุสก็ผลักดันนโยบายที่ว่านี้บนพื้นฐานของการเป็นนักวิชาการที่มุ่งหวังเพียงแก้ปัญหาให้เพื่อนร่วมชาติที่อยู่ตรงหน้าเขา ซึ่งต่างจากบ้านเราที่นโยบายในรูปแบบนี้ ถูกนักการเมืองหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับซื้อเสียงล่วงหน้า ...ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง