xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ชงศก.สร้างสรรค์ พัฒนาSMEsเพื่อสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ผอ.สสว. ประกาศเร่งพัฒนา SMEs ภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ SMEs กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นเรื่องหลักประการหนึ่งในยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อการพัฒนา SMEs ในระยะใกล้และกลาง โดยจะระดมเครื่องมือสำคัญเข้าขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้นเวทีอภิปรายหัวข้อ“แนวคิดใหม่ในนโยบายส่งเสริม SMEs: กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อการเติบโต” อันเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศเรื่อง ยุทธศาสตร์ยุคหลังวิกฤตเพื่อการพัฒนา SMEs จุดประเด็นสำหรับผู้กำหนดนโยบาย หรือ Post-Crisis Strategies for SMEs Development: Emerging Issues for Policy Makers

โดยนายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนา SMEs ของไทย ซึ่งอิงอยู่บนนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม และแผนแม่บทการพัฒนา SMEs ฉบับที่ 2 นั้น จะประกอบด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ไปสู่ความยั่งยืน การสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก และการสนับสนุนความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ SMEs ในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ อาทิ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ อัญมณี ฯลฯ อีกทั้งกลุ่มบริการด้านโรงแรม ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ จะได้รับการส่งเสริมให้ยกระดับศักยภาพ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและรักษาพลังการเติบโตให้ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การสร้างเครือข่ายเพื่อรุกไปในตลาดนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่ง สสว.กำลังเร่งดำเนินการผ่านโครงการ SMEs Flying Geese

ในขณะที่ ยุทธศาสตร์การสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ภูมิภาค โดยเฉพาะ กลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจแนวสร้างสรรค์ (Creative Economy) รวมทั้งกลุ่มที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายที่ทางรัฐบาลเตรียมผลักดันและตั้งเป้าจะออกมาตรการสนับสนุน

“เมื่อตอนที่ท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวเปิดงาน Thailand SME Expo 2010 ท่านได้ประกาศแล้วว่า รัฐบาลของท่านกำลังเตรียมมาตรการส่งเสริม SMEs ในกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้อยู่รอดได้ แข่งขันได้ เพราะมองว่าจะได้เป็นกลไกสำคัญไปสนับสนุนในทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการแก้ปัญหาทางสังคมของประเทศ ในส่วนของสสว.เองก็ได้เริ่มดำเนินการในส่วนนี้เช่นกัน เรามีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว” ผอ.สสว.กล่าว

นอกจากนั้น นายยุทธศักดิ์ชี้ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมที่พัฒนาขึ้นมาจากการรวมตัวในชุมชน เช่น สหกรณ์ประเภทต่างๆ ก็ควรที่จะเร่งส่งเสริม เพราะนอกจากที่สมาชิกสหกรณ์สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังเป็นช่องทางการกระจายรายได้ตรงไปถึงเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งเป็นองคาพยพสำคัญในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ในการผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ของ สสว. ให้สามารถส่งเสริมให้ SMEs ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความเชื่อมั่นในการลงทุนกับธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสเกลระดับทั่วประเทศ ทั้งในกลุ่ม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว บรรดาผู้ประกอบการใหม่ และผู้ที่เตรียมจะมาเป็นผู้ประกอบการ

ส่วนทางด้านเครื่องมือส่งเสริม สสว.ได้สร้างระบบการส่งเสริมสนับสนุนไว้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การสนับสนุนทางการเงินโดยตรงด้วย Seed Fund และการประสานงานกับสถาบันการเงินของภาคร้ฐและเอกชนเพื่อให้มีระบบการสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ สสว.จะสร้างกลไกเพิ่มเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือทางการเงินของ SMEs โดยจะนำโมเดลของระบบมารุเคของญี่ปุ่นมาใช้

นอกจากนั้น ยังมีเครื่องมือสนับสนุนด้วยระบบบริการข้อมูลองค์ความรู้ ระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา และการสนับสนุนด้านการออกแบบ และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งระบบบ่มเพาะธุรกิจ

ในเวลาเดียวกัน ปัจจัยเอื้อที่สำคัญมากเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนเพื่อขยายในด้านการตลาดให้แก่ SMEs คือมาตรการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ

ผอ.สสว.ได้กล่าวเพิ่มเติมหลังเวทีการอภิปรายว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprises เป็นองค์กรธุรกิจที่ใช้ยุทธศาสตร์การตลาดไปสร้างคุณูปการแก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี วิสาหกิจแบบนี้ยังมุ่งสร้างผลกำไร เพียงแต่ไม่ได้มีอุดมการว่าจะต้องทำกำไรสูงสุด ดังนั้น วิสาหกิจเพื่อสังคมมักจะเลือกลงทุนประกอบการอยู่ในหมวดธุรกิจที่สร้างสรรค์สังคม อีกทั้งแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยที่เอื้อเฟื้อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกผู้ประกอบการเล็กๆ เช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในบังกลาเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น