เอเจนซี - คนยากจนครึ่งโลกเวลานี้ ได้อาศัยช่องทางกู้ยืมสินเชื่อรายย่อยแบบไม่ต้องมีหลักประกัน เพื่อมายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ อีกทั้งคนยากจนที่สุดกลับเป็นกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือสูงในเรื่องการชำระหนี้คืน ทั้งนี้ ตามรายงานการสำรวจที่นำมาเปิดเผยเมื่อวันจันทร์(26) อย่างไรก็ตาม พวกผู้เชี่ยวชาญ เตือนว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน อาจส่งผลชะลอการเติบโตในระดับสูงลิ่วเป็นสถิติใหม่ของการกู้ยืมประเภทนี้
“โครงการรณรงค์เพื่อสินเชื่อรายย่อย” (The Microcredit Summit Campaign) แถลงในกรุงลอนดอน ว่า จากการสำรวจของตน พบว่า ในปี 2007 มีคนยากจนที่สุดในโลกกว่า 106 ล้านคน ใช้ช่องทางการกู้ยืมเงินรายย่อยแบบไร้หลักประกันดังกล่าว ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถตั้งต้นและขยายกิจการของตนเองได้ ตัวเลขเช่นนี้ยังเท่ากับบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 1997 ซึ่งขณะนั้นมีคนยากจนเพียง 8 ล้านคน ที่อาศัยแหล่งกู้ยืมประเภทนี้
นอกจากนั้น หากใช้สมมติฐานว่าผู้กู้แต่ละคน ต้องดูแลครอบครัวที่มีสมาชิกสี่คนด้วยกัน นั่นก็หมายความว่า มีผู้คนราวครึ่งพันล้านคนได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยที่กลุ่มคนยากจนกลุ่มนี้ยังชีพอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น
“ไม่ว่าคุณจะเป็นขอทาน หรือเป็นโสเภณี แต่ถึงยังไงก็ยังมีหนทางหลุดพ้นจากความยากจนได้” อิงกริด มุนโร ผู้ก่อตั้งองค์กรปล่อยกู้รายย่อยในเคนยาชื่อ “จามี โบรา” กล่าวในระหว่างการแถลงรายงานการสำรวจดังกล่าว
จามี โบราก่อตั้งเมื่อปี 1999 โดยเริ่มต้นด้วยการปล่อยกู้ให้กับขอทาน 50 คน แต่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ถึง 200,000 ราย และองค์กรดังกล่าวยังได้ให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อก่อสร้างเมืองย่อมๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีบ้านเรือนราว 2,000 หลัง และพื้นที่ประกอบธุรกิจ 3,000 แห่ง
“เราเองก็ปล่อยกู้แก่พวกลูกค้าซับไพรม์เหมือนกัน แต่เราทำอย่างถูกวิธี” มุนโรบอก
อันที่จริง ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย (ไมโครเครดิต) ที่เป็นการให้กู้ยืมแบบไม่ต้องมีหลักประกันแก่คนยากจนนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 แล้ว แต่มาได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกรามีนซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับชาวบังกลาเทศยากจน และ มุฮัมมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2006
“ยังมีคนจนอีกมาที่เรายังเข้าไปช่วยเหลือไม่ถึง” ยูนุส กล่าว “แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรสามารถจะหยุดยั้งเราได้แล้ว”
ทั้งนี้ เป้าหมายใหม่ของโครงการ คือ การเข้าถึงคนยากจนให้ได้ 175 ล้านคน ภายในปี 2015 และยกระดับรายได้ของครอบครัวยากจนจำนวน 100 ล้านครอบครัว ให้สูงกว่าวันละ 1 ดอลลาร์
พวกผู้รณรงค์เพื่อโครงการสินเชื่อรายย่อย บอกว่า บรรดาผู้กู้ที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนั้น เคยเป็นกลุ่มที่ถือกันว่ามีความเสี่ยงสูง แต่กลับพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นกลุ่มที่เชื่อถือได้ในเรื่องการชำระหนี้ และเงินกู้เพียงไม่กี่ดอลลาร์ที่พวกเขาได้รับไปก็ยังงอกงามเป็นเงินก้อนโตขึ้นเสียอีก
“โครงการสินเชื่อรายย่อยเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดช่องทางหนึ่งในการช่วยให้คนยากจนมีหนทางหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างมีศักดิ์ศรี แถมอัตราการชำระคืนก็ดีเยี่ยมเสียจนธนาคารทั่วๆ ไปนึกอิจฉา” แซม ดาลีย์-แฮร์ริส ผู้อำนวยการโครงการ กล่าว
เขายังบอกด้วยว่า บรรดาผู้บริจาคต่างประเทศรายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ควรให้ความสำคัญกับไมโครเครดิต เพราะเป็นวิธีการช่วยเหลือคนยากจนที่สุดในโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็เกรงว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก อาจทำให้ธนาคารส่วนใหญ่ รวมทั้งพวกผู้คุมกฎระเบียบตกใจ หรือหวั่นวิตกจนธุรกิจธนาคารชะลอตัวลง และจะส่งผลกระทบถึงสถาบันที่ปล่อยกู้สำหรับคนยากจนด้วย ดังนั้น สถาบันเหล่านี้จึงต้องดูแลให้พื้นฐานธุรกิจของตนมีความเข้มแข็ง โดยวางแผนการเติบโตและเฝ้าจับตาเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้ดี