xs
xsm
sm
md
lg

ความยาว‘นิ้วมือ’บ่งชี้ฝีมือ‘เทรดเดอร์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ไฟแนนเชียลไทมส์ – เทรดเดอร์ด้านการเงินคนไหนที่มือข้างขวามีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้มากเท่าใด เขาก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการซื้อขายมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารกิจกรรมของบัณฑิตสถานทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (the Proceedings of the National Academy of Sciences) ของสหรัฐฯ ฉบับที่ออกเผยแพร่ในวันจันทร์(12)

การศึกษาวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ได้พบว่า อัตราส่วนความยาวระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วนาง หรือที่เรียกเป็นศัพท์ทางวิชาการว่า “2D:4D” สามารถที่จะใช้เป็นมาตรวัดว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของนิ้ว ระหว่างที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา มีโอกาสได้รับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน และฮอร์โอนเพศชายอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน โดยที่หากอัตราส่วนนี้ (ความยาวของนิ้วชี้หารด้วยความยาวของนิ้วนาง) ออกมาเป็นตัวเลขน้อยเพียงใด ก็แสดงว่าเขาได้รับฮอร์โมนระหว่างยังไม่คลอดออกมามากเท่านั้น ทั้งนี้ ฮอร์โมนเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาสมอง ในด้านเพิ่มความมั่นใจและลดระยะเวลาในการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้

จอห์น โคตส์ นักวิจัยที่เป็นหัวหน้าผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ บอกด้วยว่า ฮอร์โมนเพศชายเหล่านี้ช่วยเพิ่มการมีสมาธิและปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในเวลาทำการซื้อขายทางการเงินระดับไฮเอนด์

ในการศึกษาของพวกเขานั้น คณะวิจัยได้วัดนิ้วของเทรดเดอร์ชายจำนวน 44 คนในธนาคารแห่งหนึ่งของย่านซิตี้ออฟลอนดอน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่จำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และมีปฏิกิริยาทางกายภายอย่างฉับไว

จากนั้นก็เปรียบเทียบอัตราส่วน 2D:4D กับผลกำไรขาดทุนที่เทรดเดอร์เหล่านี้แต่ละคนทำได้ในช่วง 20 เดือนย้อนหลัง แล้วได้ผลสรุปออกมาว่า อัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำลงเท่าใด (ซึ่งคือนิ้วนางยิ่งยาวกว่านิ้วชี้มากเท่าใด) ก็บ่งชี้ให้เห็นว่า บุคคลผู้นั้นจะมีอัตรากำไรในระยะยาวที่สูงกว่า และทำอาชีพในธุรกิจนี้ยาวนานกว่าบุคคลผู้มีอัตราส่วนนี้เป็นตัวเลขสูง

ดร.โคตส์ ซึ่งเคยเป็นเทรดเดอร์ให้กับดอยช์แบงก์ ก่อนหันมาเอาดีทางวิชาการ กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้คงจะไม่ทำให้พวกแบงก์และสถาบันการเงินในวอลล์สตรีทและซิตี้ออฟลอนดอน ชี้ขาดการจ้างพนักงานโดยใช้ “เครื่องหมายทางชีวภาพ” อย่างเช่น อัตราส่วนของนิ้ว โดยเขาเตือนว่า จำนวนตัวอย่างที่พวกเขาใช้ในการวิจัยคราวนี้ แม้ถือว่าให้ผลสรุปโดยเฉลี่ยได้ แต่หากนำไปประยุกต์ใช้กับแต่ละบุคคลแล้ว ผลลัพธ์ก็ยังจะไม่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น