xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นกนง.ลดดบ.0.50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คาดคณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในการประชุมวันนี้ นายแบงก์-คลัง-สภาอุตฯ อยากเห็นหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุอาจลดมากกว่า 0.5% เหตุ กนง.ให้ความสำคัญกับการพลิกจีดีพีที่มีแนวโน้มติดลบให้กลายเป็นบวก ส่วนค่าบาทแข็งค่ารอลุ้นผลเป็นทางการ

นายรอยย์ กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ น่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงประมาณ 0.50% ส่วนของธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับลงตามหรือไม่คงจะต้องรอดูทิศทางของธนาคารขนาดใหญ่

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้ความเห็นว่า หลังจากที่รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว หลังจากนี้เชื่อว่าจะได้เห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับภาคเอกชนนายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุม กนง.ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เชื่อว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราปัจจุบันที่ 2.75% ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่มีปัญหาสภาพคล่อง และคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เป็นการกระตุ้นการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในวันที่ 14 มกราคม 2552 ที่ กนง.จะมีการประชุมรอบแรกของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงินนั้น คาดว่า กนง.อาจมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.50 มาที่ร้อยละ 2.25 หรืออาจจะต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กนง. จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับร้อยละ 2.27 เนื่องจาก กนง.น่าจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ต่อเนื่องถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 หรือกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ

โดยปัจจัยภายนอกมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจหลักทั้งสาม คือ สหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น อาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552 และยังคงมีความเป็นไปได้ที่สำนักต่างๆ จะมีการทบทวนปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ลงอีกในระยะข้างหน้า ธนาคารกลางของนานาประเทศจึงได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกเหนือไปจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล และแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ยังคงถูกคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกในปี 2552 นี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลดลงมาในกรอบร้อยละ 0.00-0.25 ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าเฟดคงจะยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำนี้ต่อไปตลอดปีนี้

ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาลงทั่วโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักดังกล่าว คงจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปี 2552 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่า การส่งออกของไทยอาจมีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้ เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 17.2 ในปี 2551

นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองและความเชื่อมั่นที่ถดถอย จะยังคงกดดันการใช้จ่ายในประเทศ แม้ว่าความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศอาจเริ่มผ่อนคลายลงบ้างหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงการที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าที่การดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนปรนผ่านการพิจารณางบประมาณกลางปีงบประมาณ 2552 จำนวน 1 แสนล้านบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาล จะเห็นผลเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นก็คงจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปีมากกว่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการใช้จ่ายในประเทศ จึงอาจยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องต่อไปอีกอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นี้

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2551 ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (YoY) ต่ำที่สุดในรอบ 76 เดือน และเทียบกับที่เคยขึ้นไปสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคมก่อนหน้านั้น ประกอบกับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าอาจยังชะลอตัวลงต่อเนื่องและมีค่าติดลบในบางเดือนของปีนี้ ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลงชัดเจนนี้ น่าจะเอื้อให้ กนง.มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากหากจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักมากขึ้นชัดเจน

ทั้งนี้ ในทิศทางที่สอดคล้องกับทางการทั่วโลก การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากทางการไทย คงจะถูกฝากความหวังว่าจะสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะที่ซบเซาไปได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเครดิตและความกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจที่ยังคงมีอยู่ ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาล ยังคงเป็นประเด็นที่อาจทำให้กลไกการส่งผ่านและประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ทุกภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ

เงินบาทปิดตลาด 34.98 ลุ้นผล กนง.

นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ (13 ม.ค.) ที่ระดับ 34.92/98 บาท/ดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่อยู่ระดับ 34.98/99 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวตามภูมิภาคแต่อยู่ในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากตลาดมีปริมาณการซื้อขายเบาบาง นักลงทุนยังคงรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันนี้ ที่คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยต่างประเทศรอผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

"หากพรุ่งนี้ กนง.ลดดอกเบี้ยอีกก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ ซึ่งมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังจึงจะกลับมาแข็งค่า" นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น