xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง น้ำมัน-เงินเฟ้อตัวแปรอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถ้าภาวะราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น นโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ จะเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเงินฝืด อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ของปีนี้ หรือไตรมาสแรกของปีหน้า”

ว่ากันถึงเรื่องเศรษฐกิจ เชื่อว่าหลายคนคงบุ้ยหน้าทำตาหยี เพราะกระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นไปในแง่ลบเสียส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทราบกันทั่วไปคือ เรื่องของราคาน้ำมัน และปัญหาซับไพรม์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนักวิชาการมองว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยได้หากสถานการณ์ดังกล่าวยังยืดเยื้อต่อไป

เป็นที่น่าติดตามว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 ภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรบ้างสำหรับ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) พรีมาเวสท์ คาดการณ์ว่า ปัญหาซับไพรม์จะยังคงมีปัญหาที่ต้องกังวลอยู่ตลอดปีนี้ และต้องดูไตรมาสแรกของปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดยถ้าภาวะราคาน้ำมันมีเสถียรภาพและปรับลดราคาลง จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และต้นทุนการผลิตการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ จะเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเงินฝืด ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยธนาคารกลางลง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดในไตรมาส 4 ของปีนี้ หรือไตรมาสแรกของปีหน้า
ทั้งนี้ เนื่องจาก ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ประกาศอัตราการเติบโตเศรษฐกิจลดต่ำกว่าเป้าหมาย เริ่มด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาเองที่ประกาศ GDP ในไตรมาสสองซึ่งมีอัตราการเติบโตเพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ และดัชนีบริโภคเพิ่มเพียง 1.5% ขณะที่แนวโน้มของ Initialo Jobless Claim มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัญหา ซับไพรม์ก็ยังส่งผลกระทบเป็นระยะ ทำให้ผู้ว่าธนาคารสหรัฐส่งสัญญาณของความกังวลใจต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะถดทอยทางเศรษฐกิจ ขณะที่ต้องต่อสู้กับแรงกดดันของเงินเฟ้อ

นอจจากนี้ นักวิเคราะห์ส่วนมากยังคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบรอคอย และรอดูสถานการณ์ ซึ่งถ้าภาวะราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีแนวโน้มลดลงอันส่งสัญญาณของการลดลงของภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางอาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 หรือไตรมาสแรกของปีหน้าอีกครั้ง เพื่อชดเชยกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หายไป และยังช่วยเรื่องซับไพรม์อีกด้วย

ยุโรปลดดอกเบี้ย ECB

ด้าน ธนาคารกลางยุโรปเองก็กำลังประสบปัญหาการดำรงนโยบายหลักในการสร้างเสถียรภาพทางการเงินเช่นกัน เพราะขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างต่อเนื่องและมีสัญญาณของภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อของ 15 ชาติที่ปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 16 ปี อย่างไรก็ตามปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ ECB อยู่ประมาณ 4.25% ต่อปี ซึ่งถ้าภาวะแรงกดดันของราคาน้ำมันลดลงเมื่อไร และสัญญาณเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ECB น่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงในไตรมาสที่ 4 หรือไตรมาสแรกของปีหน้า

แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทย

บลจ.พรีมาเวสท์ คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะชะลอตัว โดยความผันผวนของราคาน้ำมันจะยังคงกดดันต่อต้นทุนการผลิต และการปรับเพิ่มดอกเบี้ย ทั้งหมดเป็นเหตุให้ในช่วงครึ่งปีหลังราคาสินค้าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นหรือค่าครองชีพจะปรับสูงเพิ่มขั้น ขณะที่กำลังผู้บริโภคในการจับจ่ายสินค้าลดลง

ดังนั้น ภาวะเช่นนี้ถ้าราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสสุดท้าย แต่สิ่งที่เป็นกังวลคืออาจจะมีสัญญาณในไตรมาสดังกล่าว ที่แสดงถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดในปีหน้าหรือไม่

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยสาเหตุใหญ่มาจากเงินเฟ้อในระดับสูง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการขาดความมั่นใจของผู้บริโภค และการขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน

โดยการขยายตัวเศรษฐกิจครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.9% ส่วนไตรมาสที่สองและไตรมาสหนึ่งมีการขยายตัวในระดับใกล้เคียงกัน โดยรายได้ภาคการเกษตร และการส่งออกขยายตัวในครึ่งปีแรก 24.7%

ขณะที่การนำเข้าไตรมาสสองขยายตัวลดลงทำให้ในครึ่งปีแรกการนำเข้าขยายตัวเพียง 32% ดุลการค้าในไตรมาสสอง กลับมาเกินดุลที่ 425 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา เทียบกับไตรมาสแรกที่ขาดดุล 109 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในทางกลับกันบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 ขาดดุล 308 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ที่เคยเกินดุล 3,068 ล้านเหรียญดอลลาร์สรัฐ
ส่วนการขาดดุลในบัญชีเดินสะพัดครั้งนี้เกิดจาการขาดดุลในบัญชีดุลบริการ 700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ถึงแม้ภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 15%) ในส่วนของดัชนีการลงทุนและดัชนีบริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 4% และ 6.5% ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มแล้วก็ยังคงสัญญาณการชะลอตัวลง
กำลังโหลดความคิดเห็น