ASTV ผู้จัดการรายวัน- บล.เอเซีย พลัส ประเมินตลาดหุ้นไทยปีฉลูไม่โต มูลค่าการซื้อขายเฉลียใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท ระบุปีนี้จะเริ่มเห็นบริษัทโบรกเกอร์ขนาดเล็กควบรวมกิจการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มหวนคืนตลาดหุ้นไทยปลายไตรมาส 2/52
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ในปี 2552 ธุรกิจหลักทรัพย์มีแนวโน้มน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 52 ที่คาดการณ์จะปรับตัวจากปีที่ผ่านมา หลังจากปี 51 ธุรกิจหลักทรัพย์ได้ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะใกล้เคียงกับปี 51 ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยนต่อวันประมาณ 16,000 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ต่ำกว่า 2% จะดำเนินธุรกิจได้ลำบากกว่าบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นบล.ขนาดเล็กจะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งและรุกธุรกิจที่บริษัทมีความชำนาญ และหารายได้อื่นๆ เข้ามาเสริม และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
สำหรับแนวโน้มการควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ (M&A) นั้น นายก้องเกียรติ กล่าวว่า ในปีนี้น่าจะมีการควบรวมกิจการของบริษัทที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้เริ่มที่จะมีการเจรจาบ้างแล้ว แต่จะสามารถดำเนินการได้เรียบร้อยหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย
“ปี 51 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างแรง แต่ธุรกิจหลักทรัพย์ยังสามารถอยู่ได้ และในปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมาที่เป็นปีที่แย่ที่สุดในรอบหลายๆ ปี แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ดี แต่มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้”
นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ บล.เอเซียพลัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเมินมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยไว้ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะกดดันให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนของไทยปรับตัวลดลงประมาณ 8%
“ภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้อต่อการลงทุน บวกกับนักลงทุนหันมาส่งคำสั่งซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) อยู่ที่ 0.15% ต่ำกว่าการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) จะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และผลการดำเนินงานของโบรกเกอร์ด้วย”
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ดีจากวอลุ่มตลาดที่ลดลงหรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และยังคงได้รับผลเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) โดยบล.ที่มีมาร์เกตแชร์ต่ำ กว่า 1% จะอยู่รอดลำบาก นอกจากจะมีธนาคารพาณิชย์สนับสนุนเงินทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น เช่น บล.เคทีบี และบล.ซีมิโก้ ที่มีการทำควบรวม และจะเห็นการปิดสาขาของโบรกเกอร์มากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงานลดลง
สำหรับการที่นักลงทุนต่างชาติมีการชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากที่มีการขายหุ้นออกไปเพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินนั้น ทำให้โบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักลงทุนต่างชาติได้รับผลกระทบ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกนักลงทุนจะยังไม่กลับเข้ามาลงทุน แต่คาดว่าจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2/52
“ผลประกอบการของบล.ยังคงไม่ดี จากที่ยังได้รับผลขาดทุนจากการปล่อยมาร์จิ้นอยู่และวอลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงและทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าคอมมิชชันต่ำลงจากนักลงทุนหันมาเทรดผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากมีค่าคอมมิชชั่นที่ต่ำกว่าเทรดผ่านมาร์เกตติ้ง ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีการหารายได้อื่นเข้ามาเสริม และมีการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น” นางภรณี กล่าว
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ในปี 2552 ธุรกิจหลักทรัพย์มีแนวโน้มน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 52 ที่คาดการณ์จะปรับตัวจากปีที่ผ่านมา หลังจากปี 51 ธุรกิจหลักทรัพย์ได้ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะใกล้เคียงกับปี 51 ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยนต่อวันประมาณ 16,000 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ต่ำกว่า 2% จะดำเนินธุรกิจได้ลำบากกว่าบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นบล.ขนาดเล็กจะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งและรุกธุรกิจที่บริษัทมีความชำนาญ และหารายได้อื่นๆ เข้ามาเสริม และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
สำหรับแนวโน้มการควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ (M&A) นั้น นายก้องเกียรติ กล่าวว่า ในปีนี้น่าจะมีการควบรวมกิจการของบริษัทที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้เริ่มที่จะมีการเจรจาบ้างแล้ว แต่จะสามารถดำเนินการได้เรียบร้อยหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย
“ปี 51 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างแรง แต่ธุรกิจหลักทรัพย์ยังสามารถอยู่ได้ และในปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมาที่เป็นปีที่แย่ที่สุดในรอบหลายๆ ปี แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ดี แต่มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้”
นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ บล.เอเซียพลัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเมินมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยไว้ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะกดดันให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนของไทยปรับตัวลดลงประมาณ 8%
“ภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้อต่อการลงทุน บวกกับนักลงทุนหันมาส่งคำสั่งซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) อยู่ที่ 0.15% ต่ำกว่าการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) จะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์และผลการดำเนินงานของโบรกเกอร์ด้วย”
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ดีจากวอลุ่มตลาดที่ลดลงหรือใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และยังคงได้รับผลเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) โดยบล.ที่มีมาร์เกตแชร์ต่ำ กว่า 1% จะอยู่รอดลำบาก นอกจากจะมีธนาคารพาณิชย์สนับสนุนเงินทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น เช่น บล.เคทีบี และบล.ซีมิโก้ ที่มีการทำควบรวม และจะเห็นการปิดสาขาของโบรกเกอร์มากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงานลดลง
สำหรับการที่นักลงทุนต่างชาติมีการชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากที่มีการขายหุ้นออกไปเพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินนั้น ทำให้โบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักลงทุนต่างชาติได้รับผลกระทบ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกนักลงทุนจะยังไม่กลับเข้ามาลงทุน แต่คาดว่าจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2/52
“ผลประกอบการของบล.ยังคงไม่ดี จากที่ยังได้รับผลขาดทุนจากการปล่อยมาร์จิ้นอยู่และวอลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงและทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าคอมมิชชันต่ำลงจากนักลงทุนหันมาเทรดผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากมีค่าคอมมิชชั่นที่ต่ำกว่าเทรดผ่านมาร์เกตติ้ง ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีการหารายได้อื่นเข้ามาเสริม และมีการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น” นางภรณี กล่าว