xs
xsm
sm
md
lg

เสื้อแดงพ่ายหมดรูป แก๊งหัวขวดส่อละเมิดคำสั่งศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แก๊งเสื้อแดงเสียท่า ปิดล้อมรัฐสภา ขณะที่"อภิสิทธิ์"ย้ายไปแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ห่วงถูกตีความย้ายที่ประชุมสภา ย้ำภารกิจเร่งด่วน 4 ข้อ กระตุ้นศก. เพิ่มรายได้ประชาชน รับมือปัญหาเลิกจ้างงาน ลดค่าครองชีพ ด้าน"แก๊งหัวขวด" ส่อฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ให้ประกันตัวจากคดีบุกบ้าน"ป๋าเปรม" แถมถูกแจ้งจับคดีหมิ่นในหลวง กรณีนำพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นฉากเวที และมีข้อความ"อภิสิทธิ์ชน โจร"

หลังจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. เพื่อขัดขวางการแถลงนโยบายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภา จนนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ต้องสั่งเลื่อนการประชุมมาเป็นวันที่ 30 ธ.ค. ซึ่งเมื่อเช้าวานนี้ (30 ธ.ค. ) กลุ่มนปช. ก็ยังคงชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาอยู่ โดยมีการตั้งเวที ทั้งบริเวณประตูหน้าอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน และเวทีหน้าประตูปราสาทเทวฤทธิ์ บริเวณแยกพิชัย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะผลักดันผู้ชุมนุมออกจากบริเวณดังกล่าว เพื่อเปิดเส้นทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้ามาร่วมประชุมอยู่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มนปช. ได้ตะโกนผ่านเครื่องกระจายเสียง เรียกผู้ชุมนุมให้มารวมตัวกันให้มากที่สุด เพื่อกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดประตูได้ ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. ก็แจ้งบนเวทีว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะใช้รถตู้ขนผู้ต้องหาของตำรวจ นำส.ส.เข้าไปประชุม

**แถลงนโยบายที่ ก.ต่างประเทศ

สำหรับความเคลื่อนไหวในซีกรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มทะยอยเดินทางมารวมตัว ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ภายในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ 05.30 น. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงที่ทำการพรรค เวลา 06.00 น. เพื่อประเมินสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมที่จะเดินทางเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ต่อมาเมื่อเวลา 06.50 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรี และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ทยอยเดินลงจากห้องประชุม เพื่อเตรียมไปขึ้นรถตู้ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำนวน 14 คัน กระทั่งเวลา 08.25 น. ขบวนรถจึงได้เคลื่อนออกจากที่ทำการพรรคไปยังสโมสรทหารบก เทเวศร์ และแวะพักภายในห้องอาหาร เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุม ต่อมาเวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้เดินทางมาสมทบ และหารือกับนายกรัฐมนตรี

เวลา 09.20 น. คณะของนายกรัฐมนตรี ขึ้นรถเตรียมเดินทางออกจากสโมสรทหารบก โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวสั้นๆว่า "ไปแถลง" ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "เดี๋ยวก็รู้" จากนั้น ขบวนรถได้วิ่งผ่านลานพระรูปทรงม้า มุ่งหน้าตรงไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และที่กระทรวงต่างประเทศก็มีรัฐมนตรี และส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล มาคอยอยู่แล้ว และมีการจัดห้องวิเทศสโมสร เป็นสถานที่การประชุมของคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหารืออีกครั้งก่อนที่จะมีแถลงนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็เดินทางมาโดยรถตู้ซึ่ง สตช.ได้ส่งไปรับจากสถานที่ที่แต่ละพรรคใช้รวมตัวกัน เช่น ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส และกระทรวงอุตสาหกรรม ส.ส.พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา จากโรงแรมแห่งหนึ่งกลางกทม. ส่วนส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา จากที่ทำการอดีตพรรคชาติไทย และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ซึ่งไปรวมตัวกันที่อาคารสุขประพฤติ

**แถลงนอกสภาเพราะเหตุสุดวิสัย

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลแสดงเจตนาชัดเจนว่า จะเข้าไปแถลงนโยบายภายในรัฐสภา แต่เนื่องจากมีการขัดขวางไม่ให้มีการประชุมในรัฐสภา ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องสุดวิสัย ที่ไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้ จึงมีการหารือถึงการเปลี่ยนแปลงสถานที่มาเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศ และได้แจ้งไปยังสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดแล้ว โดยได้ดูข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้รับการยืนยันจากรัฐสภาแล้วว่า สามารถทำได้ ส่วนส.ส.ฝ่ายค้านจะมาร่วมประชุมหรือไม่นั้น เป็นสิทธิ์ของเขาตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ต้องการใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้ชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรักษาความปลอดภัยรอบรกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการจัดกำลังตำรวจ 25 กองร้อย และรถคุมผู้ต้องหาจาก สตช.จำนวนหนี่งมาจอดรถอยู่ภายในกระทรวงฯ ด้วย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ข้าราชการ และลูกจ้างทั้งหมดลาหยุดครึ่งวัน และให้เดินทางออกจากกระทรวงฯ ทันที

กระทั่งเวลา 11.10 น. การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงเริ่มขึ้น ที่ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงต่างประเทศ โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาได้นั่งบนบัลลังก์ที่จัดไว้บนเวทีห้องประชุม เพื่อทำการเปิดประชุม โดยมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมด้วย ส.ว.บางส่วน แต่ไม่มีส.ส.ฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมเลยสักคน

นายชัย ได้กล่าวเปิดประชุมว่า ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมประชุมสภาครบองค์ประชุมแล้ว 310 คน และเนื่องจากมีเหตุการณ์หลายอย่าง ซึ่งทุกคนก็ทราบดี จึงขออนุมัติให้ที่ประชุมรัฐสภาย้ายสถานที่การประชุม เนื่องจากรัฐสภาถูกปิดล้อม ไม่สามารถจะเข้าไปได้ จึงขออนุมัติที่ประชุมรัฐสภาให้ย้ายมาประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ

จากนั้น นายชัย ได้ขอมติที่ประชุม ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดยกมือคัดค้าน จากนั้นนายชัย ได้อ่านพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี และพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี

**นโยบายเร่งด่วน 4 ข้อ

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นแถลงนโยบายรัฐบาลทั้ง 36 หน้า ว่า เนื่องจากสังคมไทยมีความขัดแย้ง และทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้การพัฒนาบ้านเมืองมีผลกระทบไม่สามารถพัฒนาไปได้ และโดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก แม้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงก็ตาม แต่ความเสียหายได้กระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการลงทุน ท่องเที่ยว ซึ่งมีผลกระทบต่อความยากจน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี คือ

1.การพัฒนาความเชื่อมั่น และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยการเสริมสร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีของคนในชาติ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย จัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดแดนภาคใต้ พร้อมทั้งกำหนดเป็นเขตพัฒนาพิเศษ

2.การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน เน้นความร่วมมือของภาคเอกชน ในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้าง และป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้าง ในภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ เล็กและย่อม ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า

3.การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ให้ทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาฟรี 15 ปี โดยสนับสนุนตำราฟรี ชุดนักเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา 2552 ทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อชดเชยรายการต่าง ๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง

4. ตั้งคณะกรรมการ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเร่งรัดติดตามแก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการ โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว ( อ่านรายละเอียดนโยบายรัฐบาล หน้า 20)

หลังจากนายอภิสิทธิ์ แถลงนโยบายเสร็จโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายชัย ได้แจ้งว่ามีผู้ขออภิปรายนโยบายรัฐบาล 3 คน คือ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.

**ขอให้นำพาประเทศชาติสู่ชัยชนะ

โดยนายตวง อภิปรายว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้แตกต่างกับรัฐบาลที่ผ่านมา แต่รัฐบาลนี้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันมากกว่า แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ คือในเรื่องของความเชื่อมั่น และต้องอดทนเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้จะละเลยในเรื่องของการปกป้องเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงวาทะกรรม แต่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ เรามีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่กลับละเลยและไม่สามารถทำได้จริง

นายตวง กล่าวว่า รัฐบาลนี้ต้องสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในประเทศให้ได้ และร่วมกันกอบกู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นลดความขัดแย้ง อย่างเช่น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ไม่ให้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และรัฐบาลต้องไม่สร้างความขัดแย้ง หรือตอบโต้ทางการเมืองแต่ต้องมุ่งทำงานให้รัฐบาล

"อย่ามองว่าคนที่ออกมาต่อต้านเป็นศัตรู แต่ให้คิดว่าคนที่ออกมานั้นเป็นความงดงามทางประชาธิปไตย เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตย และต้องดำเนินการทางกฎหมายกับทุกกลุ่มไม่ใช่ละเว้นเพื่อร่วมกันสร้างความปรองดองในชาติ และกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างชาติ วันนี้สังคมได้รับความบอบช้ำพอสมควร เราละเลย เพิกเฉยต่อรัฐบาลดังนั้นเราต้องการนโยบายที่เป็นรูปธรรม ความห่วงใยของวุฒิสภาในบ้านเมืองวิกฤตเช่นนี้ อยากบอกว่าเห็นด้วยสิ่งที่ท่านประกาศว่าไม่กลัวเสียหน้า แต่ไม่ต้องการให้ประเทศเสียหายนั้น เราอยากให้นายกฯ ดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน แม้มีการต่อสู้เพื่อเอาชัยชนะกับทุกฝ่าย แต่ขอให้นายกฯนำพาประเทศไปสู่ชัยชนะให้ได้" นายตวงกล่าว

**แนะแก้ไขรธน.ให้ดีขึ้น

พล.อ.เลิศรัตน์ อภิปรายแนะให้รัฐบาลควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เป็นการช่วยให้คนติดคุกติดตะราง หรือช่วยคนในบ้าน 111 เท่านั้น แต่เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญในมาตราที่มีปัญหาเท่านั้น และขอฝากให้ดูแลแก้ปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังอย่างกฎหมายที่จัดการกับนักการเมือง ที่ขณะนี้ไม่สามารถจัดการได้

**ปลุกสำนึกนักการเมืองต้องไม่โกง

ด้านนางสาวรสนา อภิปรายว่า รัฐบาลต้องยุติการเมืองที่ล้มเหลวเนื่องการการบริหารบ้านเมืองอย่างไม่มีธรรมาภิบาล การกำหนดนโยบาย ปลุกจิตสำนึก "คนไทยไม่โกง"นั้น ไม่เพียงพอ เพราะจะต้องปลุกจิตสำนึก"นักการเมืองไม่โกง"ด้วย เพราะ ปัญหาการเมืองล้มเหลวเป็นเพราะนักการเมืองโกง หากนักการเมืองอดทน อดกลั้นและทนอด บ้านเมืองเราไม่ล้มเหลว แต่ที่บ้านเมืองล้มเหลวเพราะเราไม่ทนอด บ้านเมืองเราต้องการการเมืองที่สะอาดที่มีธรรมาภิบาล ที่นักการเมืองไม่โกง

" การแถลงนโยบายท่านยังไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีโอกาสในการตรวจสอบรัฐบาลได้มากขึ้นอย่างไร การเมืองที่ล้มเหลวมาจากภายในระบบตรวจสอบไม่ได้ จึงทำให้เกิดรัฐประหาร ดังนั้นจะต้องทำการเมืองให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องสร้างการเมืองที่สะอาด และการเมืองล้มเหลวเพราะไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ดังนั้นท่านต้องทำให้หน่วยงานของรัฐดูแลประชาชน ไม่ปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ข่มเหงธุรกิจเล็กๆ ไม่แย่งทรัพยากรของเขา และประกาศคนจนเป็นวาระแห่งชาติให้เขาลืมตาอ้าปากได้" น.ส.รสนากล่าว

**มาร์คไม่สนใครว่าประชานิยม

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่มาร่วมฟังนโยบายรัฐบาลพร้อมทั้งชี้แจงว่า การจัดทำนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันมีโจทย์เป็นตัวตั้ง ที่รัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เหมือนกับว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่แตกต่างกับรัฐบาลอื่น

ส่วนที่มีการพูดกันว่านโยบายรัฐบาลนี้เป็นนโยบายประชานิยมนั้น เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอย ดังนั้นสิ่งที่ประเทศทั่วโลกต้องทำคือ การเอาเงินใส่กระเป๋าประชาชน ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องถกเถียงว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ และการเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้นก็ไม่จำเป็นที่ต้องโละนโยบายที่ดีของรัฐบาลเดิม ซึ่งนโยบายเร่งด่วน 6 เดือนของรัฐบาลเดิม ก็ต้องดำเนินการต่อไป เพื่อลดภาระประชาชน ยกเว้นเรื่องราคาน้ำมันที่มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องค่าน้ำค่าไฟนั้น ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆตามมา

ส่วนเรื่องความปรองดองนั้น รัฐบาลนี้เน้นการใช้ความยุติธรรมเป็นหลัก ส่วนแรกในเรื่องความยุติธรรมในคดีความต่างๆ ที่ค้างคามานั้น เรื่องเหล่านี้รัฐบาลเห็นว่าไม่ควรนำมาบรรจุเป็นนโยบาย แต่ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม เรามีแนวความคิดว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็สามารถช่วยเหลือได้ และหากทำไมได้ก็อาจต้องมีการตั้งองค์กรพิเศษเพื่อให้ดำเนินการ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลนี้ไม่ได้พูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวว่าจะเกิดการเข้าใจผิด ซึ่งทุกคนต้องการการปฏิรูปการเมือง ต้องการการเมืองใหม่ แต่ที่รัฐบาลนี้ไม่เขียนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเป้าหมายสุดท้าย และเชื่อว่าหากเราเขียนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะเป็นการจุดสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลนี้จะมีการตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมา ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือ และจะเชิญชวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่มีความขัดแย้งน้อยที่สุด

นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงอีกว่า รัฐบาลชุดนี้มาโดยระบอบประชาธิปไตย เพราะเมื่อมีปัญหาขึ้นมาโดยพรรคการเมืองหนึ่งที่จัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ควรให้อีกพรรคหนึ่งมาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและตนมาด้วยเสียงจากเสียงข้างมากในสภาให้เป็นนายกฯแต่ตนเข้าใจคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างดี และคนที่มาชุมนุมที่รัฐสภาและที่แห่งนี้ด้วย ซึ่งตนพร้อมเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

"หากกังวลว่าการสลับขั้วมีการเลือกปฏิบัตินั้น ผมขอยืนยันรัฐบาลนี้ไม่ทำอย่างนั้น และให้ความมั่นใจว่า ท่านจะได้รับความเป็นธรรม และบอกว่ากลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวไม่ถูกต้องก็ต้องย้อนไปเรื่องยุติธรรมและผมไม่ต้องการให้รัฐบาลเลือกข้างเลือกขั้ว ผมบอกตลอดว่า คนเป็นนายกฯต้องเป็นนายกฯของคนทั้งประเทศ สิ่งที่บางฝ่ายเกรงกลัวเพราะมีการไปแบ่งในสังคมว่ามีกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแทนคนกทม.และภาคใต้ มีกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแทนคนภาคเหนือหรืออีสาน แต่ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้ไม่เป็นตัวแทนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่รับใช้คนทั้งประเทศ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและปัญหาทางการเมือง ตนมีนโยบายชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองเหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย ส่วนเรื่องการใช้สื่อของรัฐ หากรัฐบาลมีรายการพบประชาชน ก็จะต้องมีการให้เวลากับฝ่ายค้านด้วย และรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในเรื่องการตอบกระทู้ถามสด เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ให้การเมืองออกมานอกถนน

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ทุ่มเทและรับผิดชอบต่อรัฐสภา แม้การประชุมครั้งนี้จะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่ตนพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติได้ และนำพาประเทศชาติไปสู่ชัยชนะให้กับคนไทยทุกคนให้ได้

จากนั้นนายชัย ได้รายงานว่าการประชุมครั้งนี้ มีส.ว.เข้าร่วมการประชุม 103 คน ส.ส. 227 คนรวมทั้งหมด 330 คน ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งถึง 42 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่สมบูรณ์แบบ และได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ร่วมประชุมทุกคน ส่วนคนไม่มาก็ไม่เป็นไร รวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศทุกคนที่มาร่วมจัดสถานที่ประชุมรัฐสภาให้ พร้อมทั้งได้อวยพรปีใหม่ว่า ขอให้ทุกคนมีความสุข และขอให้ควบคุมรัฐบาลชุดนี้ให้ดำเนินการให้ดี จากนั้นได้ปิดประชุมเมื่อเวลา 13.20 น.

**แก๊งเสื้อแดงไร้น้ำยา อ้างชนะแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่มีการปิดประชุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า ขอให้ส.ว.ขึ้นรถเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ให้รอก่อน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐสภาจะดูแลเรื่องความเรียบร้อย และหากพร้อมก็จะพาออกทันที

จากนั้นสมาชิกทั้งหมดได้ทยอยกันขึ้นรถตู้ตำรวจต่อขบวนกว่า 20 คัน เพื่อรอที่จะออกไปจากกระทรวงต่างประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มเรียกแถว 2 กองร้อย และเปิดประตูฝั่งถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามกับกรมทางหลวง เพื่อจะผลักดันกลุ่มม็อบนปช. ที่ปิดล้อมประตูทางเข้าออก ปรากฏว่ากลุ่มม็อบที่นำโดยนายสุพร อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร 111 คน ได้เคลื่อนขบวนรถ 6 ล้อนำกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 600 คน ที่ปิดถนนบริเวณถนน พระราม 6 มาสมทบกันที่ถนนศรีอยุธยา พร้อมกล่าวกระตุ้นเคลื่อนพลมาปิดล้อมประตูดังกล่าว และให้คนนั่งรถ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมฟัง กลับดันรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขวางไว้ พร้อมกับมีการขว้างขวดน้ำ ตะโกนด่าด้วยคำหยาบคาย พร้อมกับดันแนวตำรวจเข้ามาภายในประตู โดยมีการผลักดันกันอยู่ประมาณ 10 นาที ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยอมถอยกลับเข้ามาภายในกระทรวงพร้อมกับปิดประตูรั้ว ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนโห่ร้องด้วยความสะใจ

ต่อมาได้มีการเรียกแถว สห. จากมทบ.11 จำนวน 1 กองร้อย หน่วยอรินทราช 1 กองร้อย เพื่อเตรียมจะผลักดันออกไปใหม่ ปรากฏว่า นายสุพร ซึ่งเป็นแกนนำบนเวทีได้ประกาศว่า เราได้รับชัยชนะแล้ว เพราะรัฐบาลชุดนี้ไร้ความชอบธรรมหลายเรื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่แถลงนโยบาย การเรียกประชุมโดยไม่มีส.ส. 198 คนเข้าร่วม ก็ถือว่าผิดกฏหมาย และเตรียมจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความถือว่า เราได้รับชัยชนะแล้ว ขอให้กลับไปชุมนุมต่อที่หน้ารัฐสภา ท่ามกลางความงุนงงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เตรียมตั้งแถวจะออกไปผลักดันเพื่อเปิดทาง

จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเปิดประตูบริเวณหน้ากระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้ขบวนรถตู้ทั้งหมดได้ออกไป โดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น

**เพื่อไทย ออกหนังสือประณาม

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วยนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่า ที่ประชุมพรรคมีมติ 3 ข้อ คือ 1. มอบให้นายประเกียรติ และคณะทำหนังสือประณามการแถลงนโยบายของรัฐสภา เพราะขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ไม่มีในประเพณีปฏิบัติในการประชุมรัฐสภาตั้งแต่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยจะมอบให้องค์กรรัฐสภานานาชาติรับทราบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

2.พรรคจะจัดอภิปรายนโยบายรัฐบาลในชื่อว่า พรรคเพื่อไทยอภิปรายนอกสภา เพื่อวิเคราะห์นโยบายรัฐบาล ในวันที่ 5 ม.ค.52 เวลา 09.30น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์

3.จะมีมาตรการตอบโต้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา โดยจะไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของนายชัย เป็นรายกรณี เนื่องจากส.ส.ของพรรคไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนสถานที่โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

**ไม่ห่วงถูกตีความย้ายที่ประชุมสภา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เกรงกันว่า อาจมีการนำเรื่องการย้ายสถานที่การประชุมรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาล ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และจะมีผลกระทบต่อการทำงานคณะรัฐมนตรีว่า ไม่เป็นปัญหา ไม่ห่วง เป็นการตัดสินใจของรัฐสภา

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงเรื่องการย้ายสถานที่ประชุมสภาที่เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายว่า ได้ขออนุมัติที่ประชุมแล้ว ก่อนที่จะเปิดประชุมรัฐสภาโดยถามว่า สถานที่กระทรวงการต่างประเทศสามารถเป็นที่ประชุมสภาได้หรือไม่ โดยมีเสียง 330 เสียงอนุมัติ ถือว่าสมบูรณ์ ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จสิ้นหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า สื่อทุกแขนงเป็นสักขีพยาน เมื่อถามว่าถ้ามีการยื่นตีความจะเป็นปัญหาของรัฐบาลหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า จะยื่นตีก็ตีไป แต่อย่าให้ถูกตัว

** เชื่อศาล รธน.ไม่รับตีความ

นายคมสันต์ โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า ไม่มีข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญห้ามแถลงนโยบายรัฐบาลนอกรัฐสภา เรื่องนี้อยู่ในเรื่องข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ตนเชื่อว่า ในระเบียบข้อบังคับการประชุม คงระบุให้สามารถทำได้ ทำให้เกิดการแถลงนโยบายนอกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากใครข้องใจว่าสามารถทำได้หรือไม่ ก็สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความได้ แต่ถ้าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น คงทำไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

**ชี้แก๊งหัวขวดฝ่าฝืนคำสั่งศาล

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยเฉพาะ3 แกนนำ ดังกล่าว ซึ่งมีการปราศรัยยั่วยุบนเวทีเช่นนี้ ถือได้ว่าเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล แม้จะอ้างว่าการชุมนุมเป็นไปตามประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่กรณีของแกนนำ นปช. ถือว่าทำไม่ได้ เพราะยังติดคำสั่งศาลอยู่ จึงมองว่าอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถยื่นคำร้องขอคัดค้านการประกันตัวได้

สำหรับนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช. ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีจากการก่อเหตุวุ่นวายหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพักของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.50

ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขออำนาจศาลอาญาฝากขัง ซึ่งแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เดิม ทั้งหมดที่ตกเป็นผู้ต้องหาได้ขอประกันตัวสู้คดี ทั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในเวลาต่อมา

โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาประพฤติตนในลักษณะเดียวกันกับคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน อันนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก และห้ามให้สัมภาษณ์ลักษณะยั่วยุให้ประชาชนเข้าใจผิด และเกิดความแตกแยก มิเช่นนั้นจะถอนประกันผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างการปล่อยตัวตามคำสั่งศาล

อย่างไรก็ตามแม้ว่าศาลมีกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ปรากฎในปี 2550 ทั้ง 4 คน ก็ยังคงดำเนินการขึ้นเวทีปราศรัยเรื่อยมา และล่าสุด ก็ได้มีการนำขบวนผู้ชุมนุมมาปิดล้อมหน้ารัฐสภา ทำให้มีประเด็นข้อกฎหมายว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดคำสั่งศาลหรือไม่

ด้านนายสมัคร เชาวภานันท์ โฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จะต้องดูรายละเอียดในคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของศาล ว่ามีการกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร ห้ามผู้ต้องหาไปดำเนินการในลักษณะใดบ้าง โดยหากการเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาเข้าข่ายผิดเงื่อนไข หรือฝ่าฝืนคำสั่งศาลก็อาจเพิกถอนการประกันตัวผู้ต้องหาได้

"หากพบว่าผู้ต้องหากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นคู่ความโดยตรง" โฆษกสภาทนายความ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีก่อความไม่สงบที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศน์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 22 ก.ค. 50 ต่อมาวันที่ 30 ส.ค. 50 พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี รอง ผบช.น. (ในขณะนั้น)ได้สรุปสำนวนการสอบสวน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา จำนวน 15 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วย แกนนำ 10 คน คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ , นายจักรภพ เพ็ญแข , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย , นพ.เหวง โตจิราการ , พ.อ.อภิวันท์ แก้วนพจิตร , นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ,นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวาย ขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร และร่วมกันกระทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

ส่วนที่ผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 จำนวน 5 คนประกอบด้วย นายบรรธง สมคำ , ม.ล.วีระยุทธ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา , นายศราวุธ หลงเส็ง , นายวีระศักดิ์ เหมธุริน และนายวันชัย นาพุทธา อายุ 40 ปี ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และข้อหาอื่นๆ โดยขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ

**แจ้งจับ 4 แกนนำ นปช.หมิ่นในหลวง

วานนี้ (30 ธ.ค.) นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายชัยชนะ ทัศนิยม เลขานุการเครือข่ายฯ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อ 4 แกนนำ นปช. ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์

เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ในฐานะแกนนำนปช. และหลักฐานฉากเวทีการชุมนุมของ นปช.ที่หน้ารัฐสภา ที่ชุมนุมเพื่อไม่ให้มีการแถลงนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นมีความผิดอย่างชัดเจน โดยมีการติดตั้งเวที และประดับภาพฉาก โดยจงใจนำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาติด และใช้ข้อความขนาดใหญ่เคียงข้างภาพว่า “อภิสิทธิ์ชน โจร”

โดยมีพฤติกรรมในการกระทำผิดต่อกฎหมายดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดที่กระทำผ่านสื่อมวลชนอย่างชัดเจน เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยได้แนบหลักฐานภาพข่าวหน้า 1 จากหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น