xs
xsm
sm
md
lg

พปช.เดินเกมคุมแก้ รธน. ‘ยุทธตู้เย็น’ชิงลาออก เปิดทางหาประธานใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "ยุทธ ตู้เย็น" ยอมลาออกจากประธานรัฐสภา เปิดทางพปช. เลือกประธานคนใหม่เพื่อคุมเกมแก้ รธน. แต่แจงเหตุผลเพื่อไปต่อสู้คดี และไม่อยากให้เห็นภาพ ประมูขฝ่ายนิติบัญญัติต้องไปขึ้นศาล แถมแอบอ้างเคยได้คุยกับผู้ใหญ่ที่ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ์ในหลวงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่นับวันจะรุนแรงในการอ้างสถาบันมาทำลายล้างกัน ขณะที่ฝ่ายค้าน นักวิชาการ และส.ว. เห็นตรงกัน "ยงยุทธ" ลาออกหวังหาประมุขใหม่คุมแก้ รธน. บอกถ้ามีสปิริตจริง ทำไมเพิ่งลาออก ด้าน พปช.ศพยังอุ่นรุมทึ่งเก้าอี้กันวุ่น " ก๊กเนวิน" ดันพ่อ ส่วนก๊วนเหนือ ชู " สมศักดิ์" พันธมิตรฯ ย้ำ พปช.ยื่นแก้ รธน.วันไหนระดมคนนับแสนค้าน เผย พปช.เสียงแตก ส.ส.อีสาน ดันลงประชามติ ส่วนเพื่อแผ่นดินให้ตั้ง ส.ส.ร.3

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (30 เม.ย.) นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวการลาออกจากตำแหน่ง ประธานรัฐสภา และประธานสภา โดยอ้างว่าจะลาออกตั้งแต่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาให้ใบแดงการทุจริตเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย แต่ได้รับการทักท้วงจากสมาชิกให้อยู่ในตำแหน่งก่อน แต่เมื่อได้มาไตร่ตรองแล้ว ตนไม่อยากให้เห็นว่าหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติต้องไปยืนอยู่กลางศาลและถูกไต่สวน เพราะเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสง่างาม สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติท่านอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีเช่นตนก็ต้องมารับสิ่งเหล่านี้ด้วย

" ยืนยันว่าการลาออกครั้งนี้ไม่มีนัยทางการเมืองและมีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่อยากให้สังคมเห็นว่า นักการเองนั้นใจลึกๆ แล้วไม่ได้ชั่วร้ายที่จะแสวงหาอำนาจและคิดถึงแต่ผลประโยชน์ แต่ยังห่วงใยบ้านเมืองในขณะนี้มากที่สุด"

นายยงยุทธ กล่าวว่า ความจริงแล้วตนถูกฟ้อง 3 คดี คือคดีทุจริตเลือกตั้งที่กำลังขึ้นศาลฎีกา คดีที่ 2 เกี่ยวกับการปราศรัยโจมตีทหารในช่วงการเลือกตั้ง โดยถูกพลเอกท่านหนึ่งฟ้อง โดยยื่นฟ้องเพื่อนำไปสู่การให้ใขแดง ในมาตรา 57 ของกฎหมายเลือกตั้ง และคดีที่ 3 คือ ตนสมัครเป็นสมาชิกพรรคโดยไม่ได้ลงนามจริง เพราะขณะนั้นตนอยู่ต่างประเทศ ซึ่งไม่ทราบว่าขณะนี้ลายเซ็นของตน อยู่ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งต้องขอบคุณ พ.ต.ท.กานต์ เทียมแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและเพื่อนของตนคนหนึ่งได้ถ่ายภาพวีดีโอไว้แล้วมาบอกว่า จะมีการเล่นงานตนภายหลัง ซึ่งหลักฐานนี้ได้ส่งไปให้ กกต.แล้ว

" คงไม่ต้องบอกว่าผมถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนมาเพื่อเป็นกับดักนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ผมยอมรับว่า ใครที่มีอำนาจก็มักจะเป็นผู้ที่ถูกเสมอ แต่กรกระทำใดๆก็ตามอาจจะกระทบต่อความนิยม ชมชอบ ดังนั้นจึงต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้าอำนาจนั้นได้มาจากประชาชน ยืนยันว่าการลาออกครั้งนี้ไม่มีผลต่อคดี ที่บอกว่าเสมือนว่าผมเป็นคนมีเล่ห์ เหลี่ยมนั้นไม่มี ขอให้กลุ่มคนที่บิดเบือนเข้าใจด้วยว่า ผมไม่ได้ประโยชน์แต่จะรักษาสถาบันนิติบัญญัติเอาไว้"

**อ้างเคยคุยคนใกล้ชิดในหลวงแก้ขัดแย้ง


นายยงยุทธ กล่าวว่า วันที่ 2 พ.ค.ต้องไปขึ้นศาล จึงต้องรีบลาออกในวันนี้ ที่ห่วงที่สุดคือ ความแตกแยก ความขัดแย้งของคนในสังคม การสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน การแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทำลายล้างซึ่งกันและกันนั้น นับวันก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นมากขึ้น

นายยงยุทธ กล่าวว่า วันนี้ขอเป็นเหยื่อความขัดแย้งเป็นคนสุดท้ายเพื่อจัดที่จัดทางให้คนได้อยู่อย่างสงบสุข ไม่มีใครที่บอกว่าเป็นโจรเป็นคนชั่วแล้วจะต้องเอาไปฆ่า โดยที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่ไปถึงไหน วันนี้การเร่งนำนิติธรรมของไทยให้กลับสู่สังคมให้มากที่สุดจึงเป็นหัวใจของความเชื่อมั่น เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สร้างความหวาดกลัวต่อนักลงทุนต่อประชาชน เกรงว่าจะมีเหตุนองเลือดหรือจะนำไปสู่การปฏิวัติอีกครั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ ในที่นี้หมายถึงผู้ใหญ่ที่ทำงานต่างพระเนตร พระกรรณของพ่อของชาติ คือ ในหลวงของเรา ที่จะสามารถลงมาช่วยเหลือจัดที่จัดทางให้กลุ่มที่ขัดแย้งกันได้มีการพูดคุยกัน

" ก่อนที่ผมจะดำรงตำแหน่งนี้เคยได้คุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า กลุ่มที่ขัดแย้งกันมีกลุ่มไหนบ้าง ประเด็นที่ขัดแย้งกันมีประเด็นอะไรบ้าง น่าจะมีการนำกลุ่มที่ขัดแย้งกันมานั่งพุดคุยกันบนโต๊ะว่าจะลดจะถอยอะไรกันอย่างไรบ้าง อะไรที่ตกลงกันไม่ได้ เป็นเพราะเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนหรือไม่ การหาแนวทางลดความขัดแย้ง เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด และผมได้อาสาผู้ใหญ่ท่านนั้นว่า ถ้าหากท่านรับที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย ผมก็ยินดีที่จะลาออกจากทุกตำแหน่ง ถ้าผมจะมีตำแหน่งอะไรในอนาคต ไม่ว่า ตำแหน่ง ส.ส. หรือ รัฐมนตรี แต่ผู้ใหญ่ท่านนั้นบอกผมว่า หากผมอาสาไปทำ ในเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นและหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น คนก็จะหมั่นไส้ว่า ผมรู้ได้อย่างไรว่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ฉะนั้นวิบากกรรมของประเทศเราในวันนี้ เรากำลังจะรอให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วถึงมาคุยกัน ถือว่าน่าเป็นห่วงวันนี้จะจับไปขัง ไปฆ่า หรือไล่ออกนอกประเทศ เลือดความเป็นไทยก็ยังมีอยู่ ความยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของทั้งประเทศ"

นายยงยุทธ กล่าวว่าที่บอกว่า " การลาออกครั้งนี้เพื่อที่จะหาคนมาคุมเรื่อง ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่มีผลใดๆ เพราะข้อบังคับกำหนดชัดเจนว่า ให้เลือกสมาชิกมาเป็นประธานสภาฯทำหน้าที่ชั่วคราวได้ทุกขณะ"

** ผบ.ทร.แย้มผู้ใหญ่กำลังแก้ปัญหาอยู่

แหล่งข่าวกล่าวว่า บุคคลที่รับใช้ต่างพระเนตรพระกรรตามที่นายยงยุทธ อ้างถึงในการแถลงข่าวนั้นคือ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพราะ นายยงยุทธเคยไปพบและหารือในช่วงหลังการเลือกตั้ง เพื่อหาทางออกความขัดแย้งทางสังคม แต่ตอนนั้น นายยงยุทธอ้างกับคนในพรรคว่า นายสุเมธปฏิเสธ ข้อเสนอของนายยงยุทธทำให้การนัดหมายกับกลุ่มต่างๆ เพื่อยุติความขัดแย้งในสังคมต้องล้มเลิกไปในที่สุด

พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่ส่อว่าจะเกิดความรุนแรงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้ทหารอาจเข้ามาดูแล สถานการณ์ หรือมีการปฏิวัติใน พ.ค.นี้ว่า " จริงหรอ" ก่อนจะหัวเราะ เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้ประชาชนมองว่าทหารอาจจะปฏิวัติ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า " วันนี้มาทำบุญ" เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะตนไม่ทราบ แต่ขณะนี้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีความรับผิดชอบพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ จากที่ตนฟังแนวทางที่จะแก้ก็น่าจะสำเร็จ

** พปช.เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ

แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชาชนแจ้งว่า สาเหตุสำคัญที่นายยงยุทธ ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้สังคมเรียกร้องให้แสดง สปิริตกลับไม่ยอมลาออกเนื่องจาก พรรคพลังประชาชนต้องการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องประชุมรัฐสภา เมื่อนายยงยุทธ ประกาศพักการทำหน้าที่ จึงมีเพียง นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาที่จะมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ในการคุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจาก นายประสพสุข ไม่ใช่คนที่รัฐบาลหรือพรรคพลังประชาชนสั่งได้จึงต้องให้นายยงยุทธ ลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้งประธานสภาฯคนใหม่ไปแทนซึ่งก็จะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ทันทีที่นายยงยุทธ ลาออก แต่ละกลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชาชน ต่างก็เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันคนของตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตามประธานสภาฯนั้นเป็นโควตาภาคเหนือของนายยงยุทธ โดยมีการทาบทามนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งนี้ แต่นายสมพงษ์ ปฏิเสธขอนั่งเป็นรัฐมนตรีเช่นเดิม ทำให้ นายยงยุทธ จะผลักดันนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาฯคนที่ 1 ขึ้นเป็นประธานสภาฯ และเสนอนายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชาชน เป็นรองประธานสภาฯแทนนายสมเกียรติ์ ขณะที่กลุ่มบุรีรัมย์ของนายเนวิน ชิดชอบ ก็พยายามผลักดัน นายชัย ชิดชอบ บิดาขึ้นเป็นประธานสภา หลังจากหลุดจากโผเมื่อครั้งแรก

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าการจะเสนอชื่อใครเป็นประธานสภาฯคนใหม่อยู่ที่พรรค

ด้านนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชาชนกล่าวว่า ตนจะเสนอชื่อนายสมศักดิ์ เป็นประธานสภาฯแทนนายยงยุทธ อย่างไรก็ตาม ส.ส.อีสานยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ เพราะเพิ่งทราบว่านายยงยุทธลาออก และเท่าที่พูดคุยกันมี ส.ส.กลุ่มอื่นในพรรคก็สนับสนุนนายสมศักดิ์ ซึ่งมีทั้ง ส.ส.ภาคเหนือ และภาคอื่น รวมถึง ส.ส.บางคนในกลุ่มนายเนวิน

** ผวา ชท.-มฌ.หลุดคดียุบลอยแพ พปช.

รายงานข่าวจากพรรคพลังประชาชนแจ้งว่า แกนนำพรรคพลังประชาชนได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า ในการวินิจฉัยคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย นั้นทั้ง 2 พรรคจะหลุดจากคดีในชั้นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับพรรคพลังประชาชนนั้น มีโอกาสที่จะหลุดจากคดีน้อยกว่า 2 พรรค ทำให้การที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับแนวทางของพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล มาตรา 309 เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และการตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก้รัฐ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้แกนนำพรรคพลังประชาชน มีความกังวลมากและต้องเร่งล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาลให้ฝ่ายความเห็นชอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ให้ได้

** ปชป.สงสัยเปิดทางหาคนคุมแก้ รธน.

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วม ฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่านายยงยุทธลาออกช้าไป ซึ่งการลาออกของนายยงยุทธ ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้จึงมองได้เป็น 2 ประเด็นคือ 1. แสดงสปีริตที่ดี และ2. การลาออกในช่วงนี้มีเป้าหมายอย่างอื่นอีกหรือไม่ เพราะทำให้คิดไปว่า พรรคพลังประชาชนปักธงเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญแน่แล้วใช่หรือไม่ และกังวลว่ารองประธานสภา ที่ทำหน้าที่ประธานสภาอยู่ขณะนี้จะไม่สามารถคุมเกมแก้รัฐธรรมนูญได้ และกลัวว่า ประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาจะไม่สามารถ ควบคุมได้
" ต้องจารึกไว้ด้วยว่าการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อประชาชน และไม่เป็นบุคคลที่มีคดีติดตัว อย่าได้นำคนที่มีปัญหาเข้ามา เพราะอาจจะเกิดกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ อีก "

** ส.ว.เชื่อ "ยุทธตู้เย็น" มีเลศนัยแก้ รธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการลาออกครั้งนี้ของ นายยงยุทธเป็นการหาตัวประธานรัฐสภาคนใหม่ที่เป็นคนของพรรคพลังประชาชน เพื่อที่จะเตรียมรับมือกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะหากนายยงยุทธยังไม่ลาออก พรรคพลังประชาชนก็ไม่สามารถหาคนมาปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ซึ่งภาระหน้าที่ของประธานรัฐสภามีหลายส่วนที่อาจส่งผลดีและเสียต่อพรรคพลังประชาชนในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภา และการพิจารณาวินิจฉัยให้สมาชิกขึ้นอภิปราย ซึ่งหากไม่ได้ประธานสภาคนใหม่ ที่มาจากพรรคพลังประชาชนการพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน

" การลาออกของนายยงยุทธครั้งนี้จะถือว่าเป็นการแสดงสปิริตไม่ได้ เพราะเขาได้แสดงสปิริตไปแล้ว ด้วยการขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ ” ส.ว.สรรหา กล่าว

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การลาออกของนายยงยุทธครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินเรื่อง ใบเหลืองใบแดงของศาลอย่างแน่นอน เพราะการกระทำความผิดของนายยงยุทธ ถือว่าปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว เมื่อลาออกก็ไม่สามารถล้มล้างการกระทำความผิดนั้นได้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการลาออกของนายยงยุทธคงได้มีการพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์กันเองในพรรคพลังประชาชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อนายยงยุทธลาออก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องประชุมกันเพื่อทำการคัดเลือกประธานรัฐสภาคนใหม่

** พันธมิตรฯ ลั่นระดมแสนคนค้านแก้ รธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงหลังจากประชุมแกนนำพันธมิตรฯวานนี้ (30 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติยืนยันจุดยืนเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้แก่ตัวเอง หากต้องการแก้ไขจริง ก็ควรจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อย่างเช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อย่างที่เคยมีมา 2 ครั้ง

สำหรับข้อเรียกร้องต่อพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค นายสุริยะใส กล่าวว่า เมื่อมาถึงจุดนี้ สปิริตที่เราเรียกร้องคงจะไม่สามารถคาดหวังได้ โดยดูจากการ แสดงออกของพรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัว และจะนำให้บ้านเมืองไปสู่ทางตัน

" พันธมิตรฯย้ำจุดยืนที่ว่า เมื่อใดที่ญัตติเข้าสู่วาระการประชุม ก็จะนัดชุมนุมใหญ่ทันที โดยคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มที่ผิดหวังกับการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม และกลุ่มที่ผิดหวังกับการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง โดยจะมีคนมาร่วมกันเรือนแสน"

**นัด 6 แกนนำพรรคร่วมถก 7 พ.ค.

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า วันที่ 7 พ.ค.นี้ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค จะหารือร่วมกัน ภายหลังที่ได้ทำงานร่วมกันเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ได้เน้นหนักเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป ซึ่งหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคได้ตอบรับการนัดหารือครั้งนี้แล้ว

** พผ.แนะตั้ง ส.ส.ร.หวั่นนองเลือด

นายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า การเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาจจะทำให้เกิด ความแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงอาจถึงขั้นการยุบสภา รวมทั้งอาจจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดเหมือนอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือ 16 ตุลาฯ ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าควรจะตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาศึกษาปัญหาการแก้ไข เพื่อลดแรงเสียดทาน

** พปช.เสียงแตกหนุนทำประชามติ

ที่รัฐสภา วันเดียวกัน คณะกรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชาชน แถลงยืนยันให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาทำประชามติเพื่อหาข้อยุติ แทนที่จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยพรรคพลังประชาชนเข้าสู่รัฐสภาเพื่อแก้ไขทันที

นายนิสิต สินธุไพร คณะกรรมการฯ กล่าวว่า การคืนสิทธิให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการแสดงความเห็นผ่านประชามติว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดนั้น เชื่อว่าจะยุติความขัดแย้งในประเทศได้ ถ้าประชาชนเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถือว่าเป็นข้อสรุปและจะไม่มีการแก้ไข โดยจะใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไป โดยเจ้าภาพไม่จำกัดว่าเป็นใครจะเป็นรัฐบาล หรือสภาก็ได้ ที่มีความเป็นกลาง ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมพรรคในสัปดาห์หน้า

** พปช.เผยพรรคร่วมลงชื่อแก้ รธน.แล้ว

นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นตรงกันว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อรับหลักการวาระแรก ส่วนวาระ 2 และวาระ 3 ก็ไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ โดยวาระแรกจะสามารถพิจารณาได้ทันสมัยประชุมนี้ แน่นอนโดยสามารถพิจารณาวาระแรกได้ก่อนวันที่ 19 พ.ค.

"เท่าที่ฟังทุกพรรคก็เห็นด้วย แต่รายละเอียดไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้ ส่วนการร่วมลงชื่อของแต่ละพรรคไม่น่าห่วง เพราะทุกพรรคลงชื่อไว้ล่วงหน้าหลายสัปดาห์แล้ว สามารถยื่นได้ทันที เพียงแต่รอให้ยืนยันตกลงว่ายื่นตามนั้นก็เท่านั้นเอง"

ส่วนที่พรรคชาติไทยติดใจร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแปรญัตติได้ รวมทั้งการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระนั้น นายสุขุมพงษ์กล่าว ว่า เป็นการเข้าใจผิด การยกหมวด 3และหมวด 15 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้บังคับแทนสามารถแปรได้ทั้งหมด ส่วนการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระเรายกมาเป็นตุ๊กตา ถ้าไม่ยกมาเลยก็จะทำให้ร่างกฎหมายไม่สมบูรณ์ และอาจทำให้ สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าเมื่อกฎหมายไม่สมบูรณ์ การจะรับหลักการไม่ได้ ดังนั้นจึงต้อง เขียนบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนว่าองค์กรใดจะอยู่ต่อไปอย่างไร ซึ่งสามารถแก้ไขได้
กำลังโหลดความคิดเห็น