xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ-หมอ-เอ็นจีโอ-ชุมชน ประณามรัฐยืมมือศาลปราบม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา เอ็นจีโอ และเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ประณามการใช้ความรุนแรงกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนแก่และผู้หญิง จวกรัฐบาลสมัครยืมมือศาลปราบปราบประชาชนกลางเมืองหลวง "ปริญญา"ชี้นายกฯ-ตร.ผิดพลาดร้ายแรง องค์กรกลางแนะถอนหมายจับแกนนำพันธมิตร นายกสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ 6 วิชาชีพ วอนทุกฝ่ายอย่าใช้ความรุนแรง

นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ไทยทีวีว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หลังจากปิดหมายศาลเพื่อบังคับคดีให้กลุ่มพันธมิตรฯออกจากบริเวณทำเนียบรัฐบาลว่า การที่ศาลให้บังคับคดีนั้น ศาลไม่ได้ระบุว่าให้บังคับด้วยกำลัง เพราะต้องให้เวลาพันธมิตรฯ พิจารณาคำสั่งศาล ดังนั้น ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรง ของตำรวจและรัฐบาล เพราะเมื่อวันก่อน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังบอกว่า ไม่ให้ใช้กำลัง

"ตำรวจจะต้องหยุด โดยห้ามใช้อาวุธตีประชาชน เพราะเมื่อตี ประชาชนจะโกรธแค้น ฉะนั้นเบื้องต้นพันธมิตรฯ จะต้องบอกว่าตำรวจ และนายกฯ ทำแบบนั้นไม่ได้ และให้เวลาพันธมิตรฯปฏิบัติตามคำสั่งศาล เพราะศาลบอกให้ทำละมุนละม่อม ไม่ได้ให้ตำรวจรื้อ ต้องให้เวลาเขา"

นายปริญญา กล่าวอีกว่า ตำรวจต้องระมัดระวังว่า ศาลอนุญาตให้ตำรวจใช้กำลังหรือไม่ เพราะในทางกฎหมายหลัก คือ ตำรวจต้องรักษากฎหมาย และถ้าปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะเกิดเหตุรุนแรง ต้องไม่ทำเดี๋ยวนั้น เพราะถ้าทำเดี๋ยวนั้นเลย จะส่งผลที่รุนแรง อีกทั้งศาลท่านไม่ออกคำสั่งให้เกิดการนองเลือด ซึ่งถือว่านายกฯ กำลังทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะบอกว่าจะไม่สลาย ถือว่าเป็นการฉวยโอกาสเหมือนกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และถ้าไม่หยุด ก็จะเกิดการนองเลือด

"ขอร้องว่า ประชาธิปไตยของเราหลีกเลี่ยงการนองเลือดมาได้นานแล้ว แต่นี่เราหมิ่นเหม่และกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งผมขอให้ประชาชนช่วยกันปฏิเสธความรุนแรง และให้เวลาพันธมิตรปฏิบัติตามคำสั่งศาล" นายปริญญากล่าว

นักวิชาการ-เครือข่ายชุมชน รุมประณาม

วานนี้ (29 ส.ค.) ที่โรงแรมรัชมังคลาพาวิลเลียน จ.สงขลา กลุ่มคณาจารย์ นักวิชาการและเครือข่ายองค์กรชุมชน ออกแถลงการณ์คัดค้านความการใช้ความรุนแรงกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยมีนักวิชาการและตัวแทนองกรค์ชุมชนจาก 24 องค์กร โดยมี ผศ.ณฐพงษ์ จิตรนิรัตน์ จาก ม.ทักษิณ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ม.เชียงใหม่ ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำ ม.วลัยลักษณ์ และ มจ.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโส เป็นผู้ร่วมอ่านแถลงการณ์ โดยเนื้อหา ดังนี้

การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชน เป็นการทำลายสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นความขัดแย้งบนพื้นฐานความคิดทางการเมือง ซึ่งควรที่จะต้องแก้ไขด้วยความละมุนละม่อม

สังคมประชาธิปไตยจำเป็นที่จะต้องยอมรับในความแตกต่างทางความคิด และต้องเปิดให้มีการถกเถียงและการต่อสู้อย่างสันติวิธี การใช้ความรุนแรง และใช้กลไกอำนาจจึงจะทำให้ปิดโอกาสการต่อสู้เพื่อสันติวิธีอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำ การใช้ความรุนแรงในการสลายชุมนุมนั้นเกิดขึ้นภายใต้การโกหกของนายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศมาก่อนหน้านี้ว่า จะไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมของประชาชน อันเป็นการ สับปลับเพื่อใช้วิธีการที่รุนแรง

เราที่มีนามข้างท้ายขอประณามการใช้ความรุนแรง ในการสลายการชุมนุมของประชาชน และประณามความสับปลับของนายกรัฐมนตรี ที่ก่อให้เกิดความบาดหมางที่ลึกซึ้งมากขึ้นในสังคมไทย และขอเรียกร้องขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงและการสลายการชุมนุม, ขอให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อการกระทำครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลยอมรับการชุมนุมบนพื้นฐานของความคิดที่แตกต่าง

สำหรับกลุ่มนักวิชาการดังกล่าว ประกอบด้วย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, นางพิชญา แก้วขาว ผู้จัดการโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อม โดยองค์กรชุมชนภาคใต้, นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย, ผศ.ประสาท มีแต้ม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ดร.ฐิรวุฒิ เสนาคำ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ผศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, อาจารย์ มณีรัตน์ มิตรปราสาท มหาวิทยาลัยทักษิณ, นายตฤณ สุขนวล สถาบันเรียนรู้เกลอ จังหวัดนครศรีธรรมราช

เครือข่ายลุ่มน้ำคาบสมุทรสทิงพระ, เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมภาคใต้, เครือข่ายสวัสดิการภาคประชาชน จังหวัดสงขลา, มหาวิทยาลัยวันศุกร์, เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต, เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ, เครือข่ายฟื้นฟูชุมชนเกาะลันตา, เครือข่ายการแก้ไขปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย, เครือข่ายนักศึกษาปริญญาโทวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นางสาวสายฝน จิตนุพงศ์ โครงการอาศรมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อาจารย์มานะ ขุนวีช่วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, อาจารย์นฤมล สุขพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, อาจารย์ชลลดา แสงมณี ศิริสาธิตกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ, พรไทย ศิริสาธิตกิจ นักศึกษาปริญญาเอกพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, บริชัย ดาวอุดม นักศึกษาปริญญาเอกพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชี้รัฐฯหมดสิ้นความน่าเชื่อถือ

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 กล่าวว่า ตั้งแต่วินาทีที่ตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ถือว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่มีความชอบธรรมใดๆ เหลืออยู่ ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ตำแหน่งทางการเมืองใดทั้งสิ้น เพราะสังคมไม่เหลือความเชื่อถือและความไว้วางใจให้คนๆ นี้อีกแล้ว นายสมัคร ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ใช่ความรุนแรง จะไม่มีการสลายการชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

“หากนายสมัครยังอยู่ในอำนาจ คนไทยจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่าวันหนึ่งข้างหน้า จะไม่ถูกตำรวจเอาปืนจ่อหัว แสดงท่าทางที่พร้อมจะทำร้ายประชาชน ซึ่งเป็นความรุนแรงเกินกว่าเหตุอย่างเปิดเผยชัดแจ้ง กระทำกลางใจเมืองหลวง เหมือนอย่างที่ผู้ชุมนุมโดน เรื่องนี้ทำลายภาพพจน์ของกรุงเทพฯในฐานะเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง” นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า การเข้าไปรื้อเวทีของพันธมิตรที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ชุมนุมควรเข้าชื่อยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการพิจารณาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกลไกต่างๆในบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะป้องกันความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอีกต่อไป

“ขณะนี้มีการตั้งคำถามทางวิชาการกันอย่างกว้างขวางในกรณีที่รัฐบาลหรือข้าราชการใช้ศาลแพ่งให้คุ้มครอง ส่งผลให้เสรีภาพในการชุมนุมเกิดความชะงักงัน เพราะโดยปรกติแล้ว ศาลเเพ่ง ท่านจะพิจารณาในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลไทยแก้ปัญหาทางการเมือง โดยอาศัยศาลแพ่ง ทั้งที่ปัญหาทางการเมืองต้องแก้โดยการเมืองเท่านั้น”นพ.ชูชัย กล่าว

“เสียงปืนแตก” รัฐบาลพังแน่

นายสุเชาว์ มีหนองหว้า อาจารย์ภาควิชาการปกครองท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้ ว่า ต้องหาคนที่มีบารมีและทุกฝ่ายให้ความเชื่อถือเป็นตัวกลางเปิดเวทีเจรจา ระหว่างรัฐบาลและแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ต้องพูดคุยไม่ให้เกิดความรุนแรง ถ้าหากใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม จะเป็นโอกาสให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถึงจุดนั้นรัฐบาลจะถูกบังคับให้ลาออก แต่สังคมไทยก็จะไม่ยอมรับ

“ขณะนี้รัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการแข็งกร้าว เพราะการเข้าสลายการชุมนุมไม่ใช่ทำให้การชุมนุมเลิกไป แต่จะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมกดดันด้วยวิธีอื่น ซึ่งขณะนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศหยุดเดินรถทั่วประเทศ”

ด้าน พ.อ.ดร.วรสิทธิ์ เจริญพุฒ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงทางออกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ทุกฝ่ายต้องยึดสันติวิธี ใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา ถ้าจำเหตุการณ์ 14 ตุลาปี 2516 ก่อนนองเลือดก็มีจุดเริ่มคล้ายกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เมื่อใดที่มีเสียงปืนดังขึ้นมา เมื่อนั้นรัฐบาลก็แพ้แน่นอน และเชื่อว่า เหตุการณ์ในเอ็นบีทีเป็นการจัดฉาก

“ไชยยันต์” จวก ตร.ไม่มีสิทธิ์รุนแรง

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตำรวจทำร้ายกลุ่มพันธมิตรผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา ตามหลักของกฎหมาย หรือด้านคุณธรรม จริยธรรม และสิทธิ์มนุษยชนนั้น ผู้รักษากฎหมาย โดยเฉพาะตำรวจ ไม่มีสิทธิ์ใช้ความรุนแรง หรือทำร้ายผู้อื่น และการเรียกร้องครั้งนี้แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย เป็นสิทธิ์ของทุกคน อีกทั้งผู้มาชุมนุมที่เป็นเด็ก ผู้หญิงและคนชรา ไม่ได้ถูกบังคับให้มาเป็นด่านหน้า แต่ทุกคนเต็มใจมา ตำรวจทำได้เพียงบอก ผลัก หรืออุ้มให้พวกเขาออกห่างไปจากตรงนั้น อีกทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้โต้ตอบกลับ ตำรวจจึงไม่สิทธิ์ทำร้ายประชาชน

“ฝากถึงตำรวจทุกนายให้รู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง อย่าใช้แรงกดดัน แล้วมาทำร้ายประชาชน การปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องเป็นไปด้วยความถูกต้อง และไม่ใช้ความรุนแรง ใช้ความประนีประนอม ใจเย็น ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา หาทางแก้ปัญหาไม่ใช่มาระบายลงกับผู้หญิงหรือคนชรา และส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจทำร้าย ให้จำชื่อ หรือถ่ายรูป เก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนำไปฟ้องร้องตำรวจได้”

“หมัก”ทำลาย “นิติรัฐ” สิ้นเชิง

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิจัยนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นความรุนแรงที่สุดในการปกครองประเทศไทย หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540-2550 ประเด็นสำคัญ คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรัฐพยายามจะบอกว่าประชาชนละเมิดกฎหมาย และใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการกำจัดประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

“จริงอยู่ที่ประชาชนดื้อแพ่งในการบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ แต่ประชาชนเหล่านั้นไม่มีเจตนาจะทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากแต่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐ และแก้ปัญหาการโกงกินบ้านเมือง”

นายคมสัน กล่าวอีกว่า ความรุนแรงในครั้งนี้ รัฐต้องออกมารับผิดชอบโดยการย้อนดูพฤติกรรมของตนเอง ว่า ยืนอยู่บนหลักนิติรัฐหรือไม่ ในขณะที่กำลังใช้อำนาจศาลไปปราบปรามประชาชน ฝ่ายตำรวจอ้างความชอบธรรมของการฝ่าฝืนคำพิพากษาของศาลไปปราบปรามประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเองไม่ได้ดำเนินการบริหารบ้านเมืองตามหลักนิติรัฐอยู่แล้วมีการละเมิดกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อใช้มาตรการเชิงกฎหมายเข้าปราบปรามประชาชนไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดลงไปทันที

ทางออกที่ดีนั้น ตนได้กล่าวผ่านโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์อันน่ารังเกียจนี้ คือ รัฐจะต้องรับผิดชอบโดยการ “ลาออกสถานเดียว และกลับไปทบทวน เพราะถ้าดูไปแล้วรัฐทำการละเมิดกฎหมายตลอดเวลา ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับสิ่งที่รัฐทำ จนเป็นที่มาของประชาชนดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืน”

นายคมสัน บอกอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าไม่มี ส.ส.เข้าไปดูแลประชาชนเลย เพราะกรอบคิดของ ส.ส.มีความคิดเข้าข้างตัวเองและส่วนใหญ่เป็นฝ่ายของรัฐบาล การทำงานของชาวบ้านในครั้งนี้ถือเป็นแนวทางใหม่ เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ออกมาทวงอำนาจตามกฎหมายนั่นเอง ซึ่งจะเห็นว่า มี ส.ว.กลุ่มหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือให้กำลังใจ เป็นหน้าที่อันชอบธรรม

“จากนี้ไปมีทางเดียวที่จะทำ คือ รัฐบาลลาออกและทบทวนตัวเอง ก่อนที่เหตุการณ์จะสายไปกว่านี้”

นศ.นิด้าจี้รัฐบาลลาออกยุติปัญหา

ในวันเดียวกันนี้ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มนักศึกษาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ “แก้วิกฤติการเมืองไทย” โดยระบุว่าจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาล ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การยิงแก๊สน้ำตา ใช้อาวุธปืนจ่อหัวผู้ชุมนุม ใช้ตะบองทุบตีประชาชน เป็นต้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

กลุ่มนักศึกษาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า มีความวิตกกังวลกับสถานการณ์และความขัดแย้งของบ้านเมืองในขณะนี้ ซึ่งมีแนวโน้มของความรุนแรง การนองเลือด และเกิดการต่อสู้ของประชาชนชาวไทยด้วยกันเอง อันจะสร้างผลเสียหายแก่ประเทศชาติและสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ดังเช่นอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

กลุ่มนักศึกษา เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ที่กลุ่มประชาชนในนามพันธมิตรฯ เห็นว่าระบบการเมืองในปัจจุบันมีปัญหา และรัฐบาลบริหารประเทศอย่างขาดความชอบธรรมด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าการใช้งบประมาณของรัฐอันส่อไปในทางสร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง หรือตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน รวมทั้งไม่ปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ควรจะเป็น จึงกดดันให้รัฐบาลลาออกและหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวพัฒนามาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กระทั่งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตัดสินใจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ซึ่งจะทำให้สังคมไทยตกไปสู่วิกฤตสถานการณ์และความหายนะได้

ในนามนักศึกษาคณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาการพัฒนาการเมืองและสังคมไทยตลอดมา เห็นว่าปัญหานี้ควรแก้ไขโดยวิถีทางทางการเมืองเท่านั้น ขอเสนอทางออกให้กับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้โดย 1) ขอให้รัฐบาลออกคำสั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดออกจากบริเวณสถานที่ชุมนุม กลับที่ตั้งเดิม 2) ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อการกระทำที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายประชาชนที่มาชุมนุม จนส่อว่าจะเกิดรุนแรงในอนาคตได้ โดยการลาออก ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงก็ควรยุติการชุมนุมเมื่อรัฐบาลลาออกแล้ว

3) ขอให้รัฐสภามีมติงดใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 วรรค 2 ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้เสนอชื่อบุคคลภายนอกที่สังคมยอมรับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ชั่วคราว และ 4) ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง วางตัวเป็นกลาง นำเสนอข่าวอย่างเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ไม่ควรเสนอข่าวในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อจนนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงมากขึ้น

กป.อพช. ประณามใช้ความรุนแรง

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า เครือข่ายกป.อพช.ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตามที่รัฐบาลได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนาย เข้าไปดำเนินการติดหมายศาล และทำการผลักดันผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล และรื้อถอนเวทีชุมนุม บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จนเกิดการปะทะกันทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงของวันนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสกดดัน และความตึงเครียดทั่วไปในสังคม ล่อแหลมต่อการนำไปสู่ความรุนแรง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น

กป.อพช.ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ด้วยความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เผชิญหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งได้นำไปสู่การบาดเจ็บเสียเลือดเนื้อของประชาชนผู้บริสุทธิ์ แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้กล่าวอ้างว่าจะไม่สลายการชุมนุม และจะไม่ใช้ความรุนแรงใด ๆ แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากได้ใช้กำลังเข้าปะทะกับผู้ชุมนุม ขณะที่สถานการณ์มีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กป.อพช. จึงมีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้ 1.ขอให้รัฐบาลถอนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากพื้นที่ชุมนุม และยุติการใช้ความรุนแรงโดยทันที 2.ขอให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดในหลักการชุมนุมโดยสันติ และไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง 3.ขอให้สมาชิกรัฐสภาเรียกประชุมวาระพิเศษโดยเร่งด่วน เพื่อร่วมพิจารณาหาทางออกกับวิกฤตการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น

4.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นโดยด่วน

นายไพโรจน์กฃล่าวต่อว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำร้ายประชาชนทั้งไล่ตีและเอาปืนจ่อหัวจนปรากฏเป็นภาพไปทั่วโลกนั้น ถือเป็นภาพลบของตำรวจและประเทศชาติ โดยเฉพาะการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวนี้ ยิ่งส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีที่ก่อนหน้านี้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ใช้มาตรการรุนแรงต่อประชาชน ยิ่งขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้น

นายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน ประธาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.ภาคอีสาน) ออกแถลงการณ์ขอประณามการใช้ความรุนแรงปราบปรามทำร้ายประชาชนว่ารัฐบาลนายสมัคร กำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มจะบานปลายลุกลามเป็นเหตุการณ์รุนแรง ซ้ำรอยการปราบปรามประชาชน เช่นเดียวกับเหตุการณ์นองเลือดในอดีต อันเป็นรอยด่างทางประวัติศาสตร์ของสังคมการเมืองไทย และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย

กป.อพช.อีสาน ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานขององค์กรพัฒนาเอกชน 70 องค์กร ในภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอดังนี้ 1) ขอประณามและให้หยุดการกระทำอันป่าเถื่อนที่รัฐบาลกำลังใช้จัดการกับ ประชาชนในขณะนี้ในทันที

2) ให้ยุติการใช้สื่อของรัฐบิดเบือนข่าวสาร ข้อมูล อันจะนำสู่การเผชิญหน้า และ ขยายตัวออกไปในขอบเขตทั่วประเทศ 3)ขอเรียกร้องให้องค์กรภาคประชาชนในภาคอีสาน แสดงจุดยืน คัดค้านการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐทุกรูปแบบ

นายสมภพ บุนนาค ที่ปรึกษากป.อพช.อีสาน และ นายขจรศักดิ์ ลีฬหานาจ ตัวแทนพันธมิตรฯ จ.ขอนแก่น ออกแถลงการณ์ ประณามกรณีรัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเช่นกัน

นายสมภพ กล่าวว่า ตามที่ตำรวจได้ใช้กำลังรื้อเวทีพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสลายกำลังผู้ชุมนุม รวมถึงการใช้กำลังบุกประชิดทำเนียบรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้สุมเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรงที่ใกล้จะถึงจุด โดยรัฐบาลเองได้ใช้สื่อของรัฐบาลทางสถานีโทรทัศน์ NBT จนเป็นเหตุให้เกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้นระหว่าง ตำรวจ และประชาชน อีกทั้งมีการใช้อำนาจจนเกินไป จึงขอให้ตำรวจยุติการใช้ความรุนแรง เพราะอาจจะเป็นภาพลบไปทั่วโลก

นายสมภพ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลนายสมัคร แม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่พฤติกรรมการบริหารประเทศของรัฐบาลและผู้นำประเทศอย่างนายสมัครได้หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศไปนานแล้ว นับตั้งแต่ศาลได้พิพากษาว่าผู้บริหารพรรคพลังประชาชนได้กระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง (โกงเลือกตั้ง) และถูกถอดถอนสิทธิทางการเมืองไปแล้ว รอแต่คำพิพากษาว่าจะมีผลต่อการ ยุบพรรคหรือไม่ เมื่อใด

นายสมภพ ได้เรียกร้องให้รัฐบาล ยุติการใช้สื่อของรัฐฯเพื่อป้ายสีบิดเบือนการใช้สิทธิชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และยุติใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทุกรูปแบบ หากรัฐไม่ยอมรับความจริง ทางเครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะ กป.อพช.อีสาน จะต้องมีมาตรการตอบโต้อย่างแน่นอน

เอ็นจีโอภาคเหนือจี้รัฐหยุดทำร้าย ปชช.

ทางด้าน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจังหวัดแพร่ ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จ.แพร่ (กป.อพช.แพร่), เครือข่ายศิลปินพื้นบ้านจังหวัดแพร่, เครือข่ายทรัพยากรจังหวัดแพร่, เครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่, เครือข่ายลุ่มน้ำขนาดเล็กจังหวัดแพร่, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดแพร่, เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดแพร่, เครือข่ายสื่อชุมชนผีปันน้ำ ร่วมกันออกแถลงการฉบับที่ 2 ระบุว่า แถลงการณ์ดังกล่าวขององค์กรพัฒนาเอกชนจังหวัดแพร่ และองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ รวมไปถึงองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วทุกภูมิภาค

รวมทั้งภาคประชาสังคมอื่นๆ อีกจำนวนมาก มีจดหมายเปิดผนึกและแถลงการณ์ออกมามากมายซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่รัฐบาลไม่ให้ความสนใจ ทำให้สถานการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลตึงเคลียดและมีการใช้ความรุนแรงขึ้นแล้ว โดยมีการปิดล้อมประชาชนและทำร้ายร่างกาย รวมทั้งการหน่วงเหนี่ยวกักขังประชาชน สกัดรถพยาบาลไม่ให้เข้ามาในพื้นที่

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความรุนแรงที่ระเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดแพร่ ขอประกาศให้รัฐบาลยกเลิกการทำร้ายประชาชน และกลับไปทบทวนถ้ายังคิดว่าประเทศไทยยังอยู่ในระบบนิติรัฐ ไม่ป่าเถื่อน ให้นายสมัคร สุนทรเวช พิจารณาการกระทำของตนเองที่ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้พิจารณาตัวเองก่อนสถานการณ์จะสายเกินไป

พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐหยุดทำร้ายประชาชน, หยุดบิดเบือนข่าวสาร, เรียกร้องให้รัฐสภาเปิดประชุมเพื่อช่วยเหลือประชาชน หาทางออกอย่างเร่งด่วน, เรียกร้องให้นานาประเทศประณามการกระทำของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และถ้าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น รัฐบาลสมัครต้องหยุดการกระทำดังกล่าวทันทีภายในวันนี้

ครส.-เยาวชน เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบ

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ โดยขอประณามการใช้กำลังอาวุธและแก็สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมของรัฐบาล จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถึงที่สุด หยุดการสลายการชุมนุมซึ่งจะนำมาสู่สถานการณ์บานปลายและความรุนแรงไม่สิ้นสุด รัฐบาลไม่มีสิทธิสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธต่อพลเมืองที่ไม่มีอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นสะพานมัฆวาน หรือในทำเนียบรัฐบาล

นอกจากนั้น ยังขอให้รัฐบาลใช้วิถีทางเปิดการเจรจาสาธารณะ โดยเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคเป็นตัวกลางร่วมแก้ปัญหา การปราบปรามโดยใช้กำลังอาวุธจะนำมาสู่กลียุคและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬรอบ 2 โดยประชาชนจะเป็นฝ่ายสูญเสีย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลายเป็นผู้ร้าย และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชจะถูกประณามจากทั่วโลก และตกเป็นอาชญากร บรรทัดฐานประชาธิปไตยไทยจะสะดุดอีกครั้ง ถ้ารัฐบาลไม่ยับยั้งวิกฤติการณ์และแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

ขณะนี้มีเครือข่ายประชาสังคมไม่เอาความรุนแรง ได้ประกาศระดมพลแต่งชุดขาวเดินทางไปบริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติดำเนินการปราบปรามและใช้ความรุนแรง โดยส่วนหนึ่งจะรวมตัวกันหน้าวัดเบญจมบพิตร (โทรศัพท์สอบถาม คุณสุธรรมะ ธรรมศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ 089-442-2858)

ขณะเดียวกัน ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) ได้ออกแถลงการณ์ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นายโกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แสดงความรับผิดชอบต่อการพยายามสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติการจิตวิทยาทางการเมืองที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายเพื่อฉวยโอกาสปราบปรามด้วยกำลังอาวุธ และหยุดการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะในทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนิน หรือพื้นที่ใดโดยทันที และเปิดการเจรจาทางการเมืองร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อหาทางออกที่สันติ ปราศจากความรุนแรง ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

องค์กรกลางแนะถอนหมายจับแกนนำ

ทางด้าน รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร จากมูลนิธิองค์กรกลาง ระบุว่า การออกหมายจับแกนนำพันธมิตรทั้ง 9 คน ด้วยข้อหากบฎภายในราชอาณาจักร ถือเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักนิติศาสตร์ และเป็นการตั้งข้อหาที่เกินเลย เป็นการผลักดันให้แกนนำพันธมิตร และแนวร่วมต้องหันหน้าสู้ ด้วยวิธีการที่รุนแรงขึ้น

ดังนั้น รัฐควรตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักรัฐศาสตร์โดยถอนหมายจับและเปิดโอกาสให้มีการเจรจาบนพื้นฐานของความรู้สึกที่ดีเพื่อหาทางออกของสถานการณ์ที่สร้างความบอบช้ำเสียหายต่อบ้านเมืองให้น้อยที่สุด

ส่วนการดำเนินการของตำรวจ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังถึงความเปราะบางของสถานการณ์ทั้งสิ้น เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดทั้งฝ่ายประชาชนที่ถูกกดดันและฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบอย่างไม่มีโอกาสได้พักผ่อน การยั่วยุ หรือ ความไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของทั้งสองฝ่ายได้อย่างเพียงพอ การปะทะกันเพียงแค่จุดเล็กๆอาจบานปลายเป็นสถานการณ์ที่แม้ผู้นำฝูงชนก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้กองกำลังต่างๆ ยุติการเข้าใกล้ชิดในลักษณะเผชิญหน้า และให้มีพื้นที่ว่างที่กันสองฝ่ายออกจากกัน และยุติการปฏิบัติการใดๆที่นำไปสู่การยั่วยุอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การระดมกำลัง การแต่งกายด้วยชุดเตรียมพร้อม การห้ามผู้ชุมนุมให้เข้าที่พื้นที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นสภาวะเข้าใกล้อนาธิปไตยหรือการที่ไม่มีฝ่ายใดยอมรับกติกาหรือกฎหมายของบ้านเมือง เช่น การไม่เคารพคำสั่งศาล การปิดกั้นถนน การยกเลิกการเดินรถไฟ การยึดสนามบิน ซึ่งเป็นผลจากการตอบโต้ของประชาชนที่ไร้อำนาจในสังคมและไม่สามารถหาทางออกได้

ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐเองก็กลับใช้กลไกของรัฐในการตอบโต้ผู้ชุมนุมจากความได้เปรียบในกลไกที่ตนเองมีอยู่ เช่น การใช้ช่องทางกฎหมาย การใช้หน่วยงานภาครัฐ และใช้สื่อของรัฐในการสร้างความชอบธรรมและทำร้ายฝ่ายตรงข้าม โดยมุ่งเพียงแค่การเอาชนะซึ่งกันและกัน

องค์กกรกลางจึงใคร่ขอให้ทุกฝ่ายมีสติ และเคารพกฎหมายบ้านเมือง และต่อสู้ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมาย โดยรัฐบาลต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการแสดงท่าทีที่จริงใจ ไม่ใช้ความได้เปรียบในฐานะรัฐทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะเป็นการยั่วยุให้ฝ่ายพันธมิตรและแนวร่วมต้องใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมมาตอบโต้ และมีแนวโน้มของการบานปลายของสถานการณ์เป็นความรุนแรงในวงกว้างทั่วทั้งประเทศ

แม้ว่าแนวทางการเปิดให้เจรจาและไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง จะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นว่า เป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นและความขัดแย้งของสถานการณ์ไปไกลเกินกว่าจะเจรจาต่อรองกันแล้วนั้น แต่มูลนิธิองค์กรกลางฯ เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการเจรจาหรือไกล่เกลี่ย ยังน่าจะเป็นทางออกของสถานการณ์ที่ดีที่สุด โดยมูลนิธิฯพร้อมกับภาคส่วนอื่นๆที่เป็นกลางในสังคม พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานให้ หากมีสัญญาณตอบรับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อนว่าปรารถนาจะให้มีการเจรจาเกิดขึ้น

นายกสภาวิชาชีพด้านสุขภาพวอนอย่ารุนแรง

นายกสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ 6 วิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย 1.ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา 2.ศ.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล 3.ศ.พลโทพิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสภา 4.ศ.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภาเภสัชกรรม 5.ผศ.สมชาย วิริยะยุทธการ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ และ 6.นางสุมนา ตัณฑเศรษฐี นายกสภากายภายบำบัด ได้มีมติร่วมกัน ขอร้องให้ทุกฝ่ายกรุณาอย่าใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

พันธมิตรฯ ตปท.จวกใช้ความรุนแรงสลายม็อบ

นายธัชพงศ์ จันทรปรรณิก แกนนำพันธมิตรฯ กรุงวอชิงตัน ออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 2/255 ประณามการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบ

เนื้อความในแถลงการณ์ ระบุว่า จากเหตุการณ์การใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ร่วมชุมนุมโดยสงบ อย่างเปิดเผยและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในวันที่ 29 สิงหาคม จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก สตรี คนชรา รวมทั้งสื่อสารมวลชนนั้น เป็นประจักษ์พยานได้ว่ารัฐบาลได้ขาดความชอบธรรมในการบริหารราชการต่อไป

ในขณะที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช อ้างความชอบธรรมมาโดยตลอดว่า ได้รับการเลือกตั้งมาตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกลับปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยสิ้นเชิง ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า การชุมนุมใช้สิทธิของประชาชนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ปล่อยให้มีการชุมนุมต่อไปมิได้

รวมทั้ง ยังสนับสนุนให้มีการคุกคามสวัสดิภาพของผู้ชุมนุมมาโดยตลอด เช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ และในกรุงเทพฯ ดังปรากฏให้เห็นเป็นข่าวตลอดมา

ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวนั้นมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจในการบริหารราชการ ซึ่งปรากฏชัดว่ามิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยอันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย รัฐบาลได้ใช้อำนาจอันได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อตนเองพรรคพวกเท่านั้นมาโดยตลอด

ดังเห็นได้จากการประกาศตนเป็นรัฐบาลตัวแทนของนายทักษิน ความพยายามอย่างไม่ลดละในการแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพื่อประโยชน์นายทักษิณและพรรคพลังประชาชน

การแต่งตั้งบุคคลต่างๆ ซึ่งขาดคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา และอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและชอบธรรม การใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างไม่ละอาย ความพยายามแบ่งสรรปันส่วนโกงกินงบประมาณจากโครงการขนาดใหญ่ที่กำหนดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนมากกว่าความจำเป็นต่อสังคม การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของกลุ่มด้วยการยอมสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนไทยกับประเทศกัมพูชา

และที่สำคัญที่สุดคือการเพิกเฉยต่อการคุกคามและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากกลุ่มบุคคลและคนระดับรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของท่าน

จากสาเหตุดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความจงใจละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทย ปกปักษ์รักษารัฐธรรมนูญและสวัสดิภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้จริง จึงเป็นชอบธรรมที่ประชาชนจะออกมาชุมนุมแสดงออกอย่างสงบ เปิดเผยและปราศจากอาวุธ เพื่อปกป้องทรัพย์สินของชาติ รัฐธรรมนูญ และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของปวงชนชาวไทย

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าถึง 100 วัน แสดงให้ชาวโลกประจักษ์ว่า เป็นการชุมนุมแบบอหิงสา เป็นอารยะขัดขืนโดยเด็ก สตรี และผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก การที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช ใช้กำลังตำรวจจำนวนมหาศาลเข้าปราบปรามเด็ก สตรีและผู้สูงอายุ ด้วยการใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธปืน เข้าข่มขู่ทุบตีอย่างทารุญเป็นการกระทำอันป่าเถื่อน ไร้เหตุผล เป็นการกระทำซึ่งไร้คุณธรรมและไร้มนุษย์ธรรม

เราชาวไทยในสหรัฐอเมริกาขอประณามกระทำของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวชว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลทรราช หมดความชอบธรรมในการบริหารราชการต่อไป จึงเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที และเรียกร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้รับผิดชอบรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยไม่ละเว้นเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น