xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.-คณาจารย์รุมสับรัฐบาลยัดเยียด"กบฎ"-NBTจัดฉาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – 30 ส.ว. ชี้ตั้งข้อหา 9 แกนนำกบฏรุนแรงเกินกว่าเหตุ สงสัยภาพพันธมิตรฯ บุกเอ็นบีที มีการจัดฉาก อัดทีวีบางช่องจงใจฉายซ้ำแต่ความรุนแรงด้านเดียว หวังผลจิตวิทยาให้ประชาชนหนุนสลายม็อบ ขณะที่ภาพตำรวจตีพันธมิตรในทำเนียบฯ กลับไม่เผยแพร่ อาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศรุมสับแหลกโต้ตั้งข้อหากบฎรุนแรงเกินเหตุ หวังกำจัดแกนนำพันธมิตรฯ ให้พ้นทาง ขัดขวางการเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เตือนอย่าใช้ความรุนแรง พร้อมกับจี้ “สมัคร” ลาออก

วานนี้ (28 ส.ค.) ที่รัฐสภา ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหาประมาณ 30 คน อาทิ นายตวง อันทะไชย นายสมชาย แสวงการ นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ร่วมกันหารือกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล และชุมนุมขับไล่รัฐบาล ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

นายตวง แถลงผลการหารือว่า ส.ว.เห็นว่าวิกฤติการเมืองจะมีจุดเปลี่ยนถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรง ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงในทุกทาง ขอให้เห็นประชาชนเป็นพลเมือง แม้จะมีคนเห็นต่างจากรัฐบาล

ส่วนการตั้งข้อหากบฏกับ 9 แกนนำ ส.ว. เห็นว่า ทำเกินกว่าเหตุ เพราะผู้ชุมนุม มีเพียงไม้กอล์ฟ คงไม่พอไปเปลี่ยนแปลงการปกครองและล้มล้างประชาธิปไตยได้
น.ส.รสนา กล่าวว่า คืนวันที่ 27 ส.ค. ตนได้เข้าไปดูเหตุการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล พบว่า ผู้ชุมนุม 80% เป็นสตรี และคนพิการ และทุกคนรับรู้สถานการณ์ของตนเอง หากบอกว่า ผู้ชุมนุมเป็นกบฏ ผู้ชุมนุมก็คิดว่า รัฐบาลเป็นกบฏได้เหมือนกัน และตนพบว่า ตำรวจได้เสริมกำลังเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ได้ถอนออก จึงขอให้ตำรวจ อย่าใช้ความรุนแรง

ส่วนการตั้งข้อหา 9 แกนนำ ว่าเป็นกบฏ ตนเห็นว่าแรงเกินไป การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่ยึดแต่กฎหมายอย่างเดียว บอกว่าจะจัดการละมุนละม่อม ก็มีชาวบ้านหัวแตกไปแล้ว ดังนั้นถ้ารัฐบาลและ สตช.ถอนข้อหากบฏได้ จะทำให้ดีกรี ความร้อนแรงของเหตุการณ์ลดลง และคนผิดก็ต้องรับผิด แต่ต้องรับโทษเท่าที่เป็นจริงเท่านั้น

นอกจากนั้น จากการติดตามข่าวของสถานีโททัศน์เอ็นบีที ไม่มีการนำภาพทั้งหมดไปฉาย เช่น ภาพตำรวจตีชาวบ้านหัวแตกในช่วงกลางดึกวันที่ 26 ส.ค. ส.ว.มีภาพบันทึกเหตุการณ์ จึงจะให้สื่อช่องอื่นๆเ อาไปฉายให้ครบถ้วน ขอเรียกร้อง ให้สื่อเสนอข่าวอย่างอิสระและเที่ยงธรรม เพราะบางช่องเอาเพียงบางส่วนมาฉายซ้ำ แล้วซ้ำเล่า ถือว่าเป็นการกระทำรุนแรงต่อสังคม และนำไปสู่การตั้งข้อหากบฏกับแกนนำ

“ดิฉันเคยถูกตั้งข้อหานี้มาแล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และไม่ไปมอบตัวแก่ตำรวจ ให้ตำรวจไปขอหมายศาลมา ดิฉันก็ให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ศาลก็พิจารณาว่าตั้งข้อหาแรงไป สุดท้ายก็ปรับดิฉัน 200 บาท ก็ลองคิดดู สิ่งที่เราเห็นอาจไม่รุนแรง อย่างที่เป็นจริง และถ้ารัฐปฏิบัติหลายมาตรฐาน คนจะเสื่อมศรัทธา อย่างกรณี ชมรมคนรักอุดรเคลื่อนมาทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ตำรวจก็ไม่จัดการ” นางสาวรสนา กล่าว และว่า ส.ว.จะไปดูเหตุการณ์ที่ทำเนียบฯบ่ายนี้ และจะไปพบ 80 คนที่ถูกจับเนื่องจากบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เพราะทราบว่า ไม่มีโอกาสพบทนาย

นายวรินทร์ กล่าวว่า การตั้งข้อหากบฏ เป็นการทำเกินจริง ใช้ยาผิด ระวังจะกลับมาฆ่าตัวเอง และหากจะแจ้งข้อหานี้ก็ต้องแจ้งผู้ชุมนุมทั้งหมด ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ฝ่ายบริหารล้มเหลวในการจัดการ เพราะไม่ใช่อำนาจทางปกครองแต่ใช้การจัดการทางแพ่ง ทั้งนี้ขอย้ำว่า อีกมมุมหนึ่ง รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหาร จากกรณีไม่ทำตามมาตรา 190 ในการลงนามไทย-กัมพูชา ตรงนี้พันธมิตรฯ ก็สามารถเห็นได้เช่นกันว่า ปล่อยให้รัฐบาลทำงานต่อไปบ้านเมืองเสียหาย

น.ส.สุมล กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาขึ้นกับนายกฯเพียงคนเดียว ฉะนั้น ควรลาออก หรือยุบสภา เพราะประชาชนมารวมตัวขับไล่มากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แถมยังโดนเจ้าหน้าที่ทำร้าย ถือว่านายกฯบริหารอะไรไม่ได้แล้ว

จับพิรุธจัดฉากบุกเอ็นบีที

ส่วนกรณีมีคนของกลุ่มพันธมิตรฯ บุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นายตวง แถลงว่า ขอให้สังคมอย่ามองมุมเดียว เพราะภาพที่ออกมาเหมือนมีเงื่อนงำ น่าสงสัยว่าเป็นการจัดฉาก อย่างไรก็ดี ส.ว. ยืนยันว่าหากมีบุคคลใดกระทำผิดก็ต้องลงโทษตามกฎหมาย และปัญหาการเมืองต้องใช้การเมืองแก้

ทางด้านนายสมชาย กล่าวว่า ส.ว.ไม่สนับสนุนการที่พันธมิตรฯไปบุกสถานีเอ็นบีที เพราะละเมิดสิทธิของสื่อ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพที่ออกอากาศทางเอ็นบีที มีบางมุม เสมือนจริงมากเหมือนรายการเรียลริตี้โชว์ และการเสนอข่าวของเอ็นบีที ก็เป็นการปฏิบัติการทางจิตวิทยา เพราะฉายภาพรุนแรงซ้ำๆ พยายามทำให้การชุมนุมดูไม่ชอบธรรม เพื่อใช้กำลังสลาย และให้ประชาชนเห็นด้วยกับการปราบปราม เช่น ไม่เสนอภาพตำรวจ 5 กองร้อยพร้อมกระบองและแก๊สน้ำตา

“การที่นายกฯประกาศให้สื่อเลือกข้าง ทำให้โทรทัศน์เสนอแต่ภาพเอ็นบีที โดนกระทำแต่พอประชาชนโดนกระทำก็ไม่มีภาพ ฉะนั้นขอให้สื่อเสนอข่าวทุกมุม ผู้บริหารสถานีต้องรับผิดชอบต่อสังคม อย่าปล่อยให้โดนสั่งการและทำงานไปอย่างบิดเบือน” นายสมชาย กล่าว

นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สงขลา เปิดเผยว่า ข้อหากบฏที่ตำรวจแจ้งต่อแกนนำพันธมิตรฯ เป็นข้อหาที่รุนแรงเกินเหตุ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งข้อหารุนแรงน่าจะมีเจตนาแอบแฝงที่ไม่ต้องการให้มีการประกันตัว เพื่อจะได้หยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ

อ.จุฬาฯ ชี้อารยะขัดขืนทำได้

ในวันเดียวกันนี้ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายสุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์, นายไชยยันต์ ชัยพร คณะรัฐศาสตร์, นางสุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์, นายวรศักดิ์ มหันทธโนบล คณะรัฐศาสตร์, นางสุภาวดี มิตรสมหวัง คณะสังคมวิทยา ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคิดเห็นของนักวิชาการต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดเหตุการณ์พันธมิตรฯบุกยึดทำเนียบรัฐบาล

นายจรัส กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมานักวิชาการจากหลายสถาบันได้ร่วมหารือต่อสถานการณ์บ้านเมืองและได้ข้อสรุปว่า กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ เกือบ 100 วันที่ผ่านมา แสดงถึงพัฒนการทางการเมืองภาคประชาชนที่มีการพัฒนาขึ้นไปมาก มีการต่อสู้อย่างสันติวิธี ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ใช้กำลังเข้าปราบปราม จึงถือเป็นพัฒนาการด้านบวกที่จะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในอนาคต

นายจรัส กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีและทำเนียบรัฐบาล แม้ว่าสังคมไทยจะมองว่าการยึดสถานที่ราชการเป็นความรุนแรง แต่ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องธรรมดา การประท้วงของบางประเทศมีการตัดน้ำ ตัดไฟ ยึดสถานที่ราชการ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องเลยเถิด อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงต้องยอมรับว่าเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย จากการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน ก็ต้องกล้ายอมรับกับผลของการกระทำ ที่จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี

นายจรัส กล่าวอีกว่า นักวิชาการขอเรียกร้องให้สถาบันหลักทางการเมือง อาทิ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง ออกมามีบทบาทในการคลี่คลายปัญหาครั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นจากรัฐสภา ดังนั้น จึงควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศ ด้วยการเปิดอภิปรายเพื่อร่วมกันหางทางออกให้กับปัญหา หรือให้รัฐสภาแสดงออกอย่างเร่งด่วนถึงการชะลอหรือล้มเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 237 และ 309 ซึ่งเป็นชนวนของความขัดแย้งครั้งนี้ อย่ายืนอยู่เฉยๆแล้วปล่อยให้ 2 ฝ่ายแก้ปัญหากันเอง เพราะจะมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรง ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ถึงทางตัน

สำหรับสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้กำลังหรือความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ติดตามข่าวสารจากฟรีทีวี ช่องต่างๆ พบว่า ยังนำเสนอแต่รายการบันเทิง ควรเปิดพื้นที่ข่าวให้มากขึ้น

สับตั้งข้อหารุนแรงเกินเหตุ

นายจรัส กล่าวอีกว่า ในส่วนของรัฐบาลขอเรียกร้องให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ใช้หลักกฎหมายในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด แต่ควรเป็นกฎหมายที่สมควรแก่เหตุ การตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินไปไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการยั่วยุให้อีกฝ่ายโกรธแค้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากนี้ รัฐบาลต้องไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อ โดยต้องให้สื่อทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และต้องหลีกเลี่ยงการใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

สำหรับพันธมิตรต้องยึดหลักการต่อสู้อย่างสันติวิธีให้ถึงที่สุด เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองภาคประชาชน ในส่วนของนักวิชาการจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ส.ค.นี้ จะมีการจัดเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นเพื่อร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำพันธมิตรต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือไม่ นายจรัส กล่าวว่า หากแกนนำไม่ฟังคำสั่งศาล เลือกจะต่อสู้ด้วยอารยะขัดขืน ก็ทำได้แต่จะต้องพร้อมยอมรับความผิดที่จะตามมาในทุกข้อกล่าวหา

ทางด้านนายไชยยันต์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล แกนนำก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะคำสั่งศาลต้องเป็นที่สุดของทุกเรื่อง และทุกฝ่าย หากไม่ปฏิบัติตามบ้านเมืองจะไม่มีกติกา

เตือนเอ็นบีทีกลับตัวใหม่

นายสุรัตน์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้สื่อรายงานสถานการณ์อย่างเป็นกลาง เสนอมุมมองในเชิงวิเคราะห์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า การบุกยึดทำเนียบฯและสถานีเอ็นบีทีมีที่มาที่ไปอย่างไร สำหรับสถานีเอ็นบีทีเป็นสื่อของรัฐ มาจากเงินภาษีของประชาชน เอ็นบีทีจึงไม่ใช่สื่อของรัฐบาล จึงไม่ควรใช้เอ็นบีทีเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

นางสุภาวดี กล่าวว่า การเสนอภาพข่าวการบุกยึดเอ็นบีทีซ้ำไปมา โดยไม่แสดง ข้อมูลที่รอบด้าน จะมีผลต่อจิตวิทยาทางสังคมและประชาชนผู้รับสาร ซึ่งอาจมองว่าจะมีความรุนแรงถึงขั้นเกิดสงคราม จึงอยากเตือนให้สื่อระมัดระวังการเสนอข่าว สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน และต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของต้นสังกัด ขณะเดียวกัน คนที่เป็นสื่อต้องตะหนักถึงจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ ด้วยความเป็น กลาง

“วันนี้สื่อไม่ได้ทำหน้าที่โดยปราศจากอารมณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่เวทีละครที่จะให้นางร้ายออกมาแสดงอารมณ์ จึงเรียกร้องให้ผอ.ช่อง 11 พิจารณาคัดเลือกผู้ประกาศข่าวที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิของนักนิเทศศาสตร์ อย่าเลือกคนที่หน้าสวย หน้าหล่อแต่ไม่มีจิตวิญญาณของนักนิเทศศาสตร์ วันนี้เราใช้พื้นที่ของทีวีและหนังสือพิมพ์เพื่อความเด่นดัง ผู้ดำเนินรายการของเอ็นบีทีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาเป็น เพียงผู้ที่มาเช่าเวลาของสถานีจัดรายการ จึงไม่ควรให้ใครก็ได้มาใช้เวลาของสถานี กล่าวโทษคนในสังคมอย่างไร้ความรับผิดชอบ หากผู้บริหารเอ็นบีทีปล่อยไว้เช่นนี้จะถูกตราตรึงว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้องในฐานะสื่อของรัฐ” นางสุภาวดี กล่าว

อธิการนิด้าชี้เกมทำลายพันธมิตรฯ

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ว่า การที่กลุ่มพันธมิตรประกาศที่จะยัดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลชุมนุมต่อไปนั้น เข้าใจว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้วิธีสันติ ปราศจากความรุนแรง เพียงแต่วันนี้ทุกคนอย่าหลงประเด็นว่าการยึดทำเนียบนั้นเป็นความผิดใหญ่หลวง เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดของนักการเมือง ที่ทุจริต คอรัปชั่น สร้างความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล

อธิการบดีนิด้า กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ วันนี้ไม่ใช่เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อทุจริต หรือ ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถ้ามองว่าการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลเป็นความผิดใหญ่ถึงขั้นเป็นกบฏ สงสัยในโลกคงไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง

“ประเด็นที่รัฐบาลดำเนินการโดยการออกหมายจับนั้น เป็นการใช้กฎหมายเพื่อทำลายความชอบธรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องธรรมดาที่คนมีอำนาจทางด้านการเมือง แต่รัฐบาลแบบนี้ ไม่เคยอยู่ได้ การตั้งข้อหา กบฎกว่าการกระทำผิด ฉ้อฉลบ้านเมือง แล้วเอาอำนาจรัฐไปปกป้อง พยายามทำให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอ ต้องยอมรับว่าพันธมิตรฯเป็นมิติหนึ่งของการเมืองภาคประชาชนทำการตรวจสอบนักการเมือง เป็นการเมืองภาคประชาชนเต็มตัว มีเครือข่าย มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก แม้จะมีถ่ายโอนไปสู่แกนนำรุ่นที่ 2 เชื่อว่าพลังการต่อสู้ก็ยังเหมือนเดิม”

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า แนวทางของรัฐบาลที่ดำเนินมาคือการไม่ใช้ความ รุนแรง เข้าสลายการชุมนุมนั้นถูกต้องแล้ว แต่ก็ขอให้เป็นอย่างนี้ตลอดไป แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามจะใช้แล้วก็ตาม ตนเชื่อว่าทหาร ตำรวจ หลายท่านไม่เอาด้วย เพราะมีบทเรียนกันมาหลายครั้งแล้ว ที่ผ่านมาก็ได้สร้างบาดแผลลึกตลอดมา คงต้องปล่อยให้มีการชุมนุมไปเรื่อยๆอาจจะมีปัจจัยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเอง ทำให้ยุติลงได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตนยังหวังให้มีการเจรจากันเพื่อหาข้อยุติให้ได้ แต่หากยังไม่ยอมแพ้กันก็คงต้องรอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี้ยงพล้ำ หมายถึงว่า หากรัฐบาลเพลี้ยงพล้ำหรือต้องการให้เหตุการณ์สงบ ประเทศเดินหน้าไปด้วยดี ก็คือต้องลาออก และหากฝ่ายพันธมิตรเพลี้ยงพล้ำก็คงต้องสลายการชุมนุม และถูกจับดำเนินคดี ถูกลงโทษในที่สุด

อาจารย์บูรพาจี้รัฐบาลสมัครลาออก

ทางด้านนายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำวิชาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรฯยึดทำเนียบและโดนข้อหากบฎว่า ข้อหาที่ตำรวจตั้งให้นั้นรุนแรงไปหรือเปล่า เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่อาจจะเกินเลยไปบ้างในเรื่องของการกระทบสิทธิของบุคคลอื่นด้วย ส่วนการยึดทำเนียบรัฐบาลหากมองไปแล้ว เปรียบไปเหมือนเป็นเชิงสัญญลักษณ์ในการยึดอำนาจจากรัฐบาลมากกว่า จะมีเจตนาเป็นอย่างอื่น

“ในมุมมองของผมการบริหารงานรัฐบาลที่ผ่านมา ผิดพลาดหลายครั้ง ทางที่ดีนายกรัฐมนตรีควรจะลาออก หรือยุบสภา เพื่อลดกระแสความกดดัน”

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหรือบุกเข้าจับกุมแกนนำที่ถูกออกหมายจับ เพราะการยึดทำเนียบของพันธมิตรฯ เป็นโฟกัสสำคัญที่สื่อทั้งในและต่างประเทศเฝ้าจับตา หากมีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราบจะเกิดผลกระทบกับรัฐบาลเป็นอย่างมาก รัฐบาลควรใช้กลไกในส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น อาศัยคำสั่งศาลหรือยอมเจรจาอย่างสันติวิธี

ส่วนการออกหมายจับ 9 แกนนำในข้อหากบฎ เรื่องนี้เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ตำรวจมีอำนาจในการตั้งข้อกล่าวหาอย่างกว้างขวาง ทำให้ในบางครั้งมีการตั้งข้อหาที่รุนแรงจนเกินไป ขณะที่การตีความกฏหมายก็ยังมองได้หลายมุม

คณาจารย์ มข.-โคราชแย้ง "กบฎ"

วานนี้ (28 ส.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนักวิชาการจากคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยขอนแก่นประมาณ 20 คน

เช่น นพ.ชวลิต ไพโรจน์กุล, นายสมศักดิ์ หอมดี, นายสัมพันธ์ เตชะอธิก, นายกิตติบดี ใยมูล, นพ.เฉลิมชัย ภิญญานุรักษ์, นายวรนันท์ บุนนาค, นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์, นายสมศักดิ์ หอมดี ฯลฯ ได้ประชุมหารือถึงสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหากบฏกับแกนนำ 9 คน โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมงและได้แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน

นายรวี หาญเผชิญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์การตั้งข้อหากบฏกับแกนนำพันธมิตรฯ 9 คน กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เกินเลย ไม่ชอบธรรมและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องด้วยกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้กระทำผิดและเข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 113 และ 114

การยึดอำนาจรัฐโดยใช้กองกำลังอาวุธทำรัฐประหาร หรือใช้อาวุธปืนจี้บังคับผู้นำประเทศให้ลงจากอำนาจและประกาศจัดตั้งรัฐบาล จึงไม่เข้าข่ายหรือรูปการของการเป็นกบฏแต่อย่างใด การตั้งข้อหากบฏเหมือนในอดีต กรณี 14 ตุลาคม 2516 เป็นข้อหาที่ล้าหลัง เป็นเผด็จการ ถือเป็นการขัดขวางพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้นข้อหากบฏจึงเป็นข้อหาไม่ชอบ สมควรยกเลิกทันที

การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย การบุกเข้าไปยึดทำเนียบฯ อันเป็นมาตรการผลักดันให้รัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีลาออก ความผิดมีเพียงแค่การบุกรุกสถานที่ราชการ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ ซึ่งรัฐบาลต้องใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการต่อไป

อนึ่ง การใช้ความรุนแรงในการปราบปราม โดยตำรวจหรือทหารต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ประกอบด้วยผู้หญิง คนชรา จำนวนมากหลายหมื่นหลายแสนคน นับเป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่สมควรอย่างยิ่ง กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยฯ ขอให้ตำรวจและทหารได้คำนึงถึงมนุษยธรรม และขอคัดค้านการใช้อาวุธปราบปรามประชาชนทุกรูปแบบ

กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้สื่อของรัฐ เช่น เอ็นบีที วิทยุคลื่น 105 เครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ ในการให้ข้อมูลที่บิดเบือน และปลุกระดมประชาชนให้มาเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน แต่ควรใช้เพื่อการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน

ทางด้าน นายอดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า กรณีที่ตำรวจตั้งข้อหา 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกบฏต่อแผ่นดิน ว่า ตำรวจตั้งข้อหาที่เกินความเป็นจริงและรุนแรงเกินไป

ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อหากบฏ ซึ่งการตั้งข้อหากบฏถือว่าเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยไม่ชอบธรรม ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะความผิดตามมาตรา 113 และ 114 จะต้องใช้กองกำลังติดอาวุธทำรัฐประหาร หรือใช้อาวุธจี้บังคับผู้นำประเทศ ซึ่งข้อหากบฏนี้คณะรัฐบาลควรจะถูกกล่าวหามากกว่า

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าการชุมนุมเรียกร้องของพันธมิตรฯได้ชุมนุมกันมานานกว่า 90 วัน จึงทำให้เกิดการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง สิ่งที่พันธมิตรดำเนินการอยู่นั้นได้สะท้อนการต่อต้านรัฐบาลนั้นไม่ใช่เป็นกบฏ การตั้งข้อกล่าวหานี้จะยิ่งทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมมากขึ้น และจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรง

“ผมขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล พิจารณาตัวเอง ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย และหากรัฐบาลยังดื้อดึง ก็จะยิ่งทำให้มีประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางเข้าไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร ขอยืนยันว่าการชุมนุมของพันมิตรฯเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐธรรมนูญกำหนด” ดร.อดิศร กล่าว

เครือข่ายสมานฉันท์ฯ ซัดลุอำนาจ

ทางด้านนักวิชาการเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง ประกอบด้วย นาย นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ นายเจริญ คัมภีรภาพ และนายคมสัน โพธิ์คง ออกจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุด เรื่องการนำวิกฤตออกจากอำนาจ เรียนผู้แทนปวงชนชาวไทย สรุปความได้ว่า สถานการณ์บ้านเมืองได้รุนแรงขึ้น อันมีต้นตอและผลสืบเนื่องจากวิกฤตความชอบธรรมในทางการเมือง ที่แสดงออกจากพฤติกรรมการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลปัจจุบันที่มีท่าทีวางเฉยในความรับผิดชอบในทางการเมือง

ตลอดจนความมีจริยธรรมในทางการเมือง ดังเห็นได้จากกรณีการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในการลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแต่รัฐบาลก็มิได้แสดงความรับผิดชอบหรือแก้ไข สถานการณ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติแต่อย่างใด จนนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนที่แสดงออกด้วยวิธีการอารยะขัดขืนอย่างกว้างขวาง

แทนที่รัฐบาลนี้จะระมัดระวังในการใช้อำนาจรัฐ และแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบในการบริหารแบบธรรมาภิบาลที่ดี แต่กลับมีพฤติกรรมการใช้อำนาจในลักษณะแบบรัฐตำรวจจับกุมขุมขังและตั้งข้อหาประชาชนที่แสดงออกซึ่งอารยะขันขืนโดยสันติวิธี จากทัศนะคติที่คับแคบมองประชาชนดังกล่าวเป็นเพียงศัตรูทางการเมืองที่จะต้องขจัดให้พ้นไป

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว อันส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย อีกทั้งพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหลีกหนีความผิดจากการยุบพรรค

การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ความมุ่งหมายในการกระทำดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งการขาดความชอบธรรมต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลซึ่งจะต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

พวกเราในฐานะที่เป็น คณาจารย์ทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จากหลายมหาวิทยาลัย ได้ติดตามปัญหาดังกล่าวนี้มาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา รู้สึกวิตกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้อำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถือว่ามีที่มาจากการรับรองของท่านตามความแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 172

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบสูงสุดและเสียสละของท่าน พวกเราขอเรียกร้องในมโนธรรมสำนึกของท่านได้โปรดใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ ดำเนินการในทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งการใช้อำนาจ และ ไม่ดำรงตนในฐานะที่จะสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลนี้อยู่ใช้อำนาจต่อไป จึงไม่มีหนทางใดที่เหมาะสมในขณะนี้ดีเท่าการเสียสละ ด้วยการลาออกเพื่อนำวิกฤติออกจากอำนาจโดยเร็ว

สภาทนายฯ ยันไม่เข้าข่ายกบฎ

ด้านนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา ประธานสภาทนายความภาค 2 กล่าวว่า การที่พันธมิตรฯ ชุมนุมประท้วงรัฐบาลไม่ใช่การยึดอำนาจ ไม่เข้าข่ายข้อหากบฎ สำหรับภาพที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการยึดสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีทีนั้น ตนก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ก็งงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตำรวจกว่า 300 นายไม่ห้าม แต่พอยึดเสร็จกลับออกมาถูกจับทันที เหมือนกับการจัดฉาก
กำลังโหลดความคิดเห็น