xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขคนไทยพุ่ง สวนทางGDPตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ประมวลภาพความสุข*ทุกข์ของคนไทย ปี 2551 โดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนผู้ที่พักอาศัยใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี จันทบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 4,122 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 - 27 ธันวาคม 2551
นายนพดล กล่าวว่า ความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness หรือ GDH) ในช่วงเวลาของการสำรวจคือ ระหว่าง 20 -27 ธันวาคมที่ผ่านมา ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 6.55 มาอยู่ที่ 6.81 ของคะแนนเต็ม 10 คะแนน
สวนทางกับแนวโน้มการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP กำลังตกต่ำลง ผลวิจัยครั้งนี้ จึงเป็นการตอกย้ำสมมติฐานอีกครั้งว่า ความสุขของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และบางครั้งกลับมีแนวโน้มสวนทาง กับแนวโน้มความมั่งคั่งทางวัตถุ เพราะความสุขของประชาชนยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ
สำหรับคนไทยแล้ว ในผลวิจัยครั้งนี้ พบความสอดคล้องกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ว่า คนไทยยังคงมีความสุขต่อความจงรักภักดีมาเป็นอันดับที่หนึ่ง ด้วยค่าเฉลี่ยความสุข อยู่ที่ 9.19 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อันดับที่สอง เป็นบรรยากาศ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ได้ 7.88 คะแนน อันดับที่สาม ได้แก่ สุขภาพกาย ได้ 7.39 อันดับที่สี่ ได้แก่ สุขภาพใจ ได้ 7.36 อันดับที่ห้า ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น สภาพถนน ไฟฟ้า ดิน อากาศ น้ำ เป็นต้น ได้ 6.78 และอันดับรองๆ ลงไปคือ วัฒนธรรมประเพณีไทย ได้ 6.76 หน้าที่การงานและอาชีพได้ 6.65 บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนได้ 6.31 การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ 6.28 ความเป็นธรรมทางสังคมได้ 5.72 และสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนได้ 4.98 เป็นต้น
นายนพดล กล่าวว่า เมื่อจำแนกความสุขมวลรวมของประชาชนออกตามภูมิภาค พบว่า คนกรุงเทพมหานครมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยสูงที่สุดในการวิจัยครั้งนี้ คืออยู่ที่ 6.99 รองลงมาคือ คนในภาคกลาง 6.85 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.83 ภาคเหนือ 6.67 และภาคใต้ได้ 6.39 คะแนน นับว่าเป็นผลวิจัยที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นตัวเลขแบบนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะความสุขของคนกรุงเทพมหานครที่มักจะพบว่ามีค่าความสุขเฉลี่ยต่ำกว่าประชาชนในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข่าว หรือ สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุข ในช่วงปี พ.ศ.2551 ที่ผ่านมามากที่สุด ร้อยละ 92.4 ระบุ การที่ได้เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี รองลงมาคือ ร้อยละ 82.1 ระบุการยุติการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ / นปช. อันดับที่สาม ร้อยละ 80.3 ระบุ นักกีฬาไทยได้เหรียญแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน อันดับที่สี่ ร้อยละ 74.8 ระบุ ความรัก ความเข้าใจของคนในครอบครัว อันดับที่ห้า ร้อยละ 71.5 ระบุได้เห็นคนไทยรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจต่อกัน
อันดับรอง ๆ ลงไปคือ ร้อยละ 70.3 ระบุวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ร้อยละ 62.9 ระบุเห็นเด็กและเยาวชนไทย เก่ง ได้รับรางวัลต่าง ๆ ในต่างประเทศ ร้อยละ 58.2 ระบุการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 54.6 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง และร้อยละ 47.0 ระบุ การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ (นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี) ตามลำดับ
แต่ข่าว หรือ สิ่งที่ทำให้คนไทยเป็นทุกข์ ตลอดปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา อันดับแรก หรือร้อยละ 93.7 ระบุ เหตุการณ์ 7 ตุลาคม และการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับ นปช. อันดับที่สอง ร้อยละ 85.5 ระบุเศรษฐกิจ ตกต่ำ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูงขึ้น อันดับที่สาม ร้อยละ 84.1 ระบุปัญหาขัดแย้ง วุ่นวายทางการเมือง พฤติกรรมนักการเมือง อันดับที่สี่ ร้อยละ 76.3 ระบุปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ อันดับที่ห้า ร้อยละ 74.4 ระบุปัญหายาเสพติด และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
รองๆ ลงไปได้แก่ ร้อยละ 71.8 ระบุปัญหาการชุมนุมประท้วง ปิดถนน ร้อยละ 63.2 ระบุปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและมลพิษสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 55.9 ปัญหาชายแดนไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน ร้อยละ 50.7 ระบุปัญหาความไม่มั่นคงในอาชีพ / ว่างงาน และร้อยละ 48.9 ระบุปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น การรีดไถประชาชน ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น