“เอแบคโพลล์” เผยผลวิจัยความสุขมวลรวมของคนไทยลดลง แต่ผู้ที่หันมาใช้หลักเศรษฐกิจแบบพอเพียงกลับมีสุขเพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐบาลหมัก 1 ควรยึดเป็นแบบอย่างเพื่อใช้บริหารประเทศ ดีกว่าใช้นโยบายประชานิยม มอมเมา ปชช.
วันนี้ (3 ก.พ.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องรายงานดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยประจำเดือนมกราคม กรณีศึกษากับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,246 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2551 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์ และพบว่า ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.2 หันมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34.5 ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับปานกลาง และร้อยละ 19.3 ใช้เพียงเล็กน้อยถึงไม่ใช้เลย
เมื่อสอบถามถึงความสุขโดยภาพรวม พบว่า ความสุขมวลรวม (GDH) ของคนไทยในพื้นที่ที่ถูกศึกษาครั้งนี้อยู่ที่ 6.47 คะแนน ซึ่งน้อยกว่าค่าคะแนนความสุขมวลรวมของคนทั้งประเทศที่เคยค้นพบที่ 6.90 ในเดือน ตุลาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ค้นพบค่าความสุขสูงสุด คือ 9.31 คะแนนเป็นเรื่องความจงรักภักดี รองลงมาคือ 7.38 คะแนน คือ บรรยากาศภายในครอบครัว เช่น ความรัก ความอบอุ่น การร่วมทุกข์ร่วมสุข เข้าใจซึ่งกันและกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น อันดับถัดมาได้คะแนนเท่ากัน คือ 6.87 คะแนน ได้แก่ เรื่องความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณี เช่น วิถีชีวิตและแนวปฏิบัติของคนไทย และเรื่องสุขภาพกาย อันดับ 5 คือ 6.76 เป็นเรื่องหน้าที่การงาน ความพึงพอใจในงาน
อันดับ 6 คือ 6.70 เป็นเรื่องสุขภาพใจ ความไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ไม่ถูกกดดัน และความสบายใจ อันดับ 7 คือ 6.34 ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ความสะดวกด้านคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อันดับ 8 คือ 5.98 ได้แก่บรรยากาศภายในชุมชน เช่นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีน้ำใจให้แก่กัน เกื้อกูลกัน เป็นต้น อันดับ 9 คือ 5.29 ได้แก่ความเป็นธรรมในสังคม และอันดับ 10 คือ 2.56 ได้แก่สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายนพดล กล่าวว่า เมื่อใช้หลักสถิติวิเคราะห์เชิงลึกแล้วพบว่าสิ่งที่จะทำให้คนไทยมีความสุขมากที่สุด คือ ความสุขใจสบายใจของประชาชน ส่วนสิ่งที่ทำให้คนไทยไม่มีความสุขมากสุดคือ ปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาในครอบครัว ความไม่เป็นธรรมในสังคมและสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลวิจัยยังพบด้วยว่า หญิงมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยสูงกว่าชายคือ 6.53 ต่อ 6.40 และคนที่เป็นวัยรุ่น ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีกับวัยสูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงกว่าวัยอื่นๆ คือประมาณ 6.67 และ 6.62 ที่น่าเป็นห่วงคือ คนในวัย 20-29 ปี มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขต่ำสุดอยู่ที่ 6.21 และคนอายุระหว่าง 30-39 ปี มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขเท่ากับ 6.42 และคนวัย 40-49 ปี มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 6.57 ผลวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า คนที่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันระดับมากถึงมากที่สุดมีค่าคะแนนความสุขสูงสุด คือ 6.99 ขณะที่คนที่ใช้หลักเศรษฐกิจระดับปานกลางมีความสุขอยู่ที่ 6.06 และคนที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงน้อยถึงไม่ใช้เลยมีความสุขอยู่ที่ 6.01 เท่านั้น
นายนพดล กล่าวว่า ผลวิจัยชี้ชัดหลายครั้งแล้วว่าคนที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมากก็สุขมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงน่าจะสานต่อหลักปรัชญาและแนวปฏิบัติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นจริงอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน