xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมั่นTSFCมีเงินจ่ายหนี้ ฟื้นฟูไม่ทันขายสินทรัพย์ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ประเมินTFSC มีสินทรัพย์มากพอจ่ายหนี้ โดยมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 8,000 ล้านบาท ที่สามารถจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ถึง 92.7% ไม่รวมเครื่องใช้สำนักงาน พร้อมเชื่อมั่นแผนฟื้นฟูกิจการจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนแน่

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (TSFC) ได้ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และคณะกรรมการบริษัทได้มีมติที่จะดำเนินการเพื่อนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของกิจการนั้น เบื้องต้นพบว่า TSFC มีตราสารหนี้ที่เป็นปัญหา โดยมีมูลค่าขายให้กับนักลงทุนสถาบันประมาณ 5,000 - 6,000 ล้านบาท

ส่วนผลการประชุมร่วมกันของหน่วยต่างๆ อาทิ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการตีมูลค่าตลาดของตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระเป็น 0 ขณะที่ตราสารหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระก็ให้ตีมูลค่าตลาดเป็น 0 เช่นกัน ดังนั้น จึงทำให้มูลค่าตราสารหนี้ของ TSFC มีมูลค่าเป็น 0 ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม TSFC มีตราสารหนี้ประเภทตั๋ว B/E ที่ได้ครบกำหนดชำระคืนไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท และยังเหลือตราสารหนี้ที่ยังไม่ครบการครบกำหนดชำระอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการเพิ่มทุนและชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แต่หากฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จจะต้องนำสินทรัพย์ออกมาขายทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงมองว่า TSFC ยังไม่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด เนื่องจากยังมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง

ปัจจุบัน พบว่า TSFC มีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยแบ่งออกเป็นเงินสดประมาณ 600 ล้านบาท เงินลงทุนในหลักทรัพย์ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นหุ้น และกองทุนรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จินโลน) ประมาณ 3,500 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการแยกส่วนการลงทุนที่เป็นตราสารหนี้ของ TSFC ออกจากการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ กองทุนรวมไว้ต่างหาก (set aside) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดย TSFC

ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการนำมูลค่ายุติธรรมของตราสารของ TSFC ที่ประกาศโดย ThaiBMA ดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เพื่อใช้อ้างอิงในราคาซื้อหน่วยลงทุนให้กับสมาชิกกองทุนที่เข้าใหม่ และขายคืนหน่วยลงทุนสำหรับสมาชิกที่ลาออกหรือเกษียณอายุจากกองทุนในระหว่างนี้ อย่างไรก็ตามจนกว่า TSFC จะจ่ายชำระหนี้คืนให้กับกองทุน โดยจากคาดการณ์ว่าสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีอยู่นี้น่าจะสามารถชำระหนี้สินให้เจ้าหนี้ได้กว่าประมาณ 92.7% โดยยังไม่นับรวมสินทรัพย์อื่นที่เป็นเครื่องใช้สำนักงาน ซึ่งส่วนที่เหลือจะได้คืนในภายหลังจากที่นำสินทรัพย์อื่นๆ เข้ามาซื้อขายแล้ว

สำหรับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย นับว่าเป็นหน่วยงานกลางในการรับจดทะเบียนและจัดให้มีราคากลางของการซื้อขายตราสารหนี้ที่เป็นอิสระ สามารถจัดให้มีมูลค่ายุติธรรมของตราสารที่เสนอขายโดย TSFC ที่สะท้อนถึงข้อมูลและสถานะการดำเนินงานของ TSFC ที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถใช้อ้างอิงในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้

ล่าสุด (วันที่ 17 ธันวาคม)บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิต(เรตติ้ง)องค์กรของTSFC เป็น "D" หรือฟอลต์ จากระดับ "C" หลังบริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา จำนวน 400 ล้านบาท พร้อมทั้งยกเลิก "เครดิตพินิจ" ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเป็น "ลบ" ออกจากอันดับเครดิตดังกล่าว

ขณะที่ TSFC เคยอยู่อันดับสูงสุดที่ระดับ "A" จากนั้นได้ลดลงมาอยู่ที่ "BBB-" ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดของอันดับลงทุน(investment grade) สาเหตุที่ทริสลดเรตติ้งของTSFC ลงต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากเงินกองทุนของ TSFC เมื่อคำนวณมูลค่าตามราคาตลาดเสื่อมค่าลง เนื่องจากบริษัทขาดทุนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น และมีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้มาร์จินโลนจำนวนมาก

อนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) แจ้งว่า ตามที่คณะกรรมการTSFC ได้มีมติที่จะดำเนินการนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของกิจการ โดยมีกำหนดเพิ่มทุนเพื่อสะสางผลขาดทุนและชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2552 นั้น เรื่องดังกล่าวจะมีผลให้ TSFC จะหยุดพักการชำระหนี้สินให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึงกองทุนรวมที่ได้ลงทุนไว้ในตราสารหนี้ของ TSFC นับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะมีการดำเนินการฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ตามแผน

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดย TSFC โดยก่อนหน้านี้ กองทุนเปิดที่สามารถไถ่ถอนได้ในระหว่างทางในลักษณะที่ไม่ใช่ auto redemption ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ของ TSFC ได้ดำเนินการแยกส่วนการลงทุนที่เป็นตราสารหนี้ของ TSFC ออกจากการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ กองทุนรวมไว้ต่างหาก (set aside) เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และนับตั้งแต่วันพุธที่ 17 ธันวาคม 2551 ที่ได้มีการหยุดพักชำระหนี้ของ TSFC กองทุนรวมประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ที่มีสัดส่วนการลงทุนตราสารของ TSFC มากกว่าร้อยละ 5 ก็ได้ทำการกันแยกทรัพย์สินที่ได้ลงทุนไว้ออกมาจากทรัพย์สินอื่น (Set Aside) แล้วเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ลงทุน

ดังนั้นเมื่อกองทุนรวมดังกล่าวได้รับชำระเงินคืนก็จะนำเงินนั้นมาเฉลี่ยจ่ายคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามส่วนให้เฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันที่ได้ทำการ set aside ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจัดการไม่นำการลงทุนในตราสารหนี้ของ TSFC ไปรวมในการคำนวณ NAV ของกองทุนรวม

โดยหาก TSFC สามารถดำเนินการฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ ทางสมาคมบลจ.คาดว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่กองทุนรวมที่ลงทุนไว้ในตราสารของ TSFC จะได้รับการชำระหนี้คืน โดยบริษัทจัดการจะติดตามการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของ TSFC อย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ และจะเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับทราบต่อไป

ก่อนหน้านี้นางสาวอารยา ธีระโกเมน ประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) กล่าวว่า ตามที่ TSFCได้ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน คณะกรรมการบริษัทได้มีมติที่จะดำเนินการเพื่อนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของกิจการนั้น TSFC มีกำหนดจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยมีกำหนดเพิ่มทุนเพื่อสะสางผลขาดทุนและชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งภายหลังจากศาลล้มละลายรับคำร้องแล้วจะเป็นเหตุให้ TSFC ต้องพักการชำระหนี้สินให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้ลงทุนไว้ในตราสารหนี้ของ TSFC จนกว่าศาลล้มละลายจะมีมติเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูกิจการและ TSFC ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผนที่ได้รับความเห็นชอบได้

โดยตามประกาศของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กำหนดไว้ว่า กรณีที่มีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน และ/หรือฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ จนทำให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อาจไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหนี้สิน หรือภาระผูกพันที่มีในหลักทรัพย์ใดที่บริษัทนั้นเป็นผู้ออกได้ บริษัทจัดการจะประเมินมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์นั้นใหม่ ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนทันที ซึ่งในกรณีนี้ สมาคมได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว เห็นว่าสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการรับจดทะเบียนและจัดให้มีราคากลางของการซื้อขายตราสารหนี้ที่เป็นอิสระ สามารถจัดให้มีมูลค่ายุติธรรมของตราสารที่เสนอขายโดย TSFC ที่สะท้อนถึงข้อมูลและสถานะการดำเนินงานของ TSFC ที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถใช้อ้างอิงในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
กำลังโหลดความคิดเห็น