ต้องบอกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ "TSFC" หรือ บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ...เป็นซีรีส์ที่ได้รับความสนใจจากวงการตลาดทุนในบ้านเรา ไม่แพ้กรณีของ "บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "PICNI" เลยทีเดียว ถึงแม้ต้นเหตุของปัญหาจะต่างกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะซ้ำรอยกันก็ว่าได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้อย่าง "กองทุนรวม"
ก่อนอื่น...ขอย้อนรอยที่มาของวิบากกรรม "TSFC" ก่อนว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร...เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นจากการที่ บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของ TSFC ลง 4 อันดับ จาก “A” เป็น “BBB-” แต่ยังคงอยู่ในกลุ่ม investment grade โดยให้เหตุผลว่าเงินกองทุนของ TSFC เมื่อคำนวณมูลค่าตามราคาตลาดเสื่อมค่าลง เนื่องจากบริษัทขาดทุนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น และมีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ margin loan ...
สาเหตุของการหั่นเครดิตของ"TSFC" ในครั้งนี้ ...เกิดจากการที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลดลงอย่างมากในช่วงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จนทำให้ TSFC ขาดทุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของพอร์ตตัวเองเป็นจำนวนมาก จนมีเงินกองทุนต่ำ...และเป็นที่มา
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หลายฝ่ายมองว่าแนวทางในการแก้ปัญหาไม่น่าจะยาก เพราะผู้ถือหุ้นซึ่งส่วนใหญ่ เป็นหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ซึ่งการที่รัฐเป็นเจ้าของ ไม่น่าจะถูกปล่อยให้ล้มไปง่ายๆ...โดยในช่วงนั้น แนวทางในการเยียวยาที่ทุกฝ่ายเห็นเป็นเสี่ยงเดียวกันคือ การเพิ่มทุน เพื่อให้ธุรกิจของ TSFC เดินต่อไปได้
ในฝากของกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้เอง ก็ออกมาตรการมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยเช่นกัน...ไม่ว่าจะเป็นการทำ "Set Aside" ที่กำหนดให้กองทุนเปิดที่สามารถไถ่ถอนได้ในระหว่างทางในลักษณะที่ไม่ใช่ auto redemption ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ของ TSFC ดำเนินการแยกส่วนการลงทุนที่เป็นตราสารหนี้ของ TSFC ออกจากการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ กองทุนรวมไว้ต่างหาก หรือ Set Aside
ส่วนแนวทางของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ให้นำมูลค่ายุติธรรมของตราสารของ TSFC ที่ประกาศโดย ThaiBMA ไปใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อใช้อ้างอิงในราคาซื้อหน่วยลงทุนให้กับสมาชิกกองทุนที่เข้าใหม่ และขายคืนหน่วยลงทุนสำหรับสมาชิกที่ลาออกหรือเกษียณอายุจากกองทุนในระหว่างนี้ จนกว่า TSFC จะจ่ายชำระหนี้คืนให้กับกองทุน
ทั้งนี้ ความพยายามช่วงแรกๆ ในการเพิ่มทุน ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่จนแล้วจนรอด ทุกอย่างกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคาดหวัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับ TSFC หลายคนมองว่า เกินเยียวยาแล้ว และบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นตอนนี้ การมี TSFC หรืออยู่ไม่ คงไม่จำเป็นแล้ว...และนี่เอง กลายเป็นที่มาของแผนการเพิ่มทุน ที่ต้องสะดุดไปเนื่องจากไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ถือหุ้นในส่วนของโบรกเกอร์ ถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกโรงเป็นแม่งานในการเพิ่มทุนครั้งนี้ ก็ตาม...
แต่จากความพยายามดังกล่าวที่ยังไม่เป็นผล ทำให้ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกโงอีกครั้ง...โดย ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาย้ำว่า ในสัปดาห์นี้ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทั้งระบบจะต้องสรุปในเรื่องการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ "TSFC" ซึ่งหากไม่สามารถรวบรวมเม็ดเงินในการร่วมซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ถึง 150 ล้านบาท จนทำให้การเพิ่มทุนของ TSFC ไม่ประสบความสำเร็จ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีการดำเนินการใดเพิ่มเติมอีก เพราะ ถือว่า บล.ต่างๆไม่ต้องการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ TSFC ดำเนินธุรกิจต่อไป
ทั้งนี้ TSFC จะต้องเพิ่มทุนให้ได้ 800 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะใส่เงิน 250 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลัง จะใช้สิทธิตามสัดส่วน 100 ล้านบาท และบล. ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขอความร่วมมือไปยังบล.ทั้งระบบที่มี 31 แห่ง ให้ร่วมกันใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน จากที่ได้ใช้บริการของ TSFC ในการดำเนินธุรกิจ
ในส่วนของการดำเนินงานของผู้กำกับใหญ่อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ล่าสุด คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้พิจารณาคำร้องขอของ TSFC ที่ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้และทุนโดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ตามที่ TSFC ร้องขอ โดยที่จะต้องรายงานความคืบหน้าต่อ ก.ล.ต.ทุกเดือน เนื่องจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้และทุนดังกล่าวเป็นแผนที่บริษัท ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ เห็นชอบด้วยกันแล้ว และแผนมีความคืบหน้าไปมาก การขยายระยะเวลาจึงจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยรวม
เสียงสะท้อนจากเจ้าหนี้
"ASTVผู้จัดการกองทุนรวม"ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "เจ้าหนี้" เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานแก้ปัญหา TSFC ที่เดินมาถึงวันนี้ สรุปใจความได้ว่า ในฐานะเจ้าหนี้แล้ว คงไม่มีความคาดหวังใดนอกเหนือไปจากการได้หนี้คืนให้ครบมากที่สุด ซึ่งในเคสนี้ ถึงแม้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแง่ของการดำเนินธุรกิจ แต่แนวทางในการดำเนินงานแก้ปัญหาหรือแนวทางในการปฏิบัติ ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ถือว่ายังไปในทิศทางเดียวกันอยู่ ซึ่งทำให้การดำเนินงานในการติดตามหนี้ เป็นไปได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ TSFC ถือเป็นสถาบันการเงินที่มีภาระกิจเฉพาะเจาะจง ดังนั้น น่าจะได้รับการดูแลจากทางการมากกว่านี้ ซึ่งการที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้มีใครโดดเด่น ทำให้ไม่มีเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน อันเป็นสาเหตุให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ช้า ซึ่งเรื่องนี้ เจ้าหนี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะเกิดความเสียหาย แต่ในเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว คงต้องแก้ไขสถานะของตัวเองด้วย เพื่อให้เรียกหนี้กลับมาให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด
สำหรับแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้เรียกหนี้กลับมาได้มากที่สุดนั้น ทางเจ้าหนี้เอง ก็มีการพิจารณาแล้วว่าหนทางไหน น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่เลวร้ายสุดๆ คือ ปิดกิจการ แล้วนำทรัพย์สินของ TSFC ไปขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่สุดท้าย ต้องดูด้วยว่า จำนวนเงินที่เราจะได้กลับมานั้น จะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งแนวทางนี้ อาจจะต้องใช้เวลา เพราะต้องผ่านกระบวนการกฏหมาย
หรือหากพิจารณาในแนวทางที่ดีกว่านั้น คือ ให้มีการดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการต่อไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ถ้าทำได้เร็ว และได้หนี้คืนมากกว่า ก็ดีกับลูกค้าของเรา
ซึ่งทั้ง 2 แนวทาง เรามีการชั่งน้ำหนักว่า แนวทางไหนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของเรามากที่สุด โดยเราเองมองถึงภาพของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ด้วยว่า อะไรน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่จะใช้เป็นแนวทางในการเดินหน้าต่อไป ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเป็นแกนนำฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเราเองเห็นว่า แนวทางนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของเรามากที่สุด
และถึงวันนี้ แนวทางในการฟื้นฟูกิจการของ TSFC ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราในฐานะเจ้าหนี้ ไม่ได้เจตนาหรือต้องการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น แต่เราต้องการแค่ให้เงินที่ยืมไป คืนกลับมาให้ครบมากที่สุดเท่านั้น เช่นเดียวกัน การดำเนินการของเจ้าหนี้ ไม่ได้เข้าไปกดดัน แต่เพราะยังมีลูกค้าของเรารออยู่ข้างหลังด้วย
สำหรับลูกค้าที่เป็นเจ้าของเงินเอง...เราอยากให้เข้าใจว่า "เราเองยืนอยู่ในจุดที่จะยันให้ได้หนี้คืนให้มากที่สุดและเร็วที่สุดอยู่แล้ว"
...บทสรุปสุดท้าย จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป...ที่สำคัญ ความพยายามครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์ ที่ออกมาขีดเส้นตาย ให้โบรกเกอร์เร่งใส่เงินเพิ่มทุนภายในสัปดาห์นี้ จะได้รับการตอบรับหรือไม่...