ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงพอจะทราบกันบ้างแล้ว สำหรับกระแสข่าวการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (ดาวน์เกรด) ของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด หรือ TSFC โดยบริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด ซึ่งได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของ TSFC ลง 4 อันดับ จาก “A” เป็น “BBB-” แต่ยังคงอยู่ในกลุ่ม investment grade โดยให้เหตุผลว่าเงินกองทุนของ TSFC เมื่อคำนวณมูลค่าตามราคาตลาดเสื่อมค่าลง เนื่องจากบริษัทขาดทุนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น และมีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้ margin loan
สาเหตุของการถูกดาวน์เกรดในครั้งนี้... เกิดจากการที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลดลงอย่างมากใน 1-2 เดือนก่อหน้านี้ จนทำให้ TSFC ขาดทุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของพอร์ตตัวเองเป็นจำนวนมาก จนมีเงินกองทุนต่ำ...ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี่เอง ทำให้บริษัท ทริส เรทติ้ง ตัดสินใจประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ของ "TSFC" ดังกล่าว
...อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ มีการประเมินเบื้องต้นแล้วว่า TSFC จะต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหา โดยคิดเป็นเงินเพิ่มทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือ 1 เท่าตัวของทุนจดทะเบียนที่มี 1,000 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 10 ธันวาคมนี้...ซึ่งเราคงต้องติดตามต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว TSFC จะสามารถเพิ่มทุนได้สำเร็จหรือไม่
แต่สิ่งที่จะพูดถึงในวันนี้ ถือ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ...เพราะหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แสดงความเป็นกังวลต่อแผนการเพิ่มทุนTSFC หลังจากนำส่งแผนการเพิ่มทุนนั้น ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เห็นว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดย TSFC สมาคมจึงเห็นควรให้บริษัทสมาชิกพิจารณาดำเนินการให้ กองทุนเปิดที่สามารถไถ่ถอนได้ในระหว่างทางในลักษณะที่ไม่ใช่ auto redemption ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ของ TSFC ดำเนินการแยกส่วนการลงทุนที่เป็นตราสารหนี้ของ TSFC ออกจากการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ กองทุนรวมไว้ต่างหาก หรือ Set Aside โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ซึ่งหลังจากทำ Set Aside แล้ว...เมื่อกองทุนรวมดังกล่าวได้รับชำระเงินคืนก็จะนำเงินนั้นมาเฉลี่ยจ่ายคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามส่วนให้เฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันที่ได้ทำการ Set Aside ซึ่งเป็นวันที่บริษัทสมาชิกจะไม่นำการลงทุนในตราสารหนี้ของ TSFC ไปรวมในการคำนวณ NAV ของกองทุนรวม
...หลายคนได้ยินคำว่า Set Aside อาจจะสงสัยว่า...ขั้นตอนของการ Set Aside เป็นอย่างไรบ้าง เพราะเชื่อว่าหลายคนที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตของ TSFC น่าจะอยากรู้ว่า ผู้จัดการกองทุนเขาจะจัดการกับกองทุนนั้นๆ อย่างไรบ้าง...ขณะเดียวกัน คนที่กำลังคิดจะลงทุนเองก็จะได้รู้ว่า ลงทุนไปแล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับตราสารที่มีปัญหาหรือไม่
กำพล อัศวกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนตัวแทนขาย บลจ.ทหารไทย เล่าให้ฟังว่า การนำหลักเกณฑ์ Set Aside มาใช้ในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยมีการใช้ไปก่อนหน้านี้แล้วในสมัยปี 2541 ซึ่งช่วงนั้นถ้ายังจำกันได้ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทเอกชนหลายต่อหลายบริษัท บางรายถึงขั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนเจ้าหนี้ต้องมาร์กราคาเป็นศูนย์ไปโดยปริยาย (ซึ่งรุนแรงกว่ารอบนี้) และเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีการหยิบหลักเกณฑ์นี้ ขึ้นมาใช้กับหุ้นของ ปตท. ที่มูลค่าลดลงจนประเมินมูลค่าไม่ถูก...และล่าสุด Set Aside ถูกนำมาใช้กับกรณีของ TSFC
เขาได้ยกตัวอย่าง ถึงขั้นตอนของการทำ Set Aside คร่าวๆ ว่า สมมติกองทุนเปิด Z เป็นกองทุนตราสารหนี้ ที่มีการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน (ดังภาพ) ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้รายหนึ่งที่กองทุนเข้าไปลงทุนในสัดส่วน 5% เกิดมีปัญหาทางการเงินขึ้นมา โดยยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ผู้ออกตราสารหนี้ จะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่...ดังนั้น เพื่อความยุติธรรมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะออกจากกองทุน รวมทั้งนักลงทุนที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนใหม่ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงสั่งให้ทำ Set Aside
...นั่นคือ กองทุนดังกล่าว จะต้องแยกส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีปัญหาออกมาไว้ต่างหาก โดยไม่นำไปคำนวนรวมเป็น NAV ของกองทุนรวม ขณะเดียวกัน ต้องแยกบัญชีของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ลงทุนก่อนทำการ Set Aside ออกมาด้วย
ดังนั้น หลังจากทำการ Set Aside ตราสารที่มีปัญหาออกมาแล้ว กองทุนก็จะคำนวนเอ็นเอวี เฉพาะตราสารที่ไม่ได้ทำการ Set Aside เท่านั้น ดังตัวอย่าง จากเดิมที่ต้องคำนวนจาก 100% เป็น 10.00 บาท ก็ต้องคำนวนในสัดส่วน 95% แทน นั่นหมายความว่า เอ็นเอวีของกองทุนหลัง Set Aside แล้วจะลดลงมาอยู่ที่ 9.50 บาท...ซึ่งในส่วนของราคาเอ็นเอวีที่ 9.50 บาทนี้ ก็จะเป็นราคาเอ็นเอวีสำหรับนักลงทุนรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าวด้วย...
อย่าลืมว่า...ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันที่ได้ทำการ Set Aside จะไม่สามารถขายหน่วยลงทุนในส่วน Set Aside ออกมาได้ โดยจะถูกล็อกไว้จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้คืน แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการจะขายหน่วยลงทุนที่เหลือออกไป ก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ หลังจากตราสารที่ Set Aside ออกไปนั้น ได้รับการชำระหนี้คืนมา กองทุนก็นำเงินนั้นมาเฉลี่ยจ่ายคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามส่วน โดยให้เฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันที่ได้ทำการ Set Aside
"กำพล" กล่าวว่า การทำ Set Aside ถือว่ามีความยุติธรรมสำหรับนักลงทุนทั้งขาเข้าและขาออก เพราะถ้าไม่มีการแยกตราสารที่มีปัญหาออกมา ผู้ถือหน่วยก็จะแห่ขายหน่วยลงทุนออกมามาก ทำให้เอ็นเอวีเก่งตัว...และเมื่อเป็นเช่นนั้น กองทุนก็จำเป็นต้องขายตราสารหนี้ออกมาเพื่อรองรับการไถ่ถอน และแน่นอนว่าตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีสภาพคล่องดีกว่า ก็จะถูกขายออกมาก่อน...สุดท้ายแล้ว กองทุนก็ต้องถือแต่สินทรัพย์ที่มีคุณภาพไม่ดี ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนทีหลัง
แต่ในทางกลับกัน หลังจากทำ Set Aside แล้ว นักลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาก็จะได้ลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพดี เพราะได้แยกส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นปัญหาออกไปแล้ว
"หลักการนี้ ถือว่าเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการทำ Set Aside ไม่ได้ทำให้เงินหาย เพราะสิทธิ์ยังมีอยู่ในทรัพย์สินนั้น แต่แทนที่จะได้รับเต็มจำนวน ก็รับไปส่วนหนึ่งก่อนเท่านั้น ซึ่งหลังจากมีการชำระหนี้คืนแล้ว ผู้ถือหน่วยก็จะได้รับเงินนั้นคืน"
เขากล่าวต่อว่า ในกรณีของ TSFC ถือเป็นกรณีพิเศษที่สำนักงานก.ล.ต. นำหลักเกณฑ์ Set Aside มาใช้ ซึ่งการจะกำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์เลยนั้น อาจจะไม่จำเป็น เพราะตามกฏการลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดทางให้กองทุนสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ต่ำกว่า Investment Grade ได้ไม่เกิน 5% อยู่แล้ว ซึ่งหากตราสารหนี้ที่ลงทุนอยู่ ถูกดาวน์เกรดลงมา ก็สามารถคงไว้ตามส่วนดังกล่าวได้....ขณะเดียวกัน การทำ Set Aside จะใช้กับทรัพย์สินที่หามูลค่าของมันไม่ได้ เพราะไม่เป็นธรรมกับคนที่ถือทรัพย์สินนั้นอยู่ รวมถึงไม่เป็นธรรมกับคนที่จะเข้ามาใหม่ด้วย