xs
xsm
sm
md
lg

ฝันร้าย‘พาณิชย์’รมต.ตรายางที่ปรึกษาบลั๊ฟอาจารย์ ‘พรทิวา’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พรทิวา”ฉายแววเป็นรัฐมนตรีตรายาง เปิดตัวได้ไม่ประทับใจ แถลงนโยบายวันแรก ทำได้แค่ให้หัวข้อเร่งด่วนที่จะดำเนินการ แต่รายละเอียดพูดไม่ได้ แถมโบ้ยให้ทีมงานที่ปรึกษาเป็นผู้ตอบแทนแทบทุกเรื่อง ผิดกับ “อลงกรณ์”โชว์กึ๋นเต็มที่ เตรียมเสนอมาตรการกู้วิกฤตส่งออก ของบกลางพันล้านเปิดสำนักงานการค้าอีก 50 แห่งเน้นบุกเจาะตลาดใหม่ พร้อมประสานแบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์ สนับสนุนด้านการเงิน มั่นใจดันยอดส่งออกโต 5% ได้แน่ แถมรับปากดันกฎหมายค้าปลีกให้มีผลบังคับใช้อีก ด้าน“โสภณ”ยันเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ ทั้งรถไฟ รถเมล์เอ็นจีวี ขณะที่ “ชาญชัย”เตรียมประกาศมาตรการฟื้นอุตฯ ต้นปีหน้า

วานนี้ (24 ธ.ค.) เวลา 09.09 น. นางพรทิวา นาคาสัย รมว.พาณิชย์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ พร้อมด้วยเลขานุการ และคณะที่ปรึกษา เดินทางเข้ามารับตำแหน่งวันแรก พร้อมกับสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง โดยมีข้าราชการระดับสูงให้การต้อนรับ และยังมีพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย ร่วมแสดงความยินดี หลังจากนั้นได้ประชุมมอบนโยบายกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์

โชว์งานเร่งด่วนที่ต้องทำ

นางพรทิวา กล่าวกับผู้สื่อข่าว ภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้เน้นให้กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง หลังจากที่ต้นทุนน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาสินค้าบางรายการยังไม่ลดลงตาม

ในด้านการส่งออก จะดำเนินการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถานบันการเงิน เพื่อตอบสนองในด้านสินเชื่อให้กับผู้ส่งออก รวมทั้งจะช่วยหาตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ส่งออกไทย เพื่อผลักดันการส่งออก ส่วนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกในปี 2552 ขอหารือร่วมกับผู้บริหารและภาคเอกชนก่อน ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จะพยายามทำให้การส่งออกขยายตัวให้ได้

สำหรับการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร จะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการแทรกแซงราคาที่เหมาะสม แต่ต้องไม่มากเกินไป และจะเตรียมความพร้อในการประชุมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เช่น การประชุมผู้นำอาเซียน และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ

“เป็น 4 มาตรการเร่งด่วนระยะสั้น ที่จะดำเนินการในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว และเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขวิกฤตของชาติ โดยส่วนตัวไม่กดดัน แม้เอกชนจะตั้งข้อสังเกตเป็นมือใหม่ อยากขอโอกาสให้ทำงานก่อน ฝากละกัน เพราะเป็นรัฐมนตรีป้ายแดง”นางพรทิวากล่าว

รายละเอียดถามที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นางพรทิวาได้ตอบแต่ประเด็นหัวข้อหลักๆ ที่เห็นว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน ส่วนรายละเอียดต่างๆ ได้ขอให้ทีมงานที่ปรึกษาเป็นผู้ตอบคำถามแทน โดยในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ระบุไว้ชัดเจนว่า มีทีมงานที่ปรึกษาสูงถึง 18 คน

โดยนายไชยา ยิ้มวิไล ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการปัญหาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข ก็คือ ปัญหาปากทองให้กับประชาชน ที่จะต้องทำอย่างเต็มที่ การสนับสนุนการส่งออก ที่จะต้องเน้นการบุกเจาะตลาดใหม่ อาทิ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา เป็นต้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำอาเซียน ที่กระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่จะมีการลงนาม

“ปีหน้ามีปัญหาแน่ คนอาจตกงาน 1-1.5 ล้านคน กระทรวงพาณิชย์ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ ผมมาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรี เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ผมที่ธรรมศาสตร์ ผมเห็นว่าจะช่วยงานได้ ก็มาช่วย และผมพร้อมที่จะประสานข้อมูลให้ การทำงานท่ามกลางวิกฤต รัฐมนตรีสุภาพสตรีท่านนี้ แบกไม่ไหว ผมต้องมาช่วย”นายไชยากล่าว

นอกจากนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามรายละเอียดในการผลักดันการส่งออก นางพรทิวาก็ได้ขอให้ที่ปรึกษาอีกท่าน คือ นายอนุรัตน์ โคว้คาสัย เป็นผู้ตอบแทน โดยนายอนุรัตน์แนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ 1 ใน 3 เป็นเจ้าของแบรนด์พรานทะเล และได้ชี้ให้เห็นปัญหาส่งออกว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกามีปัญหาเรื่องค่าเงินสวิง และปัญหาการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จึงอยากให้รัฐบาลเลื่อนโครงการบาเซิล 2 ออกไป 3-12 เดือน เพราะในต่างประเทศก็ชะลอเวลาออกไปแล้ว และอยากให้คงที่อัตราแลกเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน เพราะตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก การตกลงการค้าเกิดการลังเล ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้การส่งออกชะลอตัวลง

“อลงกรณ์”โชว์กึ๋นนักบริหารมืออาชีพ

ในทางกลับกัน นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กลับสามารถให้ข้อมูลและชี้แจงแนวทางการบริหารงานกระทรวงพาณิชย์ได้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท จากงบประมาณกลางที่ครม.อนุมัติเพิ่มเติมใน 1 แสนล้านบาท มาดำเนินการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าเพิ่มเติมอีก 50 แห่ง โดยเน้นในตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS จากเดิมที่มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแล้ว 60 แห่ง

“ผมจะหารือกับรมว.พาณิชย์ก่อน และจะเสนอครม.ให้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมมาดำเนินการ โดยกำหนดระยะเวลาให้จัดตั้งแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ต้องไปขออัตราบุคลากรจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพิ่มเติม เพราะใช้คนในกระทรวงพาณิชย์ที่มีอยู่” นายอลงกรณ์กล่าว

แนวทางการทำงาน สำนักงานฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาจะเป็นลักษณะสำนักงานฯ ชั่วคราว แต่การทำงานต้องทำงานอย่างจริงจัง โดยจะดำเนินการเช่าพื้นที่ทำสำนักงานฯ ในประเทศเป้าหมาย แต่หากประสบความสำเร็จก็จะยกระดับขึ้นมาเป็นสำนักงานฯ ต่อไป

นอกจากนี้ จะผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นแกนหลักในการจัดทำแพ็กกิ้ง เครดิต วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนไทยในการทำการค้าการลงทุน และจะผลักดันรัฐบาลอนุมัติวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เพื่อใช้ประกันความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก

สำหรับแผนงานที่จะดำเนินการข้างต้น จะสามารถผลัดดันให้การส่งออกสินค้าไทยในปี 2552 ขยายตัวได้เกินระดับ 5% ขึ้นไป ซึ่งเป็นเป้าที่กระทรวงพาณิชย์จะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น แม้ว่าเอกชนจะมองการส่งออกในปีหน้าติดลบก็ตาม        

กฎหมายค้าปลีกต้องคลอด

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า จะเร่งผลักดันให้มีการออก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง มาบังคับใช้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของไทย โดยยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการลงทุนของค้าปลีกรายใหญ่ ดังนั้น จึงจะมีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงพาณิชย์ได้ยกร่างไว้ก่อนหน้านี้ มาทบทวนว่าจะต้องปรับปรุงรายละเอียดในส่วนไหนบ้าง ที่ไม่ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าขึ้นมา

“ยืนยันว่าจะผลักดันกฎหมายค้าปลีกค้าส่งแน่นอน แต่ต้องขอดูรายละเอียดของตัวร่างก่อน เพราะที่ผ่านมีการจัดทำขึ้นมาหลายชุด เพื่อมาปรับปรุงใหม่ และจะทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ หากรัฐบาลได้ทำงานแบบอยู่ยาว 3 ปี” นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับมาตรการระยะสั้นที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขยายสาขาของค้าปลีกรายใหญ่นั้น จะหารือกับรมว.พาณิชย์ ว่าจะใช้กฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์มีอยู่ทั้ง พ.ร.บ.และกฎกระทรวง ออกมาตรการควบคุมการดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในส่วนใดบ้าง ระหว่างมาตรการคุมพื้นที่ มาตรการคุมราคา และมาตรการคุมด้านระยะเวลาเปิด-ปิด

ส่วนการดูแลราคาสินค้า กำลังพิจารณาที่จะให้มีการปรับปรุง (รีแบรนด์ดิ้ง) แบรนด์ธงฟ้าใหม่ นอกเหนือแค่การจัดงานแฟร์จำหน่ายสินค้าราคาถูกอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคด้านอื่นๆ ด้วย ขณะที่การดูแลสินค้าเกษตรนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เข้ารื้อมาตรการสินค้าเกษตรที่ครม. รัฐบาลเดิมได้อนุมัติไปแล้ว เช่น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร แต่จะเพิ่มมาตรการอื่นๆ เข้าไปเป็นส่วนเสริมในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มากขึ้น โดยไม่ผิดหลักองค์การการค้าโลก (WTO)

“โสภณ”ดันรถไฟฟ้า-รถเมล์เอ็นจีวี

ทางด้านกระทรวงคมนาคม นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) โดยเน้นว่าโครงการไหนดี ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ จะเดินหน้าโครงการต่อ ซึ่งจะถึงขั้นทบทวนหรือรื้อโครงการที่ทำมาแล้วนั้น คงต้องพิจารณากันอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักจะมอบหมายอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ม.ค.2552 หลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาพแล้ว

“ถ้าโครงการดีแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่จะต้องสามารถอธิบายกับประชาชนได้ และการทำโครงการพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ ขณะเดียวกัน ยังได้ย้ำกับผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 คนจะทำงานอย่างสามัคคีกันเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการ”นายโสภณกล่าว

ทั้งนี้ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการที่สำคัญ ก็คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ

นายโสภณกล่าวว่า สำหรับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มูลค่า 62,598 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น โครงการนี้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการมาไกลแล้ว ก็ควรจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งพร้อมให้มีการตรวจสอบจากทุกฝ่าย และในการทำงานของกระทรวงคมนาคม จะมีการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและกำกับดูแลทุกกระทรวงรับทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

ส่วนนโยบายเร่งด่วนขณะนี้ คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพิ่มเที่ยววิ่งของรถไฟชั้น 3 รองรับการเดินทาง รวมทั้งจะหารือกับผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน ให้ดูแลสภาพรถ คนขับ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน ได้รับข้อเสนอของรถแท๊กซี่ที่ขอให้ทบทวนการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี โดยจะมีการหารือกันอีกครั้งหลังรัฐบาลแถลงนโยบายแล้ว สำหรับการปรับปรุงระบบความปลอดภัยของสนามบิน ยืนยันว่าระบบรักษาความปลอดภัยดีอยู่แล้ว และจะทำให้ดียิ่งขึ้น ส่วนคดีความที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายจากการประท้วง ก็ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเดินหน้า จะไม่เข้าไปก้าวก่าย

“ชาญชัย”ประกาศมาตรการอุ้มอุตฯ ปีหน้า

สำหรับความเคลื่อนไหวของกระทรวงอุตสาหกรรม นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรการและแนวทางแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะสามารถประกาศมาตรการและแนวทางต่างๆ ได้ต้นปีหน้า โดยจะมี 3 ระดับ คือ มาตรการระดับมหภาค มาตรการระดับกลางหรือกลุ่มอุตสาหกรรม และมาตรการระดับรากหญ้า

“สิ่งที่อยากจะเน้น จะพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา โดยออกมาตรการชุดใหญ่ร่วมบูรณาการกับหลายๆ กระทรวงลักษณะครบวงจร โดยการส่งเสริมการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการทำงานจะใช้วอร์รูมหรือคลังสมองเพื่อชาติเป็นศูนย์กลาง ซึ่งขณะนี้ได้ทาบทามภาคเอกชนร่วมทำงานเป็นที่ปรึกษาแล้ว เช่น นายทวี บุตรสุนทร นายดุสิต นนทะนาคร นายสันติ วิลาสศักดานนท์ นายวิกรม และนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายฉัตรชัย บุณยรัตน์ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ และนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล”นายชาญชัยกล่าว

ส่วนการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น ได้ตั้งเป้าหมายให้มียอดผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงกว่า  650,000  ล้านบาท โดยได้ขอความร่วมมือให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเวลาทำงานอีก 1 เท่า ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ส่วนรายละเอียดในการทำงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น