xs
xsm
sm
md
lg

ฉีกหน้ากากเทสโก้โลตัส ฟ้องเรียกพันล้านใช้สิทธิทางศาลไม่สุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน “เปิดหน้ากากเทสโก้ฯค้ากำไรบนซากโชว์ห่วย (2 จบ)” โดย .... ทีมข่าวพิเศษ


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ในส่วนคดีแพ่งนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์ (เทสโก้ โลตัส) จึงไม่เสียหาย การที่โจทก์ มาขอคิดค่าเสียหาย โดยอ้างว่าทำให้ยอดขายสินค้าลดลงมาในจำนวนสูงถึง 1,000 ล้านบาท ทั้งที่ขณะเกิดเหตุผลกำไรส่วนมากของโจทก์มาจากรายได้ทางอื่นมิได้มาจากการซื้อขายสินค้าโดยตรง ส่อแสดงเจตนาถึงการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต”

คำพิพากษาของศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1847/2552 ระหว่างบริษัทเอก – ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด โจทก์ กับ ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ จำเลย เรื่อง หมิ่นประมาท ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในเรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีนั้น การที่โจทก์ชำระภาษีที่สำนักงานใหญ่แห่งเดียวโดยหักค่าใช้จ่าย กำไรขาดทุนของทุกสาขารวมกันได้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร

***การไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้จากโจทก์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะโจทก์เร่งขยายสาขา มีการกู้เงินในรูปของการเพิ่มทุนทำให้ขาดทุนก็ดี เป็นการถ่ายโอนกำไรไปในรูปของดอกเบี้ยก็ดี ภายใต้ประมวลรัษฎากรมีเฉพาะเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยเกินสมควร เกินราคาตลาดเท่านั้น มิได้กำหนดเพดานจำนวนเงินที่ห้ามกู้ทุนต่อดอกเบี้ยอันจะทำให้ส่วนที่เกินไปต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจะนำมาหักเป็นรายจ่ายหรือตัดรายจ่ายไม่ได้ทั้งสิ้นไว้เหมือนกฎหมายของบางประเทศ จึงเป็นเรื่องช่องว่างของกฎหมาย

แต่มูลเหตุตรงนี้เองที่ทำให้จำเลยนำไปกล่าวว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีวิธีหนึ่ง ซึ่งโจทก์ก็รับแล้วว่า เหตุที่จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะมีคนไทยมาร้องเรียนและปัจจุบันยังมีคนไทยที่ต่อต้านเกี่ยวกับการค้าปลักของบริษัทข้ามชาติอยู่ เมื่อมีร้านโชว์ห่วยจำนวนมากเลิกกิจการไปแล้วจริง ประกอบกับร้านโชว์ห่วยที่เหลือก็ได้รวมตัวกันเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาจริง ย่อมต้องถือว่าจำเลยติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3)

แต่ข้อความบางส่วนที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ในด้านลบ กล่าวคือ โจทก์ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการขายสินค้าด้วยวิธีขายต่ำกว่าทุนเพื่อให้ร้านค้าประเภทโชว์ห่วยล้มหายตายจากไป โจทก์ใช้การค้าขายมีการทำสัญญาในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีจริยธรรมในการค้าขาย ฮั้วกันทำกำไรกับบริษัทอื่นๆ เพื่อที่จะผูกขาดตลาดทั้งบนและล่าง

การประกอบกิการของโจทก์ทำให้คนใช้จ่ายอย่างไม่ปกติ หากมีกิจการประเภทเดียวกับโจทก์จะทำให้คนไทยมีการใช้จ่ายไม่สมควรเกินตัว น่าจะคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องกับการประกอบกิจการของโจทก์เสียทีเดียว เพราะต้องไม่ลืมว่าการที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) เข้ามาตั้งและขยายสาขาในประเทศไทยได้ก็เพราะรัฐบาลต้องการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

และหากพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่จะใช้บังคับมีขอบเขตกว้างเกินไปโดยไม่มีแนวทางพัฒนาระบบค้าปลีกค้าส่งที่จะใช้บังคับมีขอบเขตกว้างเกินไปโดยไม่ได้มีแนวทางพัฒนาระบบค้าปลีกค้าส่งที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันแล้วจะมีผลแค่ทำให้การค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาควบคุมในระบบเท่านั้น แต่จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้าปลีกค้าส่งโดยตรงได้ กลับกลายเป็นการเลือกปฏิบัติไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตสินค้าหรือซัพพลายเออร์และพ่อค้าคนกลางที่เคยเป็นเสมือนเสือนอนกินที่ปัจจุบันถูกบีบให้ลดกำไรลงมา ทั้งโจทก์ก็ยังมีกิจกรรมในรูปแบบที่ช่วยเหลือสังคม ทำให้โจทก์มีสิทธิคิดไปได้โดยชอบว่าตนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบด้านเดียวอย่างไม่เป็นธรรม

***แต่เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานข้อมูลการค้าปลีกสมัยใหม่ดังกล่าว ประกอบกับทางไต่สวนได้ความว่า ในการประกอบกิจการของโจทก์นั้น โจทก์เก็บเงินตามสัญญาเช่าพื้นที่ล่วงหน้าทั้งที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างสาขา ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายสินค้าจะได้รับเงินจากโจทก์เมื่อครบเครดิตสัญญาตั้งแต่ 30 – 90 วัน โดยไม่มีดอกเบี้ย

***โจทก์ขายสินค้าที่มีเครื่องหมายประกอบการค้าของโจทก์และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้ารายใหม่ที่หากขายสินค้าไม่ได้ตามเป้าโจทก์ก็จะบอกเลิกสัญญาและให้ผู้ผลิตสินค้าทำโฆษณาสินค้าที่ส่งไปขายกับโจทก์เอง จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอย่างเลื่อนลอยไม่มีมูลความจริงเสียทั้งหมดทีเดียว

แม้ฐานะของจำเลยจำเป็นต้องระมัดระวังในการกล่าวถ้อยคำให้มากกว่าบุคคลทั่วไป แต่อีกนัยหนึ่งก็เพราะเหตุที่มีความเกี่ยวข้องนั้นเองจึงทำให้เห็นว่า หากจำเลยเชื่อว่าความจริงเป็นดังที่ตนเข้าใจแม้จะเป็นการเข้าใจผิดแต่ก็ได้รับความคุ้มครองตามมาตราดังกล่าว ***รับฟังยังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์

ส่วนที่ขณะบรรยาย จำเลยเรียกชื่อโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า โลตัสเปรตก็ดี โรลแบ็คตะหวักตะบวยก็ดี อาจเพื่อเรียกความสนใจของผู้ฟัง จึงเห็นว่า เป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรตามวิสัยสันดานของแต่ละคนเป็นเพียงการใช้ถ้อยคำที่เกินเลยไปเท่านั้น ทำนองเดียวกับที่โจทก์มิได้ฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทั้งที่ตีพิมพ์ข้อความมอบรางวัลบริษัทยอดแย่แห่งปี 2551 ให้โจทก์เป็นอันดับ 1 สำหรับการเป็นผู้สามารถสกัดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน

เมื่อฟังคำบรรยายของจำเลยในการสัมมนาดังกล่าวขาดเจตนาไม่เป็นความผิดแล้ว ดังนั้น แม้ในส่วนของข้อความที่ลงตีพิมพ์จะเป็นการให้สัมภาษณ์ของจำเลยในฐานะโฆษกกรรมาธิการพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม ข้อความที่ตีพิมพ์นั้นส่วนหนึ่งก็เป็นคำบรรยายดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ความว่า จำเลยเกี่ยวข้องหรือใช้ให้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวพาดหัวข้อความไปเช่นนั้น และยังแสดงหลักฐานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับลงวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2550 ทำให้เชื่อว่า หนังสือพิมพ์ดังกล่าว ตีพิมพ์ถ้อยคำของจำเลยผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากจำนวน 3.7 เปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวน 37 เปอร์เซ็นต์จริง

****และเมื่อหนังสือของโจทก์ตามเอกสารก็ยังระบุว่า มูลค่าของบริษัทต่างๆ ซึ่งจำหน่ายผ่านสาขาต่างของห้างค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยอ้างข้อมูลเท็จให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับโจทก์เช่น ***คดีโจทก์ไม่มีมูลตามฟ้อง

***ในส่วนคดีแพ่งนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่เสียหาย การที่โจทก์มาขอคิดค่าเสียหายโดยอ้างว่า ทำให้ยอดขายสินค้าลดลงมาในจำนวนสูงถึง 1,000 ล้านบาท ทั้งที่ขณะเกิดเหตุผลกำไรส่วนมากของโจทก์มาจากรายได้ทางอื่นมิได้มาจากการขายสินค้าโดยตรง ส่อแสดงเจตนาถึงการใช้สิทธิทางศาลไม่สุจริต

***พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคดีแพ่งให้ตกเป็นพับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น