xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:จับตาครม.คลอด กม.ค้าปลีกฯ ประโยชน์พ่อค้าหรือผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การให้เหตุผลในการดึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อนของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ นายไชยยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ผ่านการพิจารณาของ ครม.ให้ได้ น่าจะเป็นเหตุผลที่น่าจะรับฟังและลดความดึงดันในเรื่องนี้บ้าง เพราะปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ที่กำลังลุกลามข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย และใกล้จะถึงประเทศไทยเข้าไปทุกทีแล้วนั้น สิ่งที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงที่ทำหน้าที่ดูแลปากท้องและค่าใช้จ่ายประจำวันของคนในประเทศ อย่างกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่ควรที่จะทำอะไรเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจนี้อีก

ขณะที่เหตุผลของ รองนายกฯโอฬาร ที่ว่า หากเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ยังคงเป็นแบบเดิมโดยไม่มีการแก้ไขแล้ว หากผ่านการพิจารณาและนำมาบังคับใช้ นอกจากจะไม่สามารถช่วยโชห่วยได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่ตอนนี้แม้ไม่มีเรื่องอะไรในประเทศไทย เขาก็พร้อมจะถอนออกเพื่อนำกลับไปเยียวยาประเทศแม่ของเขาเต็มทีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ตระหนักถึงปัญหาดี จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเร่งอนุมัติโครงการของนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอบีโอไอ ให้เร็วที่สุด เพื่อหวังว่าเม็ดเงินจากการลงทุนในโครงการเหล่านี้ จะเข้ามาพยุงสภาพเศรษฐกิจของไทยให้ผ่านวิกฤตไปได้

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ ดร.โอฬาร ไม่ได้พูดไว้ แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้อยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาเป็นเหตุผลในการพิจารณา คือ เรื่องของผลประโยชน์ของผู้บริโภค หรือชาวบ้านที่ต้องเดินหาซื้อข้าวของเครื่องกินเครื่องใช้ประจำวันกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละครับ เพราะในวงจรธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่ายหรือพ่อค้าคนกลาง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว โมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนร้านโชห่วย สุดท้ายก็จะมาจบลงที่ผู้บริโภค ที่เป็นห่วงโซ่สุดท้ายที่ผลักดันให้วงจรธุรกิจค้าปลีกค้าส่งหมุนไปได้ แต่ทั้งที่ผู้บริโภคมีความสำคัญขนาดนั้น กระทรวงพาณิชย์กลับไม่ให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคเลย

ผลประโยชน์ของผู้บริโภคคืออะไร ถ้าไม่ใช่โอกาสที่จะได้ซื้อหาสินค้าที่จำเป็นในราคาประหยัด และมีช่องทางหรือสินค้าให้เลือกซื้อเพื่อให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายออกไปให้มากที่สุด ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจแบบมองไม่เห็นอนาคตอย่างนี้แล้ว เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

แต่เนื่อหาของร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ที่มุ่งเน้นอยู่กับการควบคุมโมเดิร์นเทรด ด้วยหลักคิดง่าย ๆ ว่า หากโมเดิร์นเทรดลดน้อยลงหรือถูกลบหายไป ร้านโชห่วยก็จะขายของดีขึ้น เพราะประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น ต้องจำใจไปซื้อของจากร้านโชห่วยเท่านั้น หลักตรรกะแบบตรงไปตรงมานี้ ไม่ต้องใช้นักวิชาการมาแปล ก็เข้าใจได้ว่า คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหากโมเดิร์นเทรดหมดไป พ่อค้าคนกลางจะกลับมาเป็นเจ้าตลาดอีกครั้ง และจะแสวงหากำไรด้วยการลดช่องทางการจำหน่ายและประเภทสินค้าลง เพื่อลดต้นทุนของตนเอง ขณะที่ผลร้ายจะตกอยู่กับประชาชน ที่ไม่มีทางเลือก เพราะพ่อค้าไม่มีการแข่งขัน ทำให้ต้องซื้อสินค้าราคาแพงและไม่มีคุณภาพอย่างไม่อาจจะปฎิเสธได้

แต่เมื่อเกิดธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งก็มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากขึ้น มีการแข่งขันของผู้ประกอบการ มีการแจงรายได้ และการเสียภาษีให้รัฐ ในขณะเดียวกันก็เกิด ผู้ประกอบการรายย่อยอิสระมากขึ้น โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ต้องไปเจรจาหรือเข้าสังกัดของผู้ผลิตและเครือข่ายพ่อคนกลาง ดังนั้น กลุ่มผู้มีอิทธิพลดั้งเดิมในภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งเคยผูกขายธุรกิจดังกล่าว และเคยตักตวงกำไร จึงเกิดความไม่พอใจ และพยายามจำกัดการเติบโตของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งการประชุม ครม.ครั้งนี้ จึงต้องวัดใจรัฐมนตรีที่บอกว่าจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนว่าครั้งนี้จะเลือกปกป้องผลประโยชน์ของใคร พ่อค้า หรือประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น