xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ปลอมระบาด5หมวด ธปท.ลงพื้นที่แจงคนอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - หวั่นประชาชนตกเป็นธนบัตรปลอม แบงก์ชาติอีสานจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้หวังสร้างความเชื่อมั่นพ่อค้า-แม่ค้า ยอมรับธนบัตรใบละพัน พร้อมจัดทีมให้ความรู้ระดับอำเภอทั่วภาคอีสาน เผยภาคอีสานพบธนบัตรปลอมมากที่สุดถึงร้อยละ 25 ระบุประชาชนตกใจกลัวเกินเหตุ ขณะที่ภาคเหนือตอนบนพบแบงก์พันปลอมขยายพันธุ์เพิ่ม 5 ซีรี่ส์ แบงก์ธนชาตสั่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มเงินฝาก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของธนบัตรปลอม ฉบับละ 500 บาท และ 1,000 บาท อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถูกระบุว่า พบธนบัตรปลอมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25 ของธนบัตรปลอมที่ตรวจพบทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้า ติดป้ายไม่ยอมรับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ชำระค่าสินค้า เพราะเกรงว่าจะตกเป็นเหยื่อได้รับธนบัตรชำระค่าสินค้า กระทั่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมาเตือนว่า การปฏิเสธรับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาทนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) โดยนายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. พร้อมด้วยนางวิชชุดา แสงอุทัย ผู้จัดการศูนย์จัดการธนบัตรขอนแก่น พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์จัดการธนบัตรขอนแก่น จัดชุดประชาสัมพันธ์ ออกพบปะพ่อค้า-แม่ค้า และประชาชน ที่ตลาดบางลำพู อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อแจกแผ่นพับให้ความรู้และสาธิตวิธีสังเกตธนบัตรปลอม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท โดยได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการค้าอย่างคับคั่ง

นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการตรวจพบธนบัตรปลอมมากที่สุดถึงร้อยละ 25 ของธนบัตรปลอมทั้งหมดที่ตรวจพบ สาเหตุที่มีการปลอมธนบัตรมาก เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ ทำให้ปลอมธนบัตรได้ใกล้เคียง แต่ก็มีจุดสังเกตธนบัตรปลอมได้มากกว่า 10 จุด

จุดสังเกตธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ที่สังเกตได้ง่ายที่สุด คือ การสังเกตตัวเลข 1,000 บาท ธนบัตรจริงพิมพ์ด้วยหมึกพิเศษ มองเห็นส่วนบนเป็นสีทอง ส่วนล่างเป็นสีเขียว เมื่อพลิกขอบล่างธนบัตรขึ้น จะเห็นเป็นสีเขียวทั้งหมด แต่ธนบัตรปลอมจะยังคงเห็นเป็น 2 สีเช่นเดิม และพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ตัวอักษร และตัวเลขบอกราคา พิมพ์เส้นนูน จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้ว

บทบาทการควบคุมธนบัตรปลอม จะดำเนินมาตรการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงผู้ประกอบการค้า และประชาชนทั่วไปให้มากที่สุด หน่วยงานหลักคือ ศูนย์จัดการธนบัตรทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ แจกแผ่นพับวิธีการสังเกตธนบัตร และให้ความรู้สร้างความเชื่อมั่นในการรับธนบัตรชำระค่าสินค้า ให้เข้าถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง สะกัดการแพร่ระบาดและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อรับธนบัตรปลอม

นายสมชายกล่าวว่า ให้ความรู้วิธีสังเกตธนบัตรปลอม ธปท.สภอ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครือข่ายโรงเรียนต่างๆทั่วภาคอีสานแล้ว ล่าสุดเมื่อเกิดการระบาด ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกพบปะประชาชนให้ความรู้ที่ตลาดบางลำพู อำเภอเมืองขอนแก่น และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 5 ตลาดในเขตเทศบาลนครขอนแก่นภายในสัปดาห์หน้านี้

ส่วนขั้นต่อไป เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2552 ธปท.สภอ.จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ ออกเดินสายแจกแผ่นพับ VCD และสาธิตให้ความรู้วิธีสังเกตธนปลอม ไปทั่วพื้นที่ภาคอีสานอย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่พบปะในระดับอำเภอ ที่มีการจัดประชุมของหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมประชุม ให้ได้รับแผ่นพับและวิธีสังเกต นำไปเผยแพร่ต่อถึงประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองให้มากที่สุด

นายสมชายระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดธนบัตรปลอมครั้งนี้ ประชาชนตื่นกลัวเกินเหตุ เนื่องจากมีธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 2 แบบคือแบบมีแถบฟอยล์สีเงิน และไม่มีฟอยล์สีเงิน ประชาชนทั่วไปเมื่อรับธนบัตรแบบไม่มีฟอยล์สีเงิน กลับเข้าใจว่าเป็นธนบัตรปลอม ทั้งที่จริงเป็นธนบัตรจริง 100% สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์วิธีสังเกตธนบัตรปลอมให้เข้าถึงตัวประชาชนมากที่สุด

"ประชาชนที่ถอนเงินจากตู้ ATM นั้น ไม่มีธนบัตรปลอมเล็ดลอดออกมาเด็ดขาด แม้ว่าจะมีการรับฝากธนบัตรปลอมเข้าไป เครื่องจะสามารถตรวจสอบได้ และที่สำคัญกล่องบรรจุเงินถอน แยกคนละส่วนกับกล่องบรรจุเงินฝาก และเจ้าหน้าที่รวมถึงเครื่องตรวจนับเงินได้ตรวจสอบธนบัตรก่อนที่จะบรรจุไว้ในตู้ ATM ประชาชนที่ถอนเงินจากตู้ จึงเชื่อมั่นว่า ได้รับธนบัตรจริง 100%" นายสมชายย้ำ

ตร.บุรีรัมย์เข้มแบงก์เก๊ปีใหม่

พล.ต.ต.สมบัติ คงพิบูลย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) บุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้จัดกำลังตำรวจออกตรวจตรา และประจำจุด ตามธนาคาร ร้านทอง ศูนย์การค้า และแหล่งชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน เพื่อเพิ่มมาตรการในการคุมเข้มเฝ้าระวังจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพ ที่จะฉวยโอกาสนำธนบัตรปลอม มาจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมแนะนำผู้ประกอบการห้างร้าน และพ่อค้า แม่ค้า ถึงวิธีการตรวจสอบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ให้ชัดเจนก่อนจะรับธนบัตร หากพบว่าผิดปกติหรือเป็นธนบัตรปลอมให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ประจำตามจุดต่างๆ เพื่อจะได้เร่งติดตามจับกุมตัวคนร้ายได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะไหวตัวหลบหนี และจะได้นำตัวมาสอบสวนขยายผลจับกุมกลุ่มขบวนการผลิตแบงก์ปลอมมาดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังพบว่ามีธนบัตรปลอมระบาดในหลายพื้นที่จังหวัด.

ภาคเหนือแบงก์พันปลอมลาม 5 หมวด

นายอุดม ชัยเทพ ผู้อำนวยการสำนัก สำนักงานภาคเหนือ 1 (เชียงใหม่) ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) TBANK กล่าวว่า การระบาดของธนบัตร 1 พันบาทปลอมในเขตพื้นที่ภาคเหนือมีมานานแล้วและในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมาเริ่มมีร้านค้าปฏิเสธการรับธนบัตรชนิดดังกล่าวเนื่องจากแม่ค้าไม่แน่ใจว่าเป็นธนบัตรจริงหรือไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนธนบัตรชนิด 100 บาทและ 500 บาทบ้างในบางพื้นที่ ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของธนบัตรชนิด 1 พันบาทจากเดิมที่มี 1 ซีรี่ส์ในหมวด 9ก XXX7474 แต่ในปัจจุบันมีมากถึง 5 ซีรี่ส์ทำให้ธนาคารต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังในการรับฝากธนบัตรจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น

ธปท.เตือนห้ามปิดป้ายไม่รับ

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันร้านค้าที่ติดประกาศไม่รับธนบัตรใบละ 1,000 บาท มีความผิดตาม พ.ร.บ.เงินตรา และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวภายหลังประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกร ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสอบถามข้อกฎหมาย กรณีที่ร้านค้าติดประกาศโฆษณาไม่รับธนบัตรใบละ 1,000 บาท ว่ามีความผิดหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 15 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ. ศ. 2522 มาตรา 22 อนุ 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"แต่หากร้านค้าใดไม่มีการติดป้ายโฆษณา จะไม่เข้าข่ายความผิด ซึ่งถือว่ายังเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายอยู่"

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังประสานกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกกฎหมายหรือระเบียบ เพื่อเอาผิดกับร้านค้าที่ไม่ติดป้ายโฆษณาด้วย ซึ่งความผิดดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดทางแพ่งและอาญา และหากตำรวจพบร้านค้าใดติดประกาศ สามารถจับกุมได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กล่าวโทษร้องทุกข์

ตร.ระบุดูเจตนาร้านค้า

พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของแบงก์ปลอมในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าปฏิเสธแบงก์พันจากลูกค้า ยืนยันว่า เจ้าของร้านค้ามีสิทธิ์จะไม่รับแบงก์พันจากลูกค้า และไม่ถือว่ามีความผิด หากไม่แน่ใจว่าแบงก์นั้นเป็นของจริงหรือไม่ แต่ตำรวจจะดูที่เจตนาเป็นสำคัญ ส่วนประชาชนที่นำแบงก์ปลอมไปใช้ แล้วไม่รู้เป็นแบงก์ปลอมและถูกตำรวจจับ ขออย่ากังวลว่าจะถูกจำคุกทันที เพราะตำรวจจะดำเนินคดีกับผู้ผลิตเท่านั้น

ส่วนแหล่งผลิตแบงก์ปลอม จากแนวทางการสืบสวนยังไม่ชัดเจนว่าลักลอบผลิตที่ใด แต่เริ่มมีการแพร่ระบาดจากภาคเหนือก่อนไปยังภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะแบงก์พันและห้าร้อย มีการลักลอบทำปลอมมากที่สุด โดยแบงก์พันจะจำหน่ายใบละ 400 บาท จึงขอเตือนผู้ที่จะซื้อมาใช้ จะมีความผิดฐานใช้ธนบัตรปลอม ระวางโทษจำคุก 1 – 15 ปี และโทษปรับ ส่วนผู้ลักลอบผลิต ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น