xs
xsm
sm
md
lg

ผวาธนบัตรปลอมลามแบงก์ จับตาเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ป่วน แบงก์ปลอมระบาดบานปลาย หวั่นเข้าแบงก์ผ่านเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ (ADM) ล่าสุดบิ๊กแบงก์เรียกตำรวจมาร่วมทดสอบโชว์สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ลั่นถอนเงินจากเครื่องเบิกจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) ไม่มีปัญหา เลขาฯ สมาคมธนาคารไทยยอมรับเป็นห่วง ต้องจับตาใกล้ชิด ผู้บริหารแบงก์ชาติออกโรงการันตีคุณภาพ ATM พร้อมกำชับแบงก์เข้มงวด-ชี้แจงลูกค้า ผลสำรวจล่าสุดปีนี้ตรวจพบธนบัตรปลอม 18,895 ฉบับ ขณะที่เบาะแสแบงก์ปลอมชุกชุมภาคเหนือ-อีสาน

กรณีที่มีธนบัตรปลอมแพร่สะพัดในตลาดอยู่ในขณะนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ล่าสุดวานนี้ (22 ธ.ค.) นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จนดูเหมือนลุกลามไปเรื่อยๆ เพราะคนตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว โดยวานนี้ ธนาคารกรุงไทย ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาทดสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง ได้แก่ เครื่องคัดแยกเงินและเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) โดยนำธนบัตรปลอมราคา 1,000 บาท และ 500 บาท ทดสอบ ปรากฏว่าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้คายธนบัตรปลอมออกมา

"ขอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะต้องมีการหารือกันหรือไม่ อย่างไรก็ตามภาครัฐก็ควรที่จะออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง" เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวและว่า ในช่วงนี้ใกล้ปีใหม่ สมาคมฯ จะมีการจับตาเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นายไพโรจน์ ดีรักษา ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเยี่ยมชมระบบอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งของธนาคารทั้งหมด เพื่อทดสอบให้เห็นว่าธนบัตรปลอมไม่สามารถเข้าสู่ระบบ ATM ของธนาคารกรุงไทยได้ ดังนั้นลูกค้าของธนาคารฯ สบายใจได้ว่าเงินที่กดผ่านตู้ ATM ไม่มีธนบัตรปลอม

สำหรับในส่วนของพนักงานเคาน์เตอร์ประจำสาขาต่างๆ ธนาคารได้มีการอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบธนบัตรปลอม ซึ่งตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสาขาตรวจสอบแล้วพบว่าธนบัตรที่ลูกค้านำมาฝากถ้าเป็นธนบัตรปลอม ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งใช้ปากกาเขียนบนธนบัตรดังกล่าวว่าธนบัตรปลอม พร้อมขีดคล่อมเพื่อป้องกันไม่ให้ธนบัตรดังกล่าวออกมาหมุนเวียนอีก

ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า สำนักงานใหญ่ของธนาคารได้มีการแจ้งเตือนไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศที่ให้บริการลูกค้าให้มีความรอบคอบมากและรัดกุมในการพิจารณาเพิ่มขึ้น เพราะเทคนิคการปลอมขณะนี้หากไม่มีความรอบคอบก็จะไม่สามารถสังเกตการปลอมแปลงได้เลย ทั้งนี้การตรวจสอบพันธบัตรของธนาคารนั้นทำผ่านระบบการตรวจสอบหลายระบบประกอบกัน ซึ่งธนาคารยืนยันว่ามีความถูกต้อง 100% ซึ่งธนาคารเชื่อว่าธนาคารทุกแห่งมีระบบการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานเดียวกัน

"ก่อนการทำงานทุกเช้าธนาคารจะมีการตรวจเช็กเครื่องมือทุกชนิดก่อนทุกครั้ง หากเกิดกรณีการกล่าวหาว่ามีความผิดพลาดมาจากทางธนาคารธนาคารก็จะมีการตรวจสอบข้อมูลการกด ATM ของลูกค้าได้ เพราะอาจจะเกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของผู้บริโภค นอกจากนี้แล้ว ธปท.ก็จะมีการสุ่มตรวจอยู่ตลอด ซึ่งปีนี้ธนาคารก็โดนสุ่มตรวจมา 2 รอบแล้ว จึงอยากให้ผู้บริโภคมั่นใจ " เขากล่าวและว่า ธนาคารต้องการให้ธปท.ออกมาตรการป้องกันและรองรับโดยแล้วและเพิ่มให้มีวงกว้างมากขึ้น เพราะมาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่นการติดโปสเตอร์ หรือการทำเว็ปไซต์ข้อมูล แม้จะดีแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งธนาคารอยากแนะนำว่าให้มีการเพิ่มระดับการประชาสัมพันธ์ให้เพิ่มขึ้น เช่นการแจกแผ่นพับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนก็ควรที่จะมีความรอบคอบและศึกษาข้อมูลมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้บริหารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ยืนยันว่า ใช้เครื่องมืองตรวจสอบธนบัตรที่มีคุณภาพสูง และยังได้กำชับให้พนักงานทุกคนเพิ่มความระมัดระวังในการรับธนบัตรชนิดฉบับละ 1,000 บาทให้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์รายหนึ่งยอมรับว่าเครื่อง ATM และเครื่องคัดแยกเงินสามารถตรวจสอบธนบัตรปลอมได้ แต่เครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ หรือ ADM ไม่สามารถการันตีได้ทุกธนาคาร ส่วนนี้พวกมิจฉาชีพจะทำโดยฝากธนบัตรปลอมในเครื่อง ADM แล้วถอนผ่านเครื่อง ATM ธนาคารเป็นผู้เสียหาย แต่ก็ไม่อยากให้มีการตื่นตระหนกไปมากกว่านี้ เพราะจะส่งผลต่อความไม่มั่นใจของลูกค้าและประชาชน

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์บางรายได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสมาคมฯ แล้ว หลังจากพบมีการนำธนบัตรปลอมสอดแทรกเมื่อฝากเงินผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ แล้วมาถอนเงินจากตู้ ATM เอาธนบัตรจริงไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวใหญ่เกินกว่าที่สมาคมฯ จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายช่วยตรวจสอบ และสอดส่องดูแล

นางจิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีธนบัตรปลอมลามเข้าไปอยู่ในตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ว่า จากการตรวจสอบยืนยันว่าจะไม่มี เนื่องจากในตู้ ATM จะมีระบบการตรวจสอบธนบัตรที่มีประสิทธิภาพสูงและสามารถคัดแยกธนบัตรปลอมได้ อีกทั้งยังมีการคัดแยกด้วยมือของเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์อีกรอบหนึ่ง จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลสามารถใช้จ่ายธนบัตรทุกชนิดราคาได้ตามปกติ

“ธปท.ได้กำชับให้แบงก์พาณิชย์มีความเข้มงวดการตรวจสอบมากขึ้นด้วย พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนเบื้องต้นในการตรวจสอบธนบัตรปลอม ขณะเดียวกันธปท.ได้ขอร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน จึงเชื่อว่าจะทำให้พวกมิจฉาชีพคงจะเริ่มกลัว และนำธนบัตรปลอมเข้าสู่ระบบน้อยลง”

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้เดินหน้าให้ความรู้แก่บรรดาพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนทั่วไปตามตลาดขนาดใหญ่ที่สำคัญทั่วประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) ธปท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบธนบัตรให้ความรู้แก่ตลาดบางลำภู จ.ขอนแก่น และคาดว่าจะทยอยให้ความรู้ต่อไป โดยเฉพาะตลาดที่มีการแลกเปลี่ยนธนบัตรจำนวนมาก เช่น ตลาดโรงเกลือ

จากการสำรวจของธปท.ล่าสุดในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ตรวจพบธนบัตรปลอมทั้งสิ้น 18,895 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 12.3 ล้านบาท จากปริมาณเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 8.5 แสนล้านบาท จำนวน 3,000 ล้านฉบับ เมื่อเทียบกับในปี 2550 ที่พบธนบัตรปลอมทั้งสิ้น 10,819 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 6.8 ล้านบาท ฉะนั้นในระบบเศรษฐกิจมีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธนบัตรปลอมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 80.88% และมีปริมาณเพิ่มขึ้น 74.64% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณธนบัตรหมุนเวียน 1 ล้านฉบับในปีนี้จะมีธนบัตรปลอม 5-7 ฉบับ จากปีก่อนมีอยู่ 4-5 ฉบับ ถือว่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ขณะเดียวกันหากพิจารณาการจับกุม พบว่า ธนบัตรปลอมชนิดราคา 1,000 บาทมีจำนวนมากที่สุดในระบบ คือ มีปริมาณถึง 11,158 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 61%ของจำนวนธนบัตรปลอมรวมที่ตรวจพบ รองลงมาเป็นธนบัตรชนิดราคา 100 บาท จำนวน 2,989 ฉบับ ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท 2,553 ฉบับ ชนิดราคา 500 บาท มีจำนวน 1,495 ฉบับ และชนิดราคา 20 บาท จำนวน 700 ฉบับ

สำหรับผู้กระทำการปลอมธนบัตรจะมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตและปรับสูงสุด 40,000 บาท ส่วนผู้นำธนบัตรปลอมออกใช้หรือพยายามใช้มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และปรับสูงสุด 30,000 ล้านบาท

การตรวจสอบธนบัตรปลอมเบื้องต้นมี 3 วิธี คือ 1.วิธีการสัมผัส เนื้อกระดาษธนบัตรเป็นกระดาษชนิดพิเศษ มีความเหนียว แกร่ง ทนต่อการพับดึง และให้ความรู้สึกเมื่อสัมผัสต่างจากกระดาษทั่วไป ส่วนลวดลายเส้นนูนที่บริเวณคำว่า “รัฐบาลไทย” เมื่อใช้ปลายนิ้วมือลูบสัมผัสบริเวณดังกล่าวจะรู้สึกสะดุดกับหมึกพิมพ์ 2.วิธียกส่อง เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างบริเวณพื้นที่ว่างด้านขวาของธนบัตรจะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ซึ่งอยู่ในเนื้อกระดาษอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประดับด้วยรูปลายไทยขนาดเล็กที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ ขณะที่บริเวณด้านซ้ายของธนบัตรใกล้กับพระครุฑพ่าห์มีแถบสีโลหะขนาดเล็กฝังอยู่ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง บนแถบมีตัวเลขและอักษรขนาดเล็กแจ้งชนิดราคาธนบัตรฉบับนั้น

และ3.วิธีการพลิกเอียงทั้งธนบัตรชนิดราคา 500 และ 1,000 บาท ที่ตัวเลขอารบิกแจ้งราคามุมขวาบนพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ชนิดพิเศษที่สามารถเปลี่ยนสลับจากสีหนึ่งเป็นอีกสีหนึ่งเมื่อเปลี่ยนมุมมอง โดยธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท จะเปลี่ยนสลับจากส่วนที่เป็นสีทองเป็นสีเขียว และธนบัตรชนิดราคา 500 บาทเปลี่ยนสลับจากสีเขียวเป็นสีม่วง สำหรับธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ชนิด 500 บาท และ 1,000 บาท ผนึกแถบฟอยล์สีเงินแนบเป็นเนื้อเดียวกับกระดาษ ซึ่งแถบฟอยล์ดังกล่าวจะมองเห็นหลากสีหลายมิติ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมา

หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถศึกษาวิธีตรวจสอบธนบัตรชนิดราคาต่างๆได้ที่ www.bot.or.th หรือสอบถามรายละเอียดที่เบอร์โทรศัพท์ 02-356-8666 และ02-356-8686

***พบ "เหนือ-อีสาน" ระบาดหนัก
รายงานข่าวจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หลายแห่ง พบธนบัตรปลอมเข้ามาซื้อสินค้าในหลายสาขา โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ห้างซึ่งได้รับการอบรมการตรวจธนบัตรจาก ธปท.ทุก 3 เดือน มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเบื้องต้น หากมีข้อสงสัยจะนำไปตรวจกับเครื่องตรวจนับธนบัตรอีกครั้งหนึ่ง โดยหากพบก็จะขอเปลี่ยนธนบัตรจากลูกค้าทันที

ทั้งนี้ ธนบัตรปลอมกำลังแพร่สะพัดหนักในภาคอีสาน โดยเฉพาะตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค บริเวณด่านพรมแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากพ่อค้า แม่ค้าชาวเขมรที่ค้าขายอยู่ในตลาดโรงเกลือประมาณ 90% ที่มีจำนวนกว่า 5,000 คน ต่างปฏิเสธที่จะรับธนบัตรฉบับ 1,000 โดยอ้างว่าไม่มีเงินทอน และหากลูกค้าจะซื้อต้องไปแลกก่อน ทำให้เกิดการโต้เถียงกันหลายร้าน จนกระทั่งนักท่องเที่ยวบางรายต้องเดินทางไปแลกเงินจากธนาคาร

ผลกระทบจากความวุ่นวายกับการไม่รับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของแม่ค้าชาวเขมรในตลาดโรงเกลือ ได้มีพ่อค้าชาวไทยหัวใสตั้งโต๊ะรับแลกเงิน โดยจะคิดค่าบริการหัก 20 บาท ต่อการแลกเงิน 1,000 บาท และจะรับแลกจากแม่ค้าชาวเขมรเท่านั้น ทำให้แม่ค้าชาวเขมรบางรายต้องยอมเสียค่าแลกเงิน เพราะต้องการขายสินค้า

นางจุลัย มีวัตณะ แม่ค้าร้านอาหารและขายของชำย่านนิคมอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า เฉพาะเช้าวานนี้ (22 ธ.ค.) เจอธนบัตรปลอมใบละ 1,000 บาท ถึง 5 ราย โดย 2 รายแรก มาซื้อบุหรี่ซองละ 50 บาท และมาขอแลกธนบัตร 500 บาท 2 ใบ ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าจ่ายค่าอาหารหลังรับประทานเสร็จ และเมื่อสัปดาห์ก่อนพบธนบัตรปลอมมาแล้ว 15 ราย สูญเงินไปกว่า 20,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ค้าในย่านใกล้กันยังประสบปัญหาธนบัตรปลอม จึงต้องรวมตัวกันปฏิเสธการชำระสินค้าด้วยธนบัตรใบละ 1,000 บาท เพราะเชื่อว่าใกล้เทศกาลปีใหม่ จะมีธนบัตรปลอมระบาดมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น