ศูนย์ข่าวขอนแก่น -แบงก์ชาติอีสาน หวั่นประชาชนตกเป็นเหยื่อรับธนบัตรปลอม จัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้พบปะประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นพ่อค้า-แม่ค้า ยอมรับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาทชำระค่าสินค้า จัดชุดให้ความรู้และสาธิตวิธีสังเกตถึงที่ เผย ภาคอีสานพบธนบัตรปลอมมากที่สุดถึงร้อยละ 25 ของธนบัตรปลอมที่พบ ระบุ ประชาชนตกใจกลัวเกินเหตุ ยันกดเงินจากตู้ ATM เป็นธนบัตรจริง 100% แนะประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อให้แจ้งความตำรวจตามจับ และงดใช้ธนบัตรปลอม วางกรอบสร้างความเชื่อมั่นปี 52 เร่งสร้างความเชื่อมั่นเชิงรุก จัดทีมให้ความรู้ระดับอำเภอทั่วภาคอีสาน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของธนบัตรปลอม ฉบับละ 500 บาท และ 1,000 บาท อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถูกระบุว่า พบธนบัตรปลอมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25 ของธนบัตรปลอมที่ตรวจพบทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้า ติดป้ายไม่ยอมรับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ชำระค่าสินค้า เพราะเกรงว่าจะตกเป็นเหยื่อได้รับธนบัตรชำระค่าสินค้า กระทั่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมาเตือนว่า การปฏิเสธรับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาทนั้น เป็นความผิดตามกฎหมาย
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) นำโดยนายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.พร้อมด้วย นางวิชชุดา แสงอุทัย ผู้จัดการศูนย์จัดการธนบัตรขอนแก่น พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์จัดการธนบัตรขอนแก่น จัดชุดประชาสัมพันธ์ ออกพบปะพ่อค้า-แม่ค้า และประชาชน ที่ตลาดบางลำพู อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อแจกแผ่นพับให้ความรู้และสาธิตวิธีสังเกตธนบัตรปลอม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการับธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท โดยได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการค้าอย่างคับคั่ง
นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของธนบัตรปลอม พบว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการตรวจพบธนบัตรปลอมมากที่สุดถึงร้อยละ 25 ของธนบัตรปลอมทั้งหมดที่ตรวจพบ สาเหตุที่มีการปลอมธนบัตรมาก เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ ทำให้ปลอมธนบัตรได้ใกล้เคียง แต่ก็มีจุดสังเกตธนบัตรปลอมได้มากกว่า 10 จุด
จุดสังเกตธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ที่สังเกตได้ง่ายที่สุด คือ การสังเกตตัวเลข 1,000 บาท ธนบัตรจริงพิมพ์ด้วยหมึกพิเศษ มองเห็นส่วนบนเป็นสีทอง ส่วนล่างเป็นสีเขียว เมื่อพลิกขอบล่างธนบัตรขึ้น จะเห็นเป็นสีเขียวทั้งหมด แต่ธนบัตรปลอมจะยังคงเห็นเป็น 2 สีเช่นเดิม และพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ตัวอักษร และตัวเลขบอกราคา พิมพ์เส้นนูน จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้ว
ธนบัตรปลอมที่มีการปลอมและตราวจพบมากที่สุด ณ ขณะนี้คือ ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ส่วนชนิดราคาอื่นตรวจพบน้อยมาก เพราะการปลอมธนบัตรทุกชนิด มีโทษความผิดเหมือนกัน ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพเลือกปลอมธนบัตรชนิดราคาสูงสุดไว้ก่อน
บทบาทการควบคุมธนบัตรปลอม จะดำเนินมาตรการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงผู้ประกอบการค้า และประชาชนทั่วไปให้มากที่สุด หน่วยงานหลัก คือ ศูนย์จัดการธนบัตรทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ แจกแผ่นพับวิธีการสังเกตธนบัตร และให้ความรู้สร้างความเชื่อมั่นในการรับธนบัตรชำระค่าสินค้า ให้เข้าถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง สะกัดการแพร่ระบาดและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อรับธนบัตรปลอม
นายสมชาย กล่าวถึงการดำเนินงานของ ธปท.สภอ.ว่า การดำเนินงานให้ความรู้วิธีสังเกตธนบัตรปลอม ธปท.สภอ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครือข่ายโรงเรียนต่างๆ ทั่วภาคอีสานแล้ว ล่าสุด เมื่อเกิดการระบาด ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกพบปะประชาชนให้ความรู้ที่ตลาดบางลำพู อำเภอเมืองขอนแก่น และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 5 ตลาดในเขตเทศบาลนครขอนแก่นภายในสัปดาห์หน้านี้
ส่วนการดำเนินงานขั้นต่อไป เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2552 ธปท.สภอ.จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ ออกเดินสายแจกแผ่นพับ VCD และสาธิตให้ความรู้วิธีสังเกตธนปลอม ไปทั่วพื้นที่ภาคอีสานอย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่พบปะในระดับอำเภอ ที่มีการจัดประชุมของหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมประชุม ให้ได้รับแผ่นพับและวิธีสังเกต นำไปเผยแพร่ต่อถึงประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองให้มากที่สุด
สถานการณ์การแพร่ระบาดธนบัตรปลอม ณ ปัจจุบัน ประชาชนตื่นกลัวเกินเหตุ เนื่องจากมีธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 2 แบบ คือ แบบมีแถบฟอยล์สีเงิน และไม่มีฟอยล์สีเงิน ประชาชนทั่วไปเมื่อรับธนบัตรแบบไม่มีฟอยล์สีเงิน กลับเข้าใจว่าเป็นธนบัตรปลอม ทั้งที่จริงเป็นธนบัตรจริง 100% สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์วิธีสังเกตธนบัตรปลอมให้เข้าถึงตัวประชาชนมากที่สุด
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.กล่าวยืนยันว่า ประชาชนที่ถอนเงินจากตู้ ATM นั้น ไม่มีธนบัตรปลอมเล็ดลอดออกมาเด็ดขาด แม้ว่าจะมีการรับฝากธนบัตรปลอมเข้าไป เครื่องจะสามารถตรวจสอบได้ และที่สำคัญกล่องบรรจุเงินถอน แยกคนละส่วนกับกล่องบรรจุเงินฝาก และเจ้าหน้าที่รวมถึงเครื่องตรวจนับเงินได้ตรวจสอบธนบัตรก่อนที่จะบรรจุไว้ในตู้ ATM ประชาชนที่ถอนเงินจากตู้ จึงเชื่อมั่นว่า ได้รับธนบัตรจริง 100%
ส่วนประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ รับธนบัตรปลอมไปแล้วนั้น ควรมีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการติดตามจับกุมผู้นำธนบัตรปลอมมาใช้และโยงถึงแหล่งผลิต ซึ่งผู้แจ้งความจะได้รางวัลนำจับอีกด้วย และที่สำคัญประชาชนต้องเก็บธนบัตรปลอมนั้นไว้ อย่านำไปใช้โดยเด็ดขาด ควรเขียนข้อความขนาดใหญ่ว่า “ธนบัตรปลอม” ป้องกันการนำไปใช้ เพราะอาจตกเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีได้