xs
xsm
sm
md
lg

แก่งแย่งและต่อรอง : ธาตุแท้ของรัฐบาลผสม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

70 กว่าปีของการปกครองประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประชาชนชาวไทยได้เห็นรัฐบาลเผด็จการอันเกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารสลับกับรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลผสมจะจบลงด้วยลักษณะเดียวกัน คือ ถูกขับไล่ด้วยข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจรัฐไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยรวม และก่อความเสียหายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้แก่ประเทศโดยรวม จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพรรคเดียว เนื่องจากได้รับเลือกตั้งเข้ามามีเสียงท่วมท้น คือ รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในช่วง พ.ศ. 2544-2549 แต่ก็เป็นรัฐบาลพรรคเดียวเพียงแต่ในนาม เพราะโดยเนื้อแท้แล้วประกอบด้วยกลุ่มการเมืองต่างๆ เป็นมุ้งเล็กอยู่ในมุ้งใหญ่ อันเกิดจากการนำเอาพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทยก่อนการเลือกตั้ง จนเกิดเป็นพรรคใหญ่ขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจเงิน

ดังนั้น เมื่อพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลจึงมีสภาพไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลผสม แต่มีข้อดีกว่ารัฐบาลผสมที่ผ่านมาตรงประเด็นที่ว่า ถึงแม้จะมีหลายกลุ่มร่วมแต่ก็ถูกควบคุมด้วยนายทุนคนเดียวคือ นายใหญ่ และนี่เองคือที่มาของคำว่า รัฐบาลเผด็จการในคราบของระบอบประชาธิปไตย ที่ใครต่อใครเห็นแล้วเข้าใจตรงกันว่าเป็นรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณ ติดปากมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลพรรคเดียวภายใต้การนำของนายทุนคนเดียวจึงทำอะไรแบบไม่ต้องเกรงหัวหน้ากลุ่ม และสมาชิกกลุ่มการเมืองที่เข้ามาร่วมกันเหมือนรัฐบาลผสมทั่วๆ ไป ที่จะทำอะไรก็ต้องเงี่ยหูฟังผู้นำกลุ่มการเมืองที่เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลผสมเพื่อให้มีเสียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำรัฐบาลก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของรัฐบาลผสม คือ แก่งแย่ง และต่อรองตำแหน่งใน ครม. ดังที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาว่า การจัด ครม.ที่ผ่านมาจนถึงวันที่เขียนบทความนี้ (18 ธ.ค.) ได้เกิดมีความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกลุ่มเพื่อนเนวินได้ต่อรอง และทางพรรคประชาธิปัตย์ยอมยกกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยให้ เป็นต้น รวมไปถึงการยอมยกตำแหน่งรัฐมนตรีให้คนนอกโดยการอ้างเงื่อนไขว่ามีส่วนช่วยสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นต้น

ถ้าข่าวที่ปรากฏออกมาเป็นความจริง ก็แปลความได้ว่าแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ถือได้ว่าเป็นสถาบันการเมืองที่มีระเบียบ และระบบในการจัดการที่ดีที่สุด ถ้าเทียบกับพรรคการเมืองอื่นที่เป็นพรรคเฉพาะกิจ และตั้งขึ้นมารับใช้บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่มีระเบียบและระบบการจัดการอย่างมีมาตรฐานที่พรรคการเมืองควรจะมี และควรจะเป็น แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของนายทุนทางการเมืองเป็นหลักเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในทันทีที่ได้รับทราบข่าวนี้ ผู้เขียนซึ่งเป็นคนหนึ่งที่นิยมชมชอบแนวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด ก็รู้สึกไม่สบายใจและหนักใจเมื่อมองไปข้างหน้า เพราะข่าวทำนองนี้ไม่เป็นผลดีต่อพรรคการเมืองเก่าแก่เช่นพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นบวกมาตลอดในสายตาของคนทั่วไป ทั้งยังเป็นความหวังของผู้คนที่เบื่อการเมืองในขณะนี้ว่าเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้

เมื่อประชาชนเริ่มผิดหวังกับการจัด ครม.ของพรรคประชาธิปัตย์ และถ้าความผิดหวังที่ว่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบอย่างไรต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูการเข้าไปเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2540 ต่อจากรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องอำลาลงจากเก้าอี้เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอย และมีผลให้ต้องลดค่าเงินบาทและส่งผลกระทบถึงศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล ก็จะพบว่ามีบางอย่างเหมือนกันคือ เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่ได้เกิดกลุ่มการเมืองหนึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจนได้รับฉายานักการเมืองกลุ่มนี้ว่า งูเห่า แต่ดูเหมือนว่าการแยกตัวออกมาของนักการเมืองกลุ่มนี้ ถึงแม้จะถูกด่าจากนักการเมืองด้วยกันว่าหักหลังนักการเมืองด้วยกัน แต่ในสายตาของประชาชนทั่วไป และนักการเมืองกลุ่มนี้กลับได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเสียสละเพื่อบ้านเมือง ในการช่วยให้ประเทศมีทางออกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

แต่เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำไปได้ระยะหนึ่ง เหตุการณ์ที่มิได้คาดไว้ก็เกิดขึ้น คือ นอกจากการแก้ปัญหามิได้ดีขึ้นเท่าที่ประชาชนคาดหวังแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการแสวงหาประโยชน์เกิดขึ้นแฝงเข้ามาในนักการเมืองบางคน จนถึงกับถูกมองว่ามีเลศนัย รวมไปถึงการออกกฎหมาย 11 ฉบับตามข้อเสนอของไอเอ็มเอฟ และหนึ่งในจำนวนนี้ที่ได้รับการต่อต้านในเวลาต่อมาก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจนกลายเป็นตราบาปของพรรคประชาธิปัตย์มาระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลานานในโอกาสต่อมาในการแก้ตราบาปที่ว่า และน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองในกลุ่มของระบอบทักษิณในปี 2544 และเรื่อยมาจนถึงปี 2550 ค่อยๆ ดีขึ้น จนมีโอกาสเป็นรัฐบาลอีกครั้งในวันนี้ ในภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เหมือนกันคือ ด้วยอาศัยแรงหนุนจากกลุ่มเพื่อนเนวินอันเปรียบได้กับกลุ่มงูเห่า 2

แต่พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้จะจบลงเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝีมือของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นสำคัญ

แต่ถ้าจะให้คาดเดาโดยอาศัยปัจจัยและข้อมูลทางการเมืองที่ได้จากการจัด ครม.แล้ว พอบอกได้ว่าคงหนีไม่พ้นการยุบสภาฯ เพื่อหนีความขัดแย้งอันเกิดจากการต่อรองทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การคาดเดาสามารถบอกได้อีกทางหนึ่งโดยอาศัยโหราศาสตร์ โดยดูจากดวงเมืองและดวงผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีลัคนาอยู่กรกฎ ก็พอบอกได้ว่าคงจะอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน และอย่างมากไม่เกิน 1 ปี คงจะมีการยุบสภาฯ ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2552 แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น