xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ : โอกาสหรือวิกฤตของ ปชป.?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

นับจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดให้ยุบ 3 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม และมีผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค และมีผลให้ ครม.ทั้งคณะสิ้นสภาพไปด้วย จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ (12 ธ.ค.) นับได้ 9 วันแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแต่อย่างใด

จะมีก็เพียงแค่ข่าวการวิ่งเต้นจับขั้วกันตั้งรัฐบาลของ 2 พรรคที่แย่งกันเป็นแกนนำ คือ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย โดยมีพรรคการเมืองอื่น 3 พรรคกับอีกหนึ่งกลุ่มเป็นแนวร่วมที่กำลังถูกดึงเข้าร่วมกับแต่ละแกนนำ จนก่อให้เกิดเป็นข่าวสับสนวุ่นวายรายวัน

แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดที่ปรากฏออกมาพอจะทำให้เชื่อได้ในระดับหนึ่งว่าประชาธิปัตย์น่าจะได้เปรียบพรรคเพื่อไทย เมื่อกลุ่มเพื่อนเนวินได้จับมือกันประมาณ 30 กว่าคนหนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย

ถ้าข่าวที่ว่านี้เป็นจริง ก็จะเป็นอีกหน้าแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยืนยันสัจธรรมทางการเมืองที่ว่า สำหรับนักการเมืองแล้ว ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้น เพราะถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูที่มาของการเมืองไทยย้อนหลังจากปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงวันที่มีการยุบพรรค ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนฝั่งตรงกันข้ามกับนักการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังทาบทามให้เข้าร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวินที่ถือได้ว่าเป็นขุมกำลังสำคัญทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลนอมินีภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช จะมีการถอยห่างและลดบทบาทลงก็เพียงในรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อข่าวปรากฏออกมาว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนเนวิน จึงก่อให้เกิดความแปลกประหลาดใจแก่คอการเมืองที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างยิ่ง และยิ่งได้เห็นภาพที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จับมือกับนายเนวิน ชิดชอบ ด้วยแล้วยิ่งเพิ่มความฉงนสนเท่ห์มากยิ่งขึ้น

แต่ทุกท่านคงจะเข้าใจถ้าย้อนไปนึกถึงสัจธรรมทางการเมืองที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น เพราะจะต้องไม่ลืมว่านักการเมืองก็ต้องพูด และทำอย่างนักการเมือง จะพูดและทำอย่างคนที่มิได้เป็นนักการเมืองคงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ เราๆ ท่านๆ ที่มิได้เป็นนักการเมืองขออย่าได้ใช้ความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่มิได้เป็นนักการเมืองมาวัดความน่าจะมีน่าจะเป็นของนักการเมืองเป็นอันขาด เพราะถ้าขืนนำมาวัดท่านนั่นแหละจะกลายเป็นคนผิดปกติในสายตานักการเมือง

เมื่อยอมรับสัจธรรมทางการเมืองในประเด็นที่ว่านี้แล้ว ต่อไปนี้ก็จะมองความเป็นไปได้ และความเป็นไปไม่ได้ในการที่พรรคประชาธิปัตย์จะจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีเสียงสนับสนุน 160 เสียงตามที่คนของพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอ้าง และในขณะเดียวกัน ก็จะต้องไม่ลืมมองการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อชาติของพรรคเพื่อไทยด้วยว่ามีทางเป็นไปได้หรือไม่ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากข่าวที่ปรากฏออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวล่าสุดที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นขอเปิดสภาฯ เพื่อเลือกนายกฯ ในวันที่ 15 ธันวาคม และอ้างว่ามี ส.ส.สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วประมาณ 250-260 เสียง ก็พออนุมานได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่าพรรคเพื่อไทยที่ยังเลื่อนลอยกับจำนวน ส.ส.ที่ให้การสนับสนุน

ยิ่งข่าวสุดท้ายที่ปรากฏออกมาว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเพื่อชาติตามแนวคิดของนายเสนาะ เทียนทอง แห่งพรรคประชาราชด้วยแล้วยิ่งห่างไกลจากความเป็นไปได้ เพราะแนวคิดที่จะนำ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีฝ่ายค้านนั้นมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ได้เกิดขึ้นมาเกือบทุกครั้งที่การเมืองสับสนวุ่นวาย และส่อเค้าว่าจะถึงทางตัน แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลแห่งชาติก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้น่าจะด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะทางการเมืองดังต่อไปนี้

1. ตามระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการถ่วงดุลในสภาฯ โดยมีฝ่ายค้านเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล

แต่เมื่อเอาทุกพรรคมารวมกันเป็นรัฐบาลเสียแล้ว จะมีใครคอยตรวจสอบการทำงานเพื่อเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนที่เลือกเข้ามา และที่ยิ่งกว่านี้ การมีรัฐบาลแบบนี้ไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลเผด็จการ จะแตกต่างกันก็เพียงเป็นเผด็จการของคนกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

2. ถึงแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จในการประชุมสภาฯ ในวันที่ 15 ธันวาคม โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ใช่ว่าปัญหาความยุ่งยากทางการเมืองจะจบลงแค่นี้ ตรงกันข้ามจะยังคงมีปัญหาวุ่นวายตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น

การแบ่งโควตารัฐมนตรีให้แก่พรรค และกลุ่มการเมืองที่มาเข้าร่วมเป็นรัฐบาล จะทำให้ทุกคนพอใจกับตำแหน่งที่ได้รับหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำให้ทุกคนพอใจได้ทุกอย่างคงจบลงได้ในระยะเริ่มต้น แต่อยู่ต่อไปก็ใช่ว่าความพอใจจะคงอยู่ต่อไปเหมือนเดิม ตรงกันข้ามอาจมีการเปลี่ยนจากความพอใจเป็นความน้อยใจ และพัฒนาขึ้นไปเป็นความไม่พอใจได้ ถ้าความต้องการของกลุ่มต่างๆ ที่ร้องขอจากพรรคแกนนำไม่ได้รับการตอบสนอง หรือแม้จะมีการตอบสนองแต่ไม่เพียงพอ

เพราะจะต้องไม่ลืมว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้ในครั้งนี้จะกลายเป็นลูกหนี้บุญคุณให้พรรคและกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวินตามมาเป็นระยะๆ ตามเวลาที่เป็นรัฐบาลร่วมกัน และเมื่อเป็นเช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์จะทนต่อเสียงทวงถามที่ว่านี้ได้หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน ถ้าทนได้และยอมทำตาม พรรคประชาธิปัตย์มีความแน่ใจแค่ไหนว่าการยอมทำตามเสียงร้องขอจะไม่สวนทางกับอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมายาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ และถ้ามีการสวนทางกันเกิดขึ้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจะคุ้มค่ากับจุดยืนที่เสียไปหรือไม่ เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องคิด

ด้วยเหตุนี้ การเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้จึงเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสทางการเมือง กล่าวคือ ถ้าสามารถบริหารจัดการประเทศได้ดีในทุกแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ก็จะเป็นโอกาส แต่ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นวิกฤตในทันทีเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีงูเห่าจากพรรคประชากรไทยเข้ามาเป็นตัวเสริมให้จัดตั้งรัฐบาลได้ และสุดท้ายกลายเป็นวิกฤตเมื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนั้นได้สร้างปัญหาเรื่องกฎหมาย 11 ฉบับให้เกิดขึ้น โดยเป็นกฎหมายที่ออกมารองรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามเงื่อนไขในการขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ

ส่วนพรรคเพื่อไทยเท่าที่ดูจากข่าวในขณะนี้โอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์บรรลุเป้าหมายได้ยาก จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะบริหารจัดการอย่างไรหลังจากได้เป็นรัฐบาล เพราะโอกาสได้เป็นรัฐบาลคงเกิดขึ้นได้ยาก

ประการสุดท้ายที่จะต้องพูดถึงก็คือ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล โอกาสที่จะอยู่ครบเทอมคงจะยาก เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่ขัดกฎธรรมชาติที่ว่า นกสีเดียวกันเข้าฝูงกันได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลรวมถึงกลุ่มการเมืองด้วยเป็นนกต่างสี จึงยากที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นฝูงโดยไม่มีการแบ่งกลุ่มภายในรัฐบาล และถ้ามีการแบ่งกลุ่มเกิดขึ้นเมื่อใดนั่นหมายถึงว่าโอกาสยุบสภาฯ ได้มาถึงแล้วเมื่อนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น