xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเก่าล้มเหลว : เหตุเกิดการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

สิ่งใดก็ตามเป็นที่ต้องการของผู้คนส่วนใหญ่ของสังคม สิ่งนั้นจะเกิดและคงอยู่คู่กับสังคมตราบเท่าที่สังคมยังมีความต้องการ

ในทางกลับกัน สิ่งใดก็ตามยังไม่เป็นที่ต้องการของผู้คนในสังคม สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะค่อยๆ ลดลงและหมดไปในที่สุด นี่คือนัยแห่งวาทะของนักปราชญ์ตะวันตกท่านหนึ่ง

นัยแห่งข้อความดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นกับการเมืองไทยในขณะนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้

1. ผู้คนในสังคมไทยกำลังเกิดอาการเบื่อการเมืองอย่างเห็นได้ชัด จากการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มว่าจะมีการไปออกเสียงเลือกตั้งน้อยลง และแม้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็มีการกากบาทในช่องไม่ออกเสียงมากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา

2. ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การออกมาต่อต้านรัฐบาลที่ได้รับเลือกเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มต่อต้านซึ่งนำโดยแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

3. ในการต่อต้านรัฐบาลตามข้อ 2 นอกจากจะมีการเปิดเผยข้อมูลความเลวร้ายของนักการเมืองในฟากรัฐบาลแล้ว ยังได้มีการเสนอแนวคิดในการสร้างการเมืองใหม่มาทดแทนระบบเก่าที่กำลังจะหดหายตายจากไป เพราะประชาชนไม่ศรัทธาและต้องการสิ่งใหม่มาทดแทน

ทำไมคนไทยจึงเบื่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ ทั้งๆ ที่ระบบนี้ก็มีแหล่งกำเนิดหรือที่มาจากประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย

เกี่ยวกับประเด็นแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านที่สนใจการเมือง และคอยติดตามการเปิดเผยข้อมูลการกระทำของนักการเมืองจะเข้าใจได้ไม่ยาก

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นเหตุที่ผู้คนพากันเบื่อหน่ายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนขอให้ท่านลองย้อนไปดูวิวัฒนาการแห่งการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ก็จะเห็นปรากฏการณ์ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ ดังนี้

1. ติดอยู่ในวงจรซ้ำซากระหว่างการเลือกตั้ง กับการปฏิวัติ

ถ้าย้อนไปดูเส้นทางการเมืองไทยตั้งแต่มีการปกครองใน พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ก็จะเห็นว่ามีการผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง กล่าวคือ เมื่อมีการเลือกตั้งและรัฐบาลอยู่มาได้ระยะหนึ่ง ก็จะมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตัวเอง และพวกพ้องของนักการเมืองในฟากที่เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีรวมไปถึงบริวารแวดล้อม เริ่มตั้งแต่นายทุน นักการเมือง ไปจนถึงคนรับใช้รัฐมนตรีในตำแหน่งต่างๆ และเมื่อข่าวการทุจริตในทำนองนี้ถูกฝ่ายค้านขุดคุ้ยและสื่อต่างๆ นำเสนอออกไป ก็ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ลาออก และโดยธาตุแท้ของนักการเมืองประเภทนี้ คำว่าลาออกแทบไม่มีอยู่ในความทรงจำ สุดท้ายก็จะจบลงด้วยกองทัพออกมาโค่นล้มรัฐบาล และเหตุอ้างในการโค่นล้มทุกครั้งจะหนีไม่พ้นข้ออ้างว่า มีการทุจริต คอร์รัปชันเป็นเหตุใหญ่ใจความ และแถมด้วยย่อยๆ เป็นต้นว่า แทรกแซงสื่อ ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ และประชาชนในการปกครองจนทำให้คนทั้งหลายเบื่อหน่ายและต้องการขับไล่

ครั้นคณะปฏิวัติปกครองประเทศมาได้ระยะหนึ่ง ก็มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกับนักการเมือง คือ การเล่นพรรคเล่นพวกในการโยกย้ายข้าราชการ และมีการแสวงหาผลประโยชน์ จนในที่สุดก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการขับไล่รัฐบาลเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 และในที่สุดก็เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แล้วทุกอย่างก็เข้าสู่วงจรเดิม คือ นักการเมืองมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ และประชาชนเบื่อหน่ายออกมาขับไล่จนทำให้กองทัพทนไม่ได้ออกมาโค่นล้มรัฐบาลวนเวียนอยู่อย่างนี้ถึง 17 ครั้ง จาก พ.ศ. 2475 ถึง กันยายน 2549 นับเป็นเวลาประมาณ 74 ปี และถ้านับถึงปัจจุบันประเทศไทยมีนายกฯ มาแล้ว 26 คน รวมทั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กำลังรอโปรดเกล้าฯ อยู่ในขณะนี้ ในจำนวน 26 คน ถ้าเอานายกฯ ที่มาจากการโค่นล้มรัฐบาล 17 ครั้งหักออก จะเห็นได้ว่า นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีเพียง 9 คนในจำนวน 26 คน ซึ่งถือได้ว่าน้อยเมื่อนำการปกครอง 2 ระบบ คือการปกครองในรูปแบบเผด็จการกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเทียบกัน

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าการเมืองไทยไม่ดีเพราะระบบการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้อง และเป็นธรรมนัก ถ้าจะให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายก็จะต้องบอกว่าที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้า และพัฒนาไปเท่าที่ควรจะเป็น น่าจะมาจากสองสาเหตุคือ

1.1 นักการเมืองไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ทั้งยังขาดคุณธรรมและจริยธรรม จึงไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้เยี่ยงอารยประเทศทั้งหลาย

1.2 กองทัพไม่มีความอดทนพอที่จะปล่อยให้การเมืองแก้ปัญหาด้วยการเมือง โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปรับปรุงแก้ไข จึงทำให้การเมืองถูกตัดวงจร และคั่นเวลาด้วยการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ

2. การเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองในทุกตำแหน่ง ได้ดำเนินไปในลักษณะเป็นธุรกิจการเมือง คือ มีการลงทุนค่อนข้างมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่สามารถควบคุมการซื้อสิทธิขายเสียงได้

ดังนั้น เมื่อได้รับการเลือกตั้งจึงมีการถอนทุนคืน และนี่คือสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดการแสวงหาในทางมิชอบ และนำไปสู่การถูกโค่นล้มจากกองทัพ

3. ทั้งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ต่างคนต่างมองผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเอง และพวกพ้องมากกว่ามองประโยชน์ส่วนรวมในอนาคต กล่าวคือ ผู้ลงคะแนนได้ให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลโดยยึดความใกล้ชิด ผลประโยชน์ที่เคยได้รับและที่สำคัญคือสัญญาว่าจะให้เมื่อได้รับเลือก จะเห็นได้ชัดเจนจากสนามเลือกตั้งในเขตชนบทที่ผู้ได้รับเลือกจะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านเป็นการส่วนบุคคล เช่น งานศพ งานแต่ง ไปปรากฏตัวและให้ความช่วยเหลืออันเป็นผลประโยชน์ทางตรง และครั้นได้รับตำแหน่งแล้วก็พยายามผลักดันงบประมาณไปลงในพื้นที่เลือกตั้ง อันเป็นการให้ประโยชน์ทางอ้อมแก่ฐานคะแนนของตนเอง เป็นต้น

ส่วนบุคคลที่แม้จะมีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศโดยรวมได้ ถ้าไม่เดินตามรอยผู้ที่ชาวบ้านเคยเลือกด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นก็จะไม่ได้รับเลือก และนี่เองที่การเลือกตั้งของประเทศไทย จึงแหวกวงล้อมการเมืองแบบเดิมไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อลงทุนในการลงเลือกตั้ง ครั้นได้รับเลือกก็พยายามที่จะมีตำแหน่งทางการเมืองเพื่อหวังถอนทุนคืนในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงว่าส่วนรวมจะได้รับความเสียหายใดๆ หรือไม่ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นในทุกพรรคการเมือง และมากที่สุดในพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อค้ำจุนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้ขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมือง ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เมื่อการเมืองเก่าติดอยู่ในวงจรซ้ำซากและเกิดความจำเจ ก็นำไปสู่ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน และเมื่อเบื่อหน่ายก็มีเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนี่เองคือจุดเกิดการเมืองใหม่ดังที่เป็นอยู่ในทำเนียบรัฐบาลขณะนี้

การเมืองใหม่คืออะไร และมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การเมืองแบบเก่าคนเบื่อ และเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องการเมืองใหม่เพื่อมาแทนการเมืองเก่าที่คนส่วนใหญ่มีความต้องการน้อยลง และกำลังจะหมดไปจากสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้ การเมืองใหม่ถ้าจะถามว่าหมายถึงอะไรก็จะตอบได้ทันทีว่า จะต้องมีองค์ประกอบ และรูปแบบต่างไปจากของเก่า ถึงไม่ทั้งหมดก็จะต้องเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเนื้อหา และรูปแบบ ตัวอย่างหนึ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอก็น่าสนใจ ตั้งแต่ชื่อที่เสนอคือ ประชาภิวัฒน์ อันหมายถึงประชาธิปไตยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมโดยประชาชนเป็นผู้กำหนดรูปแบบหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้ประชาชนในทุกภาคส่วนเข้ามากำหนดรูปแบบ และทิศทางการเจริญเติบโตของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยในทุกด้าน ไม่ว่าด้านสังคม เศรษฐกิจ และแม้กระทั่งในด้านการเมืองเองด้วย

ส่วนประเด็นว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ประเด็นนี้จะต้องเริ่มจากความพร้อมของประชาชน และความพร้อมที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการให้การศึกษา และทำความเข้าใจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยผ่านทางการเมืองภาคประชาชนดังที่กลุ่มพันธมิตรฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เมื่อประชาชนมีความพร้อมแล้วก็เริ่มต้นด้วยการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา โดยการร่างรัฐธรรมนูญให้มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งรูปแบบ และวิธีการที่จะได้มาซึ่งการเมืองแบบใหม่ หรือถ้าไม่ใช้วิธีนี้ก็สามารถกระทำได้โดยการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อกำหนดรูปแบบการเมืองใหม่ แต่วิธีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วย ปฏิวัติรัฐบาลล้มเลิกรัฐธรรมนูญแบบเก่าแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกภาคส่วนเข้ามากำหนดแนวทางการเมืองใหม่ โดยการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งการเมืองใหม่ มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเพียงการร่างรัฐธรรมนูญก็จะพบอุปสรรคจากคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่ว่านี้ก็คือกลุ่มการเมืองเก่าที่ได้ประโยชน์จากการเมืองแบบเก่า และถ้าจะมีการปฏิวัติก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ และต้องการความมั่นคงทางการเมือง

แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น เชื่อได้ว่าการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ยาก และแนวคิดเรื่องนี้จะจำกัดอยู่ในคำว่า เป็นความฝันสำเร็จรูปของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น