xs
xsm
sm
md
lg

"อุ๋ย" แฉเกาหลา 4 หน่วยงานรัฐ "สมคิด" แนะสางต้นตอปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต 2 รมว.คลัง เย้ยทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชาย "อุ๋ย" ลากไส้ 4 หน่วยงานรัฐ ซดเกาเหลากันเละ "สมคิด" จี้รัฐแก้ปัญหาที่ต้นตอ เร่งสร้างความเชื่อมั่น-อย่าให้ประชาชนเกิดภาวะหวาดกลัว สภาพัฒน์ ตอกย้ำ ศก.ไทยปีหน้าเผาจริง แนะจับตาผลประชุม กนง. สัปดาห์หน้า

วันนี้ ( 25 พ.ย.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาเรื่อง การเมืองไทยรับภาวะเศรษฐกิจปี 2552 โดยระบุว่า ขณะนี้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก มีความสำคัญมากกว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องบริหาร 4 หน่วยงานหลักของรัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้มีความสามัคคีกัน ในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว

"ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าความขัดแย้งทางการเมือง จะจบลงได้เมื่อไรก็ตาม รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อรองรับกับการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลง โดยมองว่า การส่งออกในปีหน้า จะขยายตัวได้ในกรอบร้ 0% ถึง 5% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว หากขยายตัวได้ในกรอบ 3% ถึง 4% ก็อยู่ในระดับที่พอใช้ได้"

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ควรตั้งงบประมาณขาดดุลในปีหน้าอย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นอันตรายต่อฐานะการคลัง ซึ่งควรตั้งเผื่อไว้ 2 - 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจโลกจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 2 ปี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อาจจะเติบโตในอัตรา 3-4% โดยระบุว่า การส่งออกและการท่องเที่ย อาจวขยายตัวได้ยาก เนื่อจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รัฐบาลจะต้องดูแลด้านการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องเดินหน้าเร่งให้มีการประมูลในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่หลายฝ่ายกำลังรออยู่ อีกทั้งการใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลก็ต้องดูว่าไม่เป็นการสร้างหนี้ให้กับประเทศจนเกินไป เนื่องจากใน 2-3 ปีข้างหน้านโยบายการคลังก็ยังคงต้องเป็นนโยบายขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะเป็นภาระหนี้สืบเนื่องต่อไปอีก

นอกจากนี้ ยังรวมถึงจะต้องดูว่างบประมาณขาดดุลที่ทำขึ้นนี้นำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งควรจะนำไปใช้ในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ โครงการพัฒนาระบบน้ำ โรงพยาบาล และอาคารเรียน เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทำให้เกิดการจ้างงานและได้ประโยชน์จากตัวโครงการด้วย ซึ่งต่างจากการแจกเงินให้ประชาชนโดยตรง เพื่อสร้างคะแนนนิยม รวมถึงงบประมาณในโครงการเอสเอ็มแอล ถ้าหากไม่มีการดูแลที่ดี ก็จะมีการนำไปใช้ที่หละหลวม นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลราคาพืชผลไม่ให้ตกต่ำ เนื่องจากหากราคาพืชผลตกต่ำ ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าปัญหาภายใน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ซึ่งในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบในด้านของตลาดทุนไปแล้ว ส่วนตลาดการค้าก็กำลังได้รับผลกระทบ แต่ในภาคสถาบันการเงินมองว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะสถาบันการเงินของไทยยังมีความแข็งแกร่ง

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงหนักในปี 2552 ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องพยายามออกมาตรการดูแล เพราะยังมีความเสี่ยงหลายส่วน แม้ภาคเอกชนจะเสนอแนะมาตรการต่างๆ ขอให้ช่วยเหลือ รัฐบาลก็ต้องหนักแน่น เพื่อยึดประโยชน์ของประเทศโดยรวม

นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับสิ่งสำคัญต้องรีบดำเนินการ คือ ประการแรก พยายามอย่าให้เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อเกิดปัญหาจริงแม้จะมีสภาพคล่อง แต่สถาบันการเงินก็คงต้องรักษาตัวเองไม่ปล่อยสินเชื่อและเลือกดูแลเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ หากมีการค้ำประกันความเสี่ยงหรือดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี โดยนโยบายการเงินและการคลังต้องสอดรับไปด้วยกัน อย่าดำเนินนโยบายต่างคนต่างไป เพราะการดูจังหวะทั้งสองนโยบายมีความสำคัญมาก ยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นควรปรับลดลง แต่แม้จะลดดอกเบี้ยก็คงไม่มีใครนำไปขยายการลงทุน เพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระ แต่จะต้องอยู่ที่ความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ

ประการที่สอง อย่าปล่อยให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะความกลัว ความกังวล จนไม่กล้าทำอะไร เพราะจะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก แม้ปัจจัยพื้นฐานดี แต่ก็ต้องดูแลให้เกิดความเชื่อมั่น โดยรัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เป็นห่วงมากคือ การบริโภคในประเทศลดลงจะทำให้ประเทศก้าวสู่ภาวะเงินฝืด ดังนั้น จะต้องหาแนวทางป้องกันการเข้าสู่ภาวะดังกล่าว จากตัวอย่างญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาเงินฝืดต้องเสียเวลาเยียวยาถึง 10 ปี ต้องตัดวงจรดังกล่าว

ประการที่สาม การใช้จ่ายของรัฐบาล เมื่อภาวะเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยจะทำให้การลงทุนชะงัก รัฐบาลจะต้องเร่งใช้จ่าย เพราะหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเกิน 2-3 ปี รายได้จากภาษีของรัฐบาลจะไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้รัฐบาลจะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลสูงขึ้น จากนั้นจะทำให้ภาวะทางการคลังรับไม่ไหว และต้องระมัดระวังการส่งเงินไปยังประชาชนระดับรากหญ้าแล้วทำให้มีกิจกรรมบริโภคจริงหรือไม่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบมากน้อยเพียงใด หากรัฐบาลนำเงินไปพัฒนาผ่านโครงการต่างๆ ที่สำคัญ และสร้างกิจกรรมมากยิ่งขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี โดยต้องระมัดระวังการแบ่งเค้กของโครงการที่นำไปใช้เงินงบประมาณโดยไม่ถูกวัตถุประสงค์ แต่ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องเร่งหามาตรการป้องกันปัญหาการตกงาน เพราะต่อไปจะมีนักศึกษาจบใหม่ตกงานจำนวนมาก

ดังนั้น จะต้องมีแนวทางการพัฒนาทักษะ ฝึกอบรมให้กับแรงงานจบใหม่ โดยกระทรวงแรงงานต้องหาแนวทางตั้งรับไว้ล่วงหน้า เพราะจะมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อตั้งรับได้จะช่วยบรรเทาปัญหาให้คลี่คลายลง โดยมองว่านโยบายใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นมาตรการไม้สุดท้ายที่จะต้องเร่งดูแลเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจช่วงนี้ให้มีประสิทธิภาพ

ประการที่สี่ อย่าปล่อยให้ประเทศเป็นชาติที่ไม่มีความหมายบนเวทีโลก โดยเฉพาะเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เวทีอาเซียน+3 เวทีเอเปก อย่าทำให้ประเทศไทยเป็นตัวถ่วง เพราะการเจรจาตกลงในเวทีดังกล่าวจะสร้างประโยชน์มหาศาลในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเวทีโลกว่าไทยมุ่งมั่นชิงความได้เปรียบประเทศสมาชิก เพื่อพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ขนส่ง บริการ เพราะหากการเจรจาในเวทีดังกล่าวถูกมองว่าไทยไม่มีความหมายก็จะไม่สามารถแข่งกับประเทศอื่น นักลงทุนจะไม่กล้าเข้ามาขยายธุรกิจหรือวางแผนดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะปีหน้าจะเป็นปีแห่งการปฏิรูปหลายด้าน ดังนั้น ไทยจะต้องไม่ตกขบวนรถไฟ ซึ่งจะต้องปรับปรุงบทบาทหลายด้าน

ประการสุดท้าย การหามาตรการระยะยาวดูแลปัญหาเศรษฐกิจ โดยต้องวางแผนพัฒนาการพึ่งพาตลาดในประเทศให้สอดคล้องกับการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเร่งพัฒนาตลาดในประเทศด้วยการดูแลสินค้าเกษตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์เพื่อขนส่งสินค้า โดยย้ำว่าหัวใจของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือดึงความเชื่อมั่นไปยังประชาชนโดยเร็ว โดยรัฐบาลจะต้องขจัดความกลัวไปจากคนไทย แม้การถกเถียงเกี่ยวกับการออกนโยบายเศรษฐกิจจะมีความขัดแย้งบ้าง แต่เมื่อออกสู่สาธารณชนต้องไม่มีความขัดแย้งให้เห็น เพราะต้องพูดเสียงเดียวกันถึงการดำเนินนโยบาย จากนั้นความเชื่อมั่นจะกลับคืนมา

นายสมคิด ยังแนะให้ดูแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐแม้จะหนักมากแต่เมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อประธานาธิบดีคนใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สามารถดึงความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ และนายบารัค โอบามา ยังนำคู่แข่งอย่างนางฮิลลารี คลินตัน มาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และดึงนายลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ปัญหาของสหรัฐที่หนักไม่มีการแบ่งพรรคพวก เพราะต้องการมุ่งมั่นแก้ปัญหา จึงน่านำมาเป็นตัวอย่างให้กับประเทศไทย

ขณะที่ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปีหน้าจะทวีความรุนแรงมากกว่าปีนี้ โดยหวังว่าสถานการณ์ความผันผวนทางการเมืองจะยุติโดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลมีโอกาสบริหารประเทศได้เต็มศักยภาพ แต่ยังเชื่อว่ารายได้จากภาคการเกษตรยังขยายตัวได้ดี จะมีบทบาทสำคัญช่วยกู้วิกฤตได้เหมือนเมื่อปี 2540

สำหรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศในปีนี้ที่ระดับ 4.5% ซึ่งแถลงไปเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) นายอำพน กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่แท้จริง แต่เป็นตัวเลขต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งด้านหนึ่งถือเป็นความโชคดีที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ล่วงหน้า สาเหตุที่สภาพัฒน์ต้องปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้มาอยู่ที่ 4.5% และ 3-4% ในปีหน้า เนื่องจากเห็นสัญญาณการลดกำลังการผลิตและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศในสัดส่วนสูงถึง 40% โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2551 ก่อนเกิดวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส ภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวสูงถึง 9.5% แต่กลับลดลงเหลือ 7.7% ในไตรมาส 2 ปี 2551

นายอำพน กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่าเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราว แต่ผลกระทบยังต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2551 โดยการขยายตัวลดลงเหลือ 6.1% และคาดว่าจะลดลลงอีกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณจากการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศในสัดส่วน 5-10% ลดลงอย่างรวดเร็ว จากที่เคยขยายตัว 9.2% ในไตรมาสแรก ลดลงมาเหลือ 0.2% ในไตรมาสที่สาม ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเงินกว่า 370 ล้านบาท นำไปใช้ประชาสัมพันธ์และทำการตลาด เพื่อพยุงสถานการณ์ไว้ไม่ให้เลวร้ายลงอีก

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของภาคการบริโภคในปีหน้าจะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับ 3-3.5% จากปีนี้ที่ระดับ 2.5-3% ขณะที่ภาคการลงทุนมีความพร้อมในเรื่องโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ทั้งระบบขนส่งมวลชน, ถนน, น้ำ และสาธารณสุข หากสามารถผลักดันได้จะช่วยให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ถึง 7-8% และหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ปี 2552 การลงทุนของภาคเอกชนก็จะฟื้นตัวตามมาด้วย

ทั้งนี้ รัฐจะต้องพิจารณาว่านโยบายด้านการลงทุน จะเชื่อมโยงกับนโยบายด้านการเงิน ที่เข้มงวด หรือผ่อนปรนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้น นโยบายการเงินต้องสอดคล้องกับนโยบายการคลังคือต้องผ่อนปรนลงด้วย ซึ่งต้องพิจารณาตามสถานการณ์ แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเนื่องจาก จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น