xs
xsm
sm
md
lg

ยุติการเมืองที่ล้มเหลว ‘อภิสิทธิ์’ ต้องสานต่อ ‘ชวน’เร่งตั้ง ‘คพป.’ ภาค 2 !!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ที่สวยงามกับสปีชแรกเมื่อค่ำวันที่ 17 ธันวาคม 2551

น่าเสียดายว่าภาพลักษณ์กับความเป็นจริงยังสวนทางกัน

“หน้าที่เบื้องต้นของผมคือการยุติการเมืองที่ล้มเหลว ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งภาคแบ่งสีของประเทศในขณะนี้...”

ก่อนหน้านั้นเราเห็นการเมืองที่ล้มเหลวก่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอย่างทุทักทุเล หลังจากนั้นเราก็ยังเห็นการเมืองที่ล้มเหลวเข้ามาจัดคณะรัฐมนตรีชนิดที่แม้แต่คนภายในพรรคการเมืองของท่านนายกฯ ยังรับไม่ได้ และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงกับตำหนิตรง ๆ ต่อหน้าท่านนายกฯ

ณ นาทีที่เขียนงานชิ้นนี้ ผมยังไม่เห็นนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 29 - 30 ธันวาคม จึงยังไม่อาจรู้ได้ว่าท่านนายกฯ จะ “ยุติการเมืองที่ล้มเหลว” ด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไร แว่วแต่ว่าจะไม่บรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบาย

ขอเสนอให้ท่านนายกฯ เร่งก่อตั้งคณะกรรมการอิสระในทำนอง “คพป. - ภาค 2” ขึ้นมาทันที

คพป.ย่อมาจากคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2537 โดยนายมารุต บุนนาค ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแก้วิกฤตการเมืองในขณะนั้นที่เกิดจากการอดข้าวร้องขอรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของร.ต.ฉลาด วรฉัตร ซึ่งพอจะถือได้ว่ากำลังจะเป็นภาคต่อเนื่องของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่จุดชนวนเป็นครั้งแรกจากการอดข้าวของท่านผู้นี้เมื่อต้นเดือนเมษายน 2535 ก่อนจะตามสมทบด้วยการอดข้าวชนิดเข้มข้นของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง และขยายเป็นการต่อสู้ของพลังประชาธิปไตยทั้งมวล

เรื่องนี้ท่านนายกฯ จำได้ดีกว่าใคร เพราะตั้งแต่ปลายปี 2534 ท่านก็ขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นเหตุการณ์อุ่นเครื่องก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยมีพล.ต.จำลอง ศรีเมืองนำพรรคพลังธรรมเข้าร่วมด้วย

แต่ไปกันได้ไม่ค่อยสวยงามนัก

การออกมาอดข้าวอดข้าวประท้วงอีกครั้งของร.ต.ฉลาด วรฉัตรทำให้เกิดรอยร้าวใหญ่ระหว่าง 2 พรรค

คพป.ที่ก่อตั้งขึ้นมาแม้ไม่สามารถสมานรอยร้าวระหว่าง 2 พรรคได้มากนัก แต่ก็ทำให้แนวโน้มความรุนแรงยุติลงในระดับสำคัญ และด้วยการทำงานที่มุ่งมุ่นของคณะกรรมการส่วนใหญ่ ภายใต้การนำของอาจารย์หมอประเวศ วะสี ประธาน และอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการ และบรรดานักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่กำลังร้อนวิชา เดือนเมษายน 2538 คพป.ก็ได้ข้อสรุปเสนอต่อประธานรัฐสภา

แม้จะไม่สัมฤทธิผลในทันที แต่นี่ก็คือรากฐานที่พัฒนาต่อไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 211 ในอีก 18 เดือนต่อมา เป็นต้นกำเนิดของ ส.ส.ร.ที่ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2540

สถานการณ์ในขณะนี้แม้ไม่เหมือนแต่ก็นับว่าละม้ายคล้ายคลึง!

วิกฤตที่เกิดขึ้นอันมีผลทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ไม่ว่าเมื่อปี 2535 หรือ 2551 ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองโดยพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลภายใต้โครงสร้างทางการเมืองเดิม และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงชักช้า ประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ไม่ว่าเมื่อปี 2535 หรือ 2551 เขาก็ต้องก่อการเคลื่อนไหวอีกอยู่ดี และอย่าคิดว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาจะไม่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับพรรคประชาธิปัตย์

นายกฯ อภิสิทธิ์ฯ ณ ปี 2551 ก้าวหน้าไปกว่านายกฯ ชวนฯ ณ ปี 2535 ขั้นหนึ่งด้วยการประกาศว่าจะยุติการเมืองที่ล้มเหลว

แต่แค่ประกาศยังไม่พอครับ ต้องเร่งลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย!

ก็อย่างที่ผมฟันธงไว้แหละว่า เริ่มต้นด้วยการตั้ง “คพป. ภาค 2” ขึ้นมาเป็นปฐมบท เลิกสนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบไปก่อน

แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

แก้ครับ แก้มากเสียด้วย แต่ไม่ใช่แก้เพื่อฟอกผิดให้ใคร ไม่ใช่แก้เพื่อลดกฎเกณฑ์ในการกำกับไม่ให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้ง และไม่ใช่แก้ภายใน 3 เดือน 6 เดือนนี้

แต่เป็นการแก้ หรือเขียนใหม่ ภายหลังได้ข้อสรุปจาก “คพป.ภาค 2” แล้ว!!

ข้อเสนอหลายประการของ คปพ.ภาค 1 เมื่อปี 2537 ใช้เป็นฐานต่อยอดความคิดได้ เป็นต้นว่าเรื่องที่มาของ ส.ส. ที่มาของ ส.ว. การมีสภาที่ 3 หรือการแบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ฉบับ และ ฯลฯ ผู้คนในแวดวงการเมืองที่ยังมีหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ "ข้อเสนอกรอบความคิดในการปฏิรูปการเมืองไทย" จัดพิมพ์โดย คพป. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) น่าจะลองย้อนอ่านดู

คพป. เมื่อปี 2537 ใช้สต๊าฟทำงานเป็นนักวิชาการกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง รับไปทำวิจัยเป็นหัวข้อๆ รวมแล้ว 15 หัวข้อ โดยมีทุนจาก สกว. สนับสนุน งานเหล่านั้นบางส่วนล้าสมัย บางส่วนทำแล้วแล้วพบข้อดี-ข้อเสีย บางส่วนยังไม่ได้ทำผลการศึกษาเก่ายังพอใช้ได้ น่าจะศึกษาต่อยอดเพิ่มเติม ไม่ต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ทั้งหมด

อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า น่าจะเข้ามาเป็นหนึ่งใน คปพ.ภาค 2 ด้วย

แล้วให้สถาบันพระปกเกล้ามาเป็นหน่วยธุรการและหน่วยวิชาการ รับงานด้านเลขานุการและวิชาการ

โดยเฉพาะงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน

ผมเชื่อว่าน่าจะได้บทสรุปที่ดีพอสมควร เพราะท่านผู้นี้มีทั้งประสบการณ์และวุฒิภาวะสูงขึ้นมากในรอบ 10 ปีเศษมานี้ และรากฐานการเมืองใหม่ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2540 ก็เริ่มลงหลักปักฐานบ้างแล้ว

ส่วนตัวประธานคพป.ภาค 2 นั้น เมื่ออาจารย์หมอประเวศประกาศไม่รับไปแล้ว ผมว่าหาคนเหมาะสมกว่าคุณอานันท์ ปันยารชุน ยาก

ภายในเวลาก่อนสิ้นปี 2552 รายงานจาก คพป. ภาค 2 จะเสร็จสมบูรณ์

ก่อนสมบูรณ์ ผมอยากเห็นงานสัมมนาใหญ่ทางวิชาการประจำปี 2552 ที่มักจะจัดราว ๆ เดือนตุลาคมที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติใช้หัวข้อ “ยุติการเมืองที่ล้มเหลว” เป็นหลัก

ท่านนายกฯ ครับ -- “ราคา” ที่ประชาชนและประเทศชาติต้องจ่ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วครั้งนี้สูงนัก

ชีวิต...อวัยวะ...เลือดเนื้อ...และผลกระทบทางจิตใจนานัปการ

อย่าให้มันจบอยู่เพียงแค่สปีชที่งดงามและเอสเอ็มเอสอ้อนประชาชนเท่านั้น

คพป.ภาค 2 อยู่ในวิสัยที่ท่านจะทำได้โดยไม่สูญเสียความมั่นคงทางการเมือง!
กำลังโหลดความคิดเห็น