xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ระบุไอเดียการเมืองใหม่พันธมิตรฯ เป็นเรื่องดี ชี้เกิดได้แต่ต้องใช้เวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ – “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” หนุนการเมืองใหม่ ระบุ เป็นเรื่องดีท่ามกลางวิกฤตการเมือง ชี้ ต้องพัฒนาทั้งตัวแทนในระบบรัฐสภา-รัฐบาล และการเมืองภาคพลเมืองไปพร้อมๆ กัน สร้างสำนึกของคนในระดับรากหญ้า ให้ค่อยๆ เติบโต อดีตตุลาการศาล รธน.-ส.ว.ขานรับการเมืองใหม่ คานการเมืองระดับบนที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง
วันนี้ (23 ก.ย.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้จัดการบรรยายเรื่อง “สภาพัฒนาการเมืองกับสภาองค์กรชุมชน” โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2549 อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า ข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ระบุถึงต้องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบเขต และ ผู้แทนจากสาขาวิชาชีพ เป็ฯเรื่องที่เป็นไปได้ ทว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก

นักกฎหมายอาวุโส ระบุด้วยว่า ระบบดังกล่าวก็มีการใช้ในเขตปกครองตัวเองพิเศษฮ่องกง คือ ใช้ระบบเลือกตั้งตามเขต และวิชาชีพ โดยฮ่องกงมีผู้แทน 30 คน มาจากการเลือกตั้งตามระบบเขตเลือกตั้ง และอีก 30 คน มาจาก 28 วิชาชีพ ซึ่งผู้แทนจากวิชาชีพนั้นมีอำนาจมากถึงขนาดสามารถล้มกฎหมายของสภาได้ กระนั้น ก็ติดอยู่ที่เงื่อนไขว่า ฮ่องกงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ

“แม้บ้านเมืองจะเกิดวิกฤต แต่ยังมีสิ่งที่ดี ช่วยให้คนไทยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา และร่วมกันคิดหารูปแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงจากการเมืองรูปแบบเดิม ซึ่งส่วนตัวไม่ต้องการให้มองการเมืองใหม่ในมิติแค่ระบบรัฐสภาและรัฐบาลอย่างเดียว แต่จะต้องให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมือง ในการสร้างรากฐานคนรากหญ้าที่มั่นคงและค่อยๆ ให้เติบโตขึ้น แต่สภาภาคตัวแทนก็ยังต้องมีเพื่อบริหารบ้านเมือง” เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง กล่าว

ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคพลเมือง เนื่องจากเห็นว่าการเมืองภาคตัวแทนที่มีความหมายแค่การเลือกตั้ง ไม่เพียงพอต่อสังคมไทย แต่การพัฒนาการเมืองจะต้องทำให้พลเมืองเข้มแข็งด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองครบทั้ง 120 คนแล้ว ประกอบด้วย สมาชิกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน เอ็นจีโอ 16 คน นักวิชาการ 10 คน ตัวแทนพรรคการเมืองที่มี ส.ส.7 คน และไม่มี ส.ส.2 คน ผู้แทนวุฒิสภา 2 คน และสมาชิกโดยตำแหน่ง 7 คน

เลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง กล่าวด้วยว่า สมาชิกจะทำหน้าที่ทำแผนเน้นการส่งเสริมและพัฒนาภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดี มีวิถีชีวิตประชาธิปไตย มีการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และให้ความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมและเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งหากดำเนินการการเมืองในรูปแบบนี้จะทำให้รากฐานแข็งแรงกรเมืองก็อยู่ได้ ส่วนการเมืองภาคตัวแทนที่แย่งกันเข้าสู่อำนาจปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการ

“อีกหน้าที่หนึ่งของสภานี้ซึ่งสำคัญมาก คือ การตรวจสอบควบคุมจริยธรรมของนักการเมืองหรือ ส.ส.โดยจะต้องเกิดจากสังคมคิด และเชื่อว่า คนนั้นทำผิดจริยธรรม ก็จะเกิดแรงกดดันให้นักเมืองต้องทำตาม ซึ่งแน่นอนในการเริ่มต้นจะบอกให้นักการเมืองทำตามเลยคงไม่มีทาง สภาพัฒนาการเมืองจึงต้องทำให้คนเห็นว่าสิ่งไหนถูกต้องและควรส่งเสริมยกย่อง และสิ่งไหนไม่ถูกเพื่อที่จะแยกแยะคนได้ถูก จะเป็นสภาพบังคับให้นักการเมืองรวมถึงหน่วยราชการต้องทำตาม”

“สุจิต-หมอนิรันดร์” หนุนการเมืองภาค ปชช.-ระดับชุมชน

ด้าน นายสุจิต บุญบงการ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเมืองไทยที่ผ่านมา 50 ปี แม้พยายามแก้รัฐธรรมนูญกันมาตลอด แต่การเมืองไม่ว่าระบบเลือกตั้งแบบใดก็ได้ การเมืองดีที่ล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมืองที่สับสนวุ่นวาย สภาพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นการเมืองระดับชุมชนจึงจำเป็นต้องเข้มแข็ง หากพลเมืองมีจิตสำนึกมองประโยชน์สาธารณะ เข้มแข็ง ไม่ถูกชี้นำจากคนใดคนหนึ่งให้มาร่วมชุมนุมประท้วง แต่ต้องเคลื่อนไหวด้วยสำนึกของตัวเอง

ซึ่งหากการเมืองระดับล่างนี้เข้มแข็ง ไม่ต้องกังวลว่าการเมืองระดับบนจะเป็นอย่างไร เพราะการเมืองระดับล่างที่เข้มแข็งจะทำให้นักการเมืองระดับบนเกิดความคิดที่จะทำประโยชน์สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่ใช้การเมืองเพื่อประโยชน์ตนเอง

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ก็ให้ความเห็นว่า สภาพัฒนาการเมืองคือตัวจริงของการเมืองใหม่ มิฉะนั้นจะถูกสถานการณ์ทำให้ไขว้เขวนำไปสู่โครงสร้างที่เข้ารกเข้าพงได้ จากการทำงานช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นรัฐสภาแตกเป็น 2 ส่วน จนถึงวันนี้วิกฤตสังคมที่ทำเนียบรัฐบาลพูดเรื่องนี้แต่พูดถึงแต่ตัวคน

“สิ่งที่สู้กันวันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจสมบัติผลัดกันชมมากกว่า เราไม่อยากสูญเสียอีก การเมืองวันนี้ไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมาก หรืออัศวินขี่ม้าขาวเรื่องของคนดีเท่านั้น ระบบการเมืองแม้ไม่เห็นอนาคตแต่ก็ทำลายไม่ได้ ทำให้เราต้องมาสร้างชุมชนเข้มแข็ง เราปฏิเสธทุนสามานย์ วงจรธุรกิจการเมือง ประชานิยมที่ละเมิดประชาชนไม่ได้ แต่ถ้าเราสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งโดยปลุกระดมชุมชนภาคพลเมือง เราจะมีการเมืองใหม่ที่ดีได้”

“สิ่งที่เราต้องคิด คือ การเมืองใหม่คืออะไรต้องชัดเจนหากต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย และต้องเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งการเมืองไทยที่มีสูงมากขณะนี้ ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจผลประโยชน์การเมือง แต่เปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ ร่วมคิดร่วมทำ ผมไม่อยากให้ทั้งสภาองค์กรชุมชนและสภาพัฒนาการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด แต่ 2 สภานี้ต้องหลอมรวมการทำงาน โดยสภาองค์กรชุมชนต้องเปิดพื้นที่สาธารณะ สภาพัฒนาการเมืองต้องสร้างกระบวนการการเมืองภาคพลเมือง ชุมชนไม่ปฏิเสธนักการเมือง แต่เราต้องเป็นอิสระ เป็นการพัฒนาการเมืองที่แท้จริง” นพ.นิรันดร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น