xs
xsm
sm
md
lg

วงการหุ้นหวั่นซ้ำรอยSECC ตั้งชมรมอุ้มรายย่อย-ขึงรั้วปิดกั้นใบปลอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุน อัด "เอส.อี.ซีฯ"ทำเสื่อมเสียธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน เพราะแกะดำเพียงตัวเดียว เร่งระดมชื่อผู้ถือหุ้น เข้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหลักพันล้านบาท ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และร่วมมือกับดีเอสไอในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมแฉพฤติกรรมทุจริต ตั้งแต่การปล่อยกู้เงินโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำใบหุ้นปลอม ตลอดจนป้ายทะเบียนซ้ำซ้อน ล่าสุดตื่น! เตรียมจัดตั้นชมรมอาสาพิทักษ์สิทธิ หวังใช้เป็นเครื่องมือดูแล-พิทักษ์สิทธิให้กับนักลงทุนรายย่อย หวั่นเกิดกรณีซ้ำรอย "สมพงษ์" ด้าน"ธีระชัย" เร่งประสาน TSD วางแผนแก้ปัญหาใบหุ้นปลอม โดยอาจบังคับหุ้นทุกบริษัทใช้ระบบ " scriptless"

นายวิชัย พูลวรลักษณ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผยว่า สมาคมเตรียมยื่นฟ้องร้องทางแพ่ง และทางคดีอาญาโดยร่วมมือกับกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจากทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหลักพันล้านบาทตามมูลค่าหุ้นทั้งหมด ภายหลังจากมีข่าวการหลบหนีออกนอกประเทศของนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการบริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC โดยในเบื้องต้นพบข้อมูลหลายประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัท ซึ่งมีผลกระทบกับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในหุ้นดังกล่าว ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยเหลือนักลงทุนในการพิทักษ์สิทธิ

"ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์มาการที่ผู้บริหารทำความผิดแบบนี้เป็นกรณีแรก สร้างความเสียหายทั้งต่อตัวบริษัท ผู้ถือหุ้น และลูกค้าของบริษัท รุนแรงกว่ากรณีของรอยเน็ทที่เคยเกิดขึ้น เป็นการผิดธรรมาภิบาลที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ต้องผ่านการตรวจสอบเป็นอย่างดี และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทางสมาคมฯ เพิ่งพบความผิดปกติเมื่อปิดงบไตรมาส 3"นายวิชัย กล่าว

สำหรับความเสียหายของ SECC ในครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากการที่บริษัทดำเนินการปล่อยกู้จำนวน 240 ล้านบาทให้กับบริษัทที่ไม่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับบริษัทโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต่อด้วยเรื่องรถหาย ใบหุ้นปลอม ป้ายทะเบียนซ้ำซ้อน ซึ่งหลายกรณีมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่มตั้งแต่เจ้าหนี้และลูกค้าของบริษัท คณะกรรมการบริษัท ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือแม้กระทั่งนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายวิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนที่ซื้อหุ้น SECC โดยบริสุทธิ์ใจเข้ามาหารือกับทางสมาคมแล้ว และเนื่องจากสมาคมฯ เป็นองค์กรนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงกับนักลงทุนรายย่อย ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิทักษ์สิทธิ์ผู้ลงทุนรายย่อย และมีมติให้สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบจากหุ้น SECC เพื่อรวบรวมรายชื่อและข้อมูลของนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

โดยผู้เสียหายสามารถแจ้งความเสียหายกับทางสมาคมฯ ด้วยการส่งเอกสารสำเนาบัตรประชาชนและระบุจำนวนหุ้นที่ถืออยู่รวมถึงเซ็นต์รับรองสำเนามายังสมาคมฯ ได้ตั้งแต่แต่วันนี้เป็นต้นไป และทางสมาคมฯ คาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อและยื่นฟ้องร้องได้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้และยื่นฟ้องคดีทางแพ่งได้ในต้นเดือนมกราคม 2552

“เบื้องต้นน่าจะใช้เวลาประมาณ 5 วันเพื่อรวบรวมรายชื่อให้ได้มากที่สุดก่อนในรอบแรก จากนั้นจะนำรายชื่อดังกล่าวไปดำเนินการร่วมกับทางสำนักงานก.ล.ต.ต่อไป จึงอยากให้นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบรีบติดต่อมายังสมาคมฯ โดยเร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้กระทบกับภาพลักษณ์ของบริษัทจดทะเบียนและการดูแลกิจการ ตลอดจนธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน(ซีจี)โดยตรง อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเป็นผู้บริหารระดับสูง และอาจรวมถึงคณะกรรมการบริษัท กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบด้วย จึงกระทบกับภาพลักษณ์ของบริษัทจดทะเบียน และการดูแลกิจการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันรักษาภาพลักษณ์ให้เห็นว่าเป็นเรื่องของแกะดำเพียงตัวเดียวเท่านั้น” นายวิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเกียวโยงกับเรื่องหลักธรรมมาภิบาล และหลักการบริหารกิจการที่โปร่งใส ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องปกป้องและพิทักษ์สิทธิ์ของนักลงทุน อีกทั้งต้องรวจสอบเกียวกับธรรมมาภิบาลและความโปร่งในการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนนั้น

ทั้งนี้ ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้มีการส่งหนังสือเพื่อให้บริษัทชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดัวกล่าว และเตรียมจัดตั้นชมรมอาสาพิทักษ์สิทธิขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกสำคัญของทางสมาคมฯ ในการดูแลเรื่องการพิทักษ์สิทธิให้กับนักลงุทนย่อยโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ เองก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน เนื่องจากถือหุ้น SECC ไว้จำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก เพื่อใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้น แต่มองว่าการกระทำของผู้บริหารเป็นเรื่องที่รุนแรง และส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยเฉพาะการที่หุ้น SECC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ยิ่งทำให้ผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยมาก เพราะไม่สามารถซื้อขายหุ้นได้
 
ส่วนค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง เชื่อว่าจะไม่มากนัก เพราะได้ขอความร่วมมือจากสภาทนายความ และเชื่อว่าหากมีค่าใช้จ่ายสูง ก็จะได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่น่าจะมีปัญหา

ตลท.คาดเสร็จ 30 ธ.ค.นี้
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างตรวจสอบพิเศษกรณีใบหุ้นปลอมของหุ้นบริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นประมาณวันที่ 30 ธ.ค.นี้ โดยกระบวนการต่อไปอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และดำเนินคดีทางกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการฟ้องร้องทางกฎหมายน่าจะเป็นการเอาผิดของผู้บริหารเป็นหลัก ส่วนบริษัทฯก็ยังสามารถดำเนินการได้ ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหรือไม่ก็สามารถทำได้
โดย ข้อมูลที่ตลท.ส่งไปให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นเกี่ยวข้องกับข้อมูลการให้กู้ยืมเงืนกับบุคคล 4 ราย จำนวน 240 ล้านบาท ข้อมูลการซื้อขายหุ้น SECC ตั้งแต่ช่วงที่เกิดปัญหา และบุคคลเกี่ยวโยงกับการซื้อขายดังกล่าว ส่วนการทุจริตหรือถ่ายเทผลประโยชน์จะมีหรือไม่นั้น เชื่อว่ากระบวนทางกฎหมายจะเข้ามาดำเนินการ
นอกจากนี้ ตลท.ได้แจ้งความดำเนินคดีหลังพบใบหุ้นปลอม เพื่อหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยถือเป็นความผิดในทางอาญา หลังจากนี้ตำรวจก็ต้องไปสืบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ขณะที่ตลท.ไม่มีหน้าที่เอาผิดกับผู้บริหารบริษัท

ก.ล.ต. เร่งตรวจสอบ SECC
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงการดำเนินการของสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับกรณี SECC ว่า ในตอนนี้การตรวจสอบในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SECC นั้น มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบและทยอยดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องใบหุ้นปลอมนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันไม่บังคับว่าหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งต้องเข้าสู่ระบบ scriptless ผู้ถือหุ้นที่ต้องการโกงจึงมีการทำใบหุ้นปลอมขึ้นเพื่อหาประโยชน์ และจะตรวจพบก็ต่อเมื่อมีการนำใบหุ้นปลอมดังกล่าวไปฝากในระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ซึ่งปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข โดยปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. และ TSD อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งแนวทางหนึ่งที่อาจทำได้คือ การบังคับให้หุ้นของบริษัทจดทะเบียนต้องใช้ระบบ scriptless แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ ให้รอบคอบด้วย

นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งการให้ SECC ทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) นั้น เพื่อให้ SECC เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีหนังสือถึงกรรมการและกรรมการตรวจสอบของ SECC แต่ละราย เพื่อกำชับให้ดูแลให้ SECC เร่งดำเนินการตามคำสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่เช่นนั้น กรรมการแต่ละรายจะถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 58(3) ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 274 และมาตรา 300 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงานก.ล.ต. ได้รับแบบรายงานการจำหน่าย หุ้นของบมจ. เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส โดยนายวิรัตน์ กุลตังวัฒนา ซึ่งเป็นการจำหน่าย เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2551 จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายคิดเป็น -5.18% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็น 0.0% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น