xs
xsm
sm
md
lg

วัดความเชื่อมั่นการลงทุนอสังหาฯ ปี 52 คาดโครงการใหม่ลด หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะวิกฤตการเงินโลกส่งผลต่อการเกิดภาวะเงินตึงตัว และส่งผลกระทบถึงการดำเนินการและนโยบายการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินทั่วโลก โดยในส่วนของผลกระทบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยนั้น คาดว่าจะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมาสัญญาดังกล่าวเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส3 ที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านั้นสถาบันการเงินในประเทศ อาทิ ธนาคารกรุงไทยฯ ,ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เริ่มส่งสัญญาณนโยบายการปล่อยสินเชื่อในปีหน้า ว่าจะมีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อโครงการใหม่มากขึ้น

โดยในส่วนของ ธนาคารพาณิชย์นั้น จะลดวงเงินในการปล่อยสินเชื่อโครงการลง ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายใหญ่ขอเปิดวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัท ทั้งนี้ การเข้มปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลอย่ามากต่อสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ เนื่องจากการปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้าง และราคาน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาขาย ซึ่งมีผลให้ค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้นด้วย ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมัน และวัสดุก่อสร้างปรับตัวลง แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงไม่มีการปรับลดราคา ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง จนไม่กล้าตัดสินใจก่อหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในระยะนี้

จากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดของสถาบันการเงินในปีหน้า ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวรับมือกับปัญหาสภาพคล่องการเงินของตนเองในปีหน้า

โดยนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF กล่าวว่า ในปี 52 ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังเรื่องของการบริหารสภาพคล่องให้มาก โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯ ที่จำเป็นต้องใช้กระแสเงินสดค่อนข้างมาในการลงทุน ซึ่งแนวโน้มการพัฒนาโครงการประเภทคอนโดฯมีจำนวนลดลง เนื่องจากกลุ่มผู้พัฒนาโครงการรายใหม่จะหายไป ในขณะที่รายกลาง และรายเล็กจะมีปัญหาเรื่องเงินทุน ทำให้ไม่สามารถขึ้นโครงการใหม่ได้ หรือ หากขึ้นโครงการใหม่ได้ก็ไม่สามารถพัฒนาได้หลายๆ โครงการเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การพิจารณาปล่อยกู้โครงการคอนโดฯของสถาบันการเงินนั้น เข้มงวดขึ้นมากๆ เช่น กำหนดจะอนุมัติสินเชื่อให้ทางโครงการต้องมียอดขายแล้วไม่ต่ำกว่า 50% และล่าสุดธนาคารฯส่งสัญญาณว่าจะขอปรับเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยกู้ขึ้นอีก โดยแต่ละโครงการจะต้องมียอดพรีเซล 60% ขึ้นไป จึงจะอนุมัติสินเชื่อให้ นั่นหมายความว่า การลงทุนในช่วงแรกผู้ประกอบการ จำเป็นต้องใช้กระแสเงินสดค่อนข้างมากในการพัฒนาโครงการ แต่ละโครงการ

" ปีหน้าผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลางในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่หวังจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่มากกว่าบริษัทนอกตลาด คือ การออกหุ้นกู้ เพื่อระดมกระแสเงินสดเข้ามาพัฒนาโครงการใหม่นั้น เห็นทีจะลำบาก เพราะภาวะไม่เอื้ออำนวยเพราะตลาดอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น คาดว่าทุกรายจะต้องลดจำนวนโครงการคอนโดฯลงแน่นอน ”นายธีระชนกล่าวและว่า

สำหรับการปรับตัวของบริษัทฯ จะมีการเพิ่มยอดขายที่รอรับรู้รายได้(แบ็กลอค)ให้มากขึ้น โดยในปีนี้ บริษัทมีแบ็กลอคอยู่ค่อนข้างน้อยประมาณ 2,000 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงปลายปีนี้ จะมีเข้ามาเพิ่มจากการเปิดตัวโครงการคอนโดฯใหม่ คือ ที่รัชดา และสุขุมวิท 103 เข้ามาอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าเพื่อเป็นการลดต้นทุนการก่อสร้างลง บริษัทเตรียมนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้ทั้ง100% ในโครงการคอนโดฯ และบ้านระดับต่ำกว่า 4ล้านบาท

***บิ๊กLPNยอมรับพัฒนาโครงการยากขึ้น

ด้านนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN ผู้นำการพัฒนาตลาดคอนโดฯกล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ยากในการพัฒนาโครงการ เพราะมีปัจจัยลบเข้ามารุมเร้าอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทฯมองว่าในสถานการณ์ที่ตลาดมีปัจจัยลบเข้ามากระทบแรงๆ นั้น เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบนความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ ซึ่งแอล.พี.เอ็น.ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในส่วนของผู้บริโภคและสถาบันการเงินมานาน

ทั้งนี้ในปีหน้า บริษัทฯตั้งเป้าจะมีอัตราการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 20% โดยจะเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 6-8 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท และได้เตรียมงบในการจัดหาซื้อที่ดินใหม่ในวงเงิน 1,500-2,000 ล้านบาท

" เพื่อสร้างความต้องเนื่องของยอดรับรู้รายได้ในแต่ละปี บริษัท ได้เปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายปีนี้อีก 2 โครงการ โครงการแรกจะมีมูลค่าประมาณ 2,600 ล้านบาท และอีก1โครงการจะมีมูลค่า 3,600 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีแบ็กลอคต่อเนื่องไปถึงปี53 อีก 6,200ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมี แบ็กลอคประมาณ 9,100 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปี52 ประมาณ 8,600ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลดลงของกำลังซื้อในตลาด ทำให้สะท้อนเห็นกำลังซื้อที่แท้จริงเหลืออยู่ ซึ่งแลนด์ฯ จะส่งสินค้าให้ตรงกับกำลังซื้อให้ได้ ในขณะเดียวกัน การบริหารกระแสเงินสดเป็นสิ่งสำคัญ รายได้ที่เข้ามากับเงินที่จะต้องลงทุนจะต้องสัมพันธ์กัน

โดยแลนด์ฯ ได้ทยอยซื้อที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงเก็บไว้หลายแปลง บางแปลงรวบรวมได้มากกว่า 100 ไร่ แต่ละแปลงจะอยู่ตามจุดขึ้นลงสถานี 5-6 จุด ซึ่งที่ดินมีเพียงพอที่จะพัฒนาไปถึงปี 53 รวมมูลค่า ประมาณ77,000 ล้านบาท หรือผลิตซัปพลายออกสู่ตลาดได้กว่า 16,237 ยูนิต

“ ตามแผนการเปิดโครงการในปีหน้าอย่างน้อย 15 โครงการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีนี้ที่เปิดแค่ 14 โครงการมูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท เพราะต้องการเพิ่มโครงการให้มากขึ้นจากปัจจุบันเหลือขาย 30,000 ล้านบาท และได้ตั้งเป้ารายได้ในปีหน้าเป็น 22,000ล้านบาท”

***"เอพี"มอนิเตอร์ลูกค้าผ่านบัญชีเงินฝาก

ขณะที่ นายวิษณุ สุชาติล้ำพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวว่า ความต้องการคอนโดฯในแนวรถไฟฟ้ายังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น แต่จำนวนสินค้า(ซัปพลาย)ที่จะออกมาสู่ตลาดเริ่มลดน้อยลง โดยมีเหตุมาจากปัญหาการหาซื้อที่ดินที่ยากขึ้น และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด

ส่วนด้านยอดขายที่รอการรับรู้เป็นรายได้ของบริษัทฯนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องลูกค้ากู้ไม่ผ่าน เพราะบริษัทได้มีการตรวจคุณสมบัติของลูกค้าที่ซื้อบ้านก่อน โดยให้เปิดบัญชีเงินฝากกับแบงก์ไทยพาณิชย์ก่อนล่วงหน้าและตรวจเช็กคุณสมบัติลูกค้าทุกๆ 6 เดือนและทุกโครงการของบริษัทสามารถโอนได้ ซึ่งในสิ้นปีนี้จะมีการโอนอาคารชุดอีก 4 โครงการ ได้แก่ ไลฟ์@ท่าพระ, ไลฟ์@พหลโยธิน 18, ไลฟ์@รัชดาฯ และดิ แอด เดรส@สยาม คิดเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งจะกลับมาเป็นกระแสเงินสดให้บริษัท

" ปัจจัยลบ เรื่องการเข้มงวดการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินในปีหน้านั้น แม้ว่าจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวด้านการลงทุนโครงการใหม่ในตลาดลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวของตลาดอย่างแท้จริง โดยเฉพาะหากมองในมุมของความต้องการที่แท้จริงเทียบกับจำนวนสินค้าในตลาดที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม การเข้มงวดปล่อยสินเชื่อรายย่อย ก็มีผลต่อซัปพลายที่เหลืออยู่ในตลาดเช่นกัน เนื่องจากจำนวนการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีหลายๆ โครงการต้องมีการนำบ้านหรือห้องชุดที่ลูกค้าจองซื้อ แต่ถูกปฏิเสธสินเชื่อต้องกลับมารีเซลใหม่อีกรอบ"นายวิษณุกล่าวและเสริมอีกว่า

การนำบ้านหรือห้องชุดกลับมารีเซลใหม่นั้น จะทำให้ในปีหน้า จำนวนซัปพลายที่ออกมาสู่ตลาดมีสัดส่วนไม่ต่างจากปี51มากเท่าไหร่ แม้ว่าจำนวนการพัฒนาโครงการจะลดลงก็ตาม เนื่องจากคาดว่ากลุ่มนักเก็งกำไร และผู้ซื้อเพื่อการการลงทุน จะนำบ้านหรือห้องชุดในมือออกมาขายในตลาดอีกครั้ง ทำให้ในปีหน้าตลาดรวมจะยังมีซัปพลายในระดับเดียวกับปี51 และจะมีการดูดซับซัปพลายในตลาดออกไปส่วนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลย์กันมากขึ้นระหว่างกำลังซื้อ(ดีมานด์)และซัปพลาย จากที่ก่อนหน้านั้น ตัวเลขซัปพลายที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีการจัดเก็บมานั้น เริ่มสูงกว่าดีมานด์ที่มีอยู่ในตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น