อัยการเลื่อนสั่งคดี “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” อดีตผู้บริหารทีพีไอ ถ่ายเทเงินทีพีไอ ปล่อยกู้ 13,000 ล้าน ให้บริษัทกลุ่มของตัวเอง เนื่องจากพิจารณาเอกสารหลักฐานไม่เสร็จสิ้น สั่งคดีอีกครั้ง 20 ม.ค.ปีหน้า
วันนี้ (20 พ.ย.) เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 นัดสั่งคดีที่ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ, นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์, นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์, นายชัยณรงค์ แต้ไพสิฐพงษ์ และ นายประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการบริษัท ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1-5 ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา307, 311, 312, 313, 315 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กรณีถ่ายเทเงินจากบริษัทด้วยการปล่อยกู้เงินจำนวน 13,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทในกลุ่มของตนเอง ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แต่อย่างไรก็ดี อัยการได้เลื่อนนัดสั่งคดีออกไปก่อน เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ เพราะมีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก โดยนายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 นัดสั่งคดีอีกครั้ง ในวันที่ 20 ม.ค.2552 เวลา 10.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องจากระหว่างปี 2538-2543 ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 1-4 เป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ มีพฤติการณ์ถ่ายเทเงิน ด้วยการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มบริษัทที่พวกตนเองร่วมเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย บริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด, บริษัท ทีพีไอ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทีพีไออีโออีจี จำกัด และ บริษัท โรงงานฝ้ายสระบุรี จำกัด ต่อมามีการทำเอกสาร ระบุว่า บจก.พรชัยวิสาหกิจ, บจก.ทีพีไอโฮลดิ้ง และ บจก.ทีพีไออีโออีจี ได้ซื้อหุ้นของบริษัท เลี่ยวไพรัตน์ วิสาหกิจ ในราคาหุ้นละ 5,500 บาท จนเป็นเหตุทำให้บริษัททั้ง 3 แห่ง ซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้ของบริษัททีพีไอมีหนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ลดน้อยลง จนทำให้บริษัททีพีไอได้รับความเสียหายถึง 13,000 ล้านบาท โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ เดิม โดย พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ และ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการผู้มีอำนาจ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริหารทีพีไอ ที่ขาดความระมัดระวัง และมีการลงบัญชีไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล กระทำหรือยินยอมให้กระทำการเปลี่ยนแปลงบัญชีเอกสาร และทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงบุคคลใดๆเป็นกรรมการหรือผู้จัดการ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยดีเอสไอ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-4 กระทำความผิด มาตรา 307, 311 และ 312 พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ส่วนผู้ต้องหาที่ 5 กระทำผิดฐาน กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ หรือผู้จัดการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลให้กระทำความผิด