xs
xsm
sm
md
lg

ตัดวงจรเก่าสู่การเมืองใหม่ ต้องมีสัมมาทิฐิ-นิติธรรม-เสมอภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"จรัญ ภักดีธนากุล" ชี้การเมืองใหม่ ต้องเป็นไปในแนวทาง "สัมมาทิฐิทางการเมือง" จึงจะแก้ปัญหากระสือการเมืองได้ ด้าน "อมร จันทรสมบูรณ์"ระบุการเมืองใหม่ต้องใช้กฎหมายโดยยึดหลักนิติธรรม เพื่อหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ ขณะที่ "สุรพล นิติไกรพจน์" ยันแนวทางนิติรัฐ ผู้พิพากษาต้องมีอิสระ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อ"รัฐธรรมนูญ การเมือง และศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจัดโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่โรงแรมสยามซิตี้ ว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญในสายตาของคนส่วนใหญ่หลังคดียุบพรรคการเมือง จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการศาลการเมือง หรือกึ่งการเมือง ที่มีอำนาจเหนือกว่าองค์กรศาลอื่นๆ

"เหตุการณ์ยุบพรรค ทำให้ปัจจุบันนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีความสั่นคลอน ขณะที่มีผู้เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งผมก็เห็นว่าไม่เลว แต่การสร้างความเข้มแข็งให้กับศาลรัฐธรรมนูญ และทำให้ไม่ให้เกิดความหวาดระแวง จะถือว่าเป็นความสำเร็จกับองค์กรมากกว่า"

นายจรัญกล่าวด้วยว่า ตนเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างการเมืองใหม่ แต่ก็ไม่คล้อยตามกับข้อเสนอการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เน้นแก้ไขกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ แต่ตนเห็นว่า การเมืองใหม่ ควรจะเป็นไปตามที่หลวงพ่อพุทธทาส ระบุไว้ว่า การเมืองนั้นครอบคลุมประเทศ ทั้งองค์กรต้องเชื่อมโยงกับภาวะและศีลธรรม เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ การเมืองใหม่ต้องไม่ใช่เผด็จการ หรือระบบอำมาตยาธิปไตย ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี แต่การเมืองยังต้องเชื่อมโยงกับธรรมะ และศีลธรรมให้เป็นเนื้ออันเดียวกันและเป็นประโยชน์กับประเทศ โดยเสนอการเมืองใหม่ในรูปของ "สัมมาทิฐิทางการเมือง" ที่เน้นถึงความเป็นธรรมธิปไตย ที่เน้นประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่เอื้อตัวบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

"ขณะที่นักการเมืองหรือผู้บริหาร ต้องไม่ยึดถือทรัพย์สินหรือตำแหน่งเป็นสำคัญ นักการเมืองต้องไม่ตะกละตะกราม กระหาย หิวโหย ยักยอกผลงาน ตะเกียกตะกาย เพื่อผลสำเร็จ ไม่คำนึงถึงวิธีการ บุคคลเหล่านี้ ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นเพียงปีศาจ กระสือ โลกะวัชชะ ดังนั้นการเมืองใหม่ จะต้องแยกแยะบุคคลประเภทนี้ให้ชัดเจนในทุกระดับ โดยเฉพะคำว่า เสียสละ ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะต้องยากจน ไม่ได้รับตำแหน่ง แต่บุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้มีความสำเร็จทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่พวกที่เป็นกลาง แต่จะต้องมีความชัดเจนไม่เห็นเพียงตำแหน่ง"นายจรัญกล่าว

นายจรัญ กล่าวต่อว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งยังถือเป็นเพียงนักเลือกตั้งเท่านั้น นักการเมืองไม่ใช่เพียงผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด แต่ผู้ที่ทำประโยชน์เพื่อประชาชน และเสียสละจึงจะถือว่าเป็นนักการเมืองที่แท้จริง ขณะที่ผู้ที่ซื้อเสียงเพื่อเข้ามากลับไม่ใช่ทั้งนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงนักทำลายสถาบันเท่านั้น นอกจากนี้การเมืองใหม่ยังต้องมีกระบวนการตัดสินที่ใช้หลักศีลธรรม เพื่อมาบริหารบ้านเมืองด้วย

**การเมืองใหม่ที่ใช้หลักนิติธรรม

นายอมร จันทรสมบูรณ์ อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถานำตอนหนึ่งในหัวข้อ "การเมืองไทยกับ Rule of Laws (นิติธรรม) กับ Rule by Laws (นิติรัฐ) ว่า การใช้กฎหมายในหลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐเป็นกรอบที่กว้าง ทั้งในกรณีคดียุบพรรคการเมือง คดีเขาพระวิหาร หรือกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาค ถือว่า หากจะนำมาใช้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้นำไปใช้ ดังนั้นการเมืองไทยจะเกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมอย่างไรนั้น จะเห็นได้จากการใช้อำนาจของรัฐจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งการโยกย้ายข้าราชการ กฎหมายแก้ไขสัมปทาน หรือการซื้อขายตำแหน่ง หรือเมื่อมีอำนาจมากก็อาจจะแก้รัฐธรรมนูญได้เช่นกัน

อดีตตุลาการผู้นี้ เห็นว่า การเมืองใหม่ที่ใช้หลักนิติธรรม ถือเป็นทางออกเพื่อหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และเชื่อว่ามีหลายวิธีที่จะแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัจจุบันที่ยังมีการแบ่งเค้ก แบ่งโควตากันอยู่ และยังเชื่อว่า ระบบผูกขาดยังแฝงตัวอยู่ในการเมืองไทย ยังคงมีอิทธิพลจากนายทุนเจ้าของพรรค

"ผมเห็นว่า การเมืองใหม่ขณะนี้ เมื่อยักษ์หรือนายทุนออกจากขวดไปแล้ว คนที่จะเข้ามาแก้ไขการผูกขาดจะแก้อย่างไร เพื่อให้ได้คนที่ไม่มีทุนอะไรเลย หรือบุคคลที่อิสระ จะแก้ไขระบบให้ได้มาตรฐานหรือไม่ เช่นเดียวกับคนที่พูดว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง แต่การเมืองเผด็จการแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วใครจะเข้ามาแก้" นายอมรกล่าว

**นิติรัฐ-ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระก่อน

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายที่เป็นใหญ่ กฎหมายที่สามารถคุ้มครองและผู้พิพากษาเป็นอิสระ ถือเป็นหลักของนิติรัฐที่เป็นหลักการใหญ่ทั่วไป แต่ในประเทศไทยเป็นนิติรัฐจริงหรือไม่ เมื่อถูกมองว่า ผู้พิพากษาหรือองค์กรอิสระ มีความเป็นอิสระจริงหรือไม่ โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่ถูกมองว่า ไม่มีความเป็นธรรม เช่น การไม่ให้พรรคการเมืองโต้แย้งอย่างเต็มที่ หรือการระบุว่า มีการตั้งธงไว้แล้ว เกิดขึ้นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างกรณีการถอดอดีตนายกรัฐมนตรี จากความผิดในการเป็นลูกจ้างรายการชิมไปบ่นไป ว่า หากตัวตุลาการรัฐธรรมนูญทำเช่นเดียวกันนี้ก็จะต้องใช้กฎหมายเกณฑ์เดียวกันนี้กับตัวตุลาการได้ด้วย และถ้าใช้ต่างกัน ตนเป็นคนแรกๆ ที่จะประกาศว่าเกิดอะไรผิดปกติในศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ข้อต้องห้ามนี้แม้ต้องใช้กับตัวตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา เนื่องจากเรื่องจะต้องผ่านกระบวนการ โดยให้องค์กรวินิจฉัยชี้ขาดก่อนว่า จะตัดสินคดีเดียวกับที่นายกฯ ถูกดำเนินการหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ต้องเข้มตลอดเช่นกัน เพราะเรื่องยังอยู่ใน ป.ป.ช. ยังไม่ถึงเวลา ดังนั้นจะต้องติดตามดูต่อไป เช่นเดียวกับคดียุบพรรค ก็เป็นเรื่องที่ตุลาการรัฐธรรมนูญทำได้ แต่กรณีนั้นจะต้องผูกพันกับตุลาการฯด้วย จะบอกว่าไม่เข้าร่องเข้ารอย ก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่เข้ากระบวนการ เช่นเดียวกับคดียุบพรรค ยังคงมีการโต้เถียงกันตลอดเวลา ซึ่งตนเห็นว่า เป็นประเด็นที่ตุลาการรัฐธรรมนูญเฉพาะคณะชุดนี้เท่านั้นที่คิดเช่นนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นมาแทน ก็ต้องดูว่า เขาจะเห็นตามหรือไม่

**เสื้อแดง-เหลือง ต้องขึ้นศาลสู้คดี

นายสุรพล กล่าวถึงตัวอย่างกรณีศาลวินิจฉัยยกพจนานุกรมมาประกอบคดีชิมไปบ่นไป ว่า น่าจะเป็นการหยิบพจนานุกรม มาอธิบายการพิจารณาของศาลมากกว่า หากนำมาใช้ก็เป็นคำวินิจฉัยบรรทัดฐาน ดังนั้นต่อไปนี้คนที่เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี จะต้องเป็นอย่างนี้ ไปเป็นลูกจ้างของใครไม่ได้

ขณะที่การอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรค ในวันปิดคดียุบพรรค เห็นว่า เป็นไปตามบทบัญญัติ ข้อ 32 ของตุลาการฯ และก็ถือว่าเป็นดุลยพินิจของศาล ถ้าเชื่อว่าจะต้องตัดสินคดีอย่างไร ถ้าตัดสินอย่างที่เชื่อจะส่งผลอะไรทางการเมือง และจะเกิดอย่างไรบนพื้นฐานของสังคมไทย

เช่นเดียวกับกรณีของพันธมิตรฯ หากมีใครประกาศความชอบธรรมว่า ยึดสถานที่ราชการ แสดงว่า คนเหล่านี้กำลังล่วงละเมิดเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น เช่นเดียวกัน การยึดครองสนามบิน เป็นการใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขต ก็ต้องมีคนจ่ายค่าตอบแทนทางกฎหมายจากการทำผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีที่กลุ่มเสื้อแดง ที่เอาก้อนหินทุบรถส.ส. ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ และกลไกกฎหมายจะต้องดำเนินการไป

"แต่จะมีกรกระบวนการลดโทษ หรือกระบวนการใด ก็ขึ้นอยู่กับศาลในการตัดสิน ไม่มีใครมีสิทธิเหนือกฎหมาย ไม่มีใครมีสิทธิที่จะนำเอ็ม 79 ไปยิงประชาชน ตำรวจก็ไม่มีสิทธิทำร้ายประชาชนจนตาย จะรับผิดชอบมาก น้อย แต่ความจำเป็นก็ให้ไปอธิบายกันในศาล อย่างคนที่บุกทำร้ายร่างกาย ที่อุดรธานี เชียงใหม่ ก็ต้องรับผิดชอบ ก็ต้องไปอธิบายกันในศาล หากไม่ดำเนินการในศาล ก็จะเป็นเรื่องที่ผิดในวันข้างหน้าที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน" นายสุรพลกล่าว

**ประชาชนต้องเป็นส่วนร่วมในนิติรัฐ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สว.กทม. กล่าวว่า นักการเมืองยังคงเลี่ยงที่จะแก้ไขห่วงผูกคอตัวเอง โดยเฉพาะการแก้ไขเครื่องมือที่เอาผิดตัวเอง ทำให้เครื่องมือเปรียบเหมือนกับประดับยนต์ของรถยนต์ราคาแพงๆเท่านั้น เช่น ไม่มีกฤษฎีกา หรืออัยการภาคประชาชน ที่จะมาคานดุลรัฐบาลในการกำจัดอำนาจรัฐ ตามหลักของนิติรัฐ เป็นต้น อย่างหลายๆ กรณีที่ประชาชนถูกคุกคาม เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำอะไรเลย ทำอย่างไรประชาชนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และประชาชนก็ยังต้องสู่กันเองต่อไป เช่น เดียวกับที่ประชาชนร่วมกันทวงคืนสมบัติชาติ อาทิ ปตท. เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น