xs
xsm
sm
md
lg

"ปริญญ"ไม่เชื่อระบบซื้อเสียง อ้าง"อุปถัมภ์"ตัวชี้ขาดเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (10 ธ.ค.) ที่มูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กทม. ได้มีการจัดเวทีเสวนาประชาธิปไตย คุณคือใคร เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ณ ห้องประชุม 14 ตุลา โดยมีนักวิชาการและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความล้มเหลวของประชาธิปไตย เกิดจากฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่มักเลือกผู้อุปถัมภ์ เมื่อประชาชนถูกรังแกโดยผู้มีอำนาจและกฎหมายไม่สามารถช่วยเหลือได้
ทั้งนี้ ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนไม่สามารถปกครองประเทศได้ เนื่องจากประชาชนไม่รู้กฎหมาย ซึ่งปัญหาขึ้นอยู่กับระบบการเมืองที่ถูกแทรงแซง ประชาธิปไตยจึงไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

**นักการเมืองยังซื้อเสียงเพื่อตั้งรัฐบาล
ในวันเดียวกันนี้ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี ได้จัดการเสวนาการเมือง ในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ขึ้น เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์บ้านเมือง ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นในทัศนะคติ และผลกระทบที่จะเกิดจากอารมณ์ความคิดต่างๆ และจัดให้มีพิธีสืบชะตาประชาธิปไตยด้วย โดยมีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตส.ว. และประธานศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี ร่วมบรรยาย พร้อมด้วยกลุ่มผู้นำ 7 เครือข่ายในโครงการพัฒนาสุขภาวะภาคอีสาน อาจารย์ นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักศึกษาและเยาวชนเข้าร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ ได้บรรยายเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในยุคต่างๆ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย ในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นสักกี่ครั้ง แต่ก็ไม่มีความเด็ดขาดเหมือนบางประเทศ และคนไทย ยังยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับในเวทีเสวนา กลุ่มผู้นำ 7 เครือข่าย รวมถึงนักวิชาการ เอ็นจีโอ ได้มีการวิพากษ์ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับที่ดีที่สุด แต่ต้องถูกอำนาจทางทหารฉีกทิ้ง รวมทั้งได้มีการเรียกร้องที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความแตกแยกให้กับบ้านเมือง เนื่องจากมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ส่วนวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากบุคคล 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายพันธมิตรฯ เพื่อที่จะต้องการล้มล้างระบอบทักษิณ และอีกกลุ่ม คือ นปช. ซึ่งประกอบด้วยพรรคไทยรักไทย ที่มีประชาชนระดับรากหญ้าเป็นฐาน นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่ไม่ชอบการรัฐประหารที่คอยแทรกซึม
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ยืนอยู่บนทางเลือกระหว่างการยุบสภา กับการจัดตั้งรัฐบาลของสองขั้วการเมือง โดยมองว่า นักการเมืองทุกพรรคมีการใช้เงินเพื่อซื้อเสียงกันทุกพรรค และมีการแย่งชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้ระบบศักดินา และระบอบอมาตยาธิปไตย ปกครอง ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะใช้นโยบายประชานิยม

**เครือข่ายปชต.ชมกลุ่มเพื่อนเนวิน
นายทิวา รุ้งแก้ว อดีตอนุกรรมาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงการตัดสินใจของกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่เข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่า ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ในเมื่อพรรคพลังประชาชน ไม่สามารถผ่าวิกฤติของชาติไปได้ ตามมารยาททางการเมืองก็ต้องให้พรรคการเมืองที่อยู่อันดับรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาล
นายทิวากล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่ถือว่ากลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นงูเห่าอย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะต้องเข้าใจว่า พรรคพลังประชาชนเดิมนั้นเกิดจากการรวมกันของกลุ่มและก๊วนการเมืองต่างๆ และในเมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ก็เป็นสิทธิ์ ของแต่ละกลุ่มที่จะเปลี่ยนขั้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่การหักหลังอย่างเด็ดขาด
"ขณะนี้ประเทศชาติกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ ทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะผ่าวิกฤตินี้ไปได้ ซึ่งตามหลักประชาธิปไตยแล้ว หากขั้วการเมืองเดิมไม่สามารถฝ่าทางตันให้ประเทศได้ ก็ต้องให้โอกาสพรรครองลงมาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ "
นายทิวา ยังกล่าวถึงทางออกของประเทศขณะนี้ว่า มีอยู่ 2 ทางคือ การยุบสภาแล้วคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการตัดสินใจยุบสภาได้ ดังนั้นก็ต้องเลือกอีกทางคือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลใหม่เป็นขั้วการเมืองเดิม ประเทศก็ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ก็ต้องให้โอกาสขั้วใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ถ้าบริหารไปไม่ได้อย่างไร อย่างน้อยรัฐบาลชุดใหม่ ก็มีอำนาจในการตัดสินใจยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น