xs
xsm
sm
md
lg

เบรก2ขั้วชะลอตั้งรัฐบาล "คำนูณ"แนะเคลียร์ข้อกม.ยุบ3พรรคก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8 ธ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า เรื่องเร่งด่วนในทางการเมืองขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องช่วงชิงกันจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นขั้วเดิม หรือพลิกขั้ว แต่เป็นเรื่องการเร่งหาข้อยุติผลทางกฎหมายของการยุบ 3 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งมีประเด็นหลักๆที่ต้องวินิจฉัย 2-3 ประเด็น คือ
1. คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ยังรักษาการอยู่ได้หรือไม่ และคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีรักษาการ จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่
2. สถานการภาพของ ส.ส.สัดส่วนของพรรคที่ถูกยุบ จะหมดไปพร้อมกับพรรคที่ถูกยุบหรือไม่
3. ส.ส.ที่กำลังจะย้ายพรรค ทำอะไรได้แค่ไหน อย่างไร ต้องรอจนย้ายพรรคเสร็จก่อนจึงจะทำได้สมบูรณ์หรือไม่ และพรรคที่จะย้ายไปนั้น จำเป็นจะต้องเป็นพรรคที่เคยส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งมาแล้วและมี ส.ส.อยู่ในสภา หรือจะเป็นพรรคที่จัดตั้งใหม่ก็ได้
"2-3 ประเด็นเหล่านี้ ผมขอเรียกร้องให้กกต.และศาลรัฐธรรมนูญเร่งวินิจฉัยชี้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต.ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีหน้าที่รับรองสถานภาพของส.ส.จะต้องเร่งวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 เพราะขณะนี้ไม่มี ส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิม หรือขั้วฝ่ายค้านเดิมใช้สิทธิยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล ต่างพยายามเปิดสภาให้เร็วที่สุด
"ส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิมก็ไม่อยากยื่นตีความให้กระทบสถานะของส.ส.พวกเดียวกันเอง ส่วน ส.ส.ขั้วฝ่ายค้านเดิม ก็ไม่อยากยื่นเพราะขณะนี้ ดึงส.ส.ขั้วรัฐบาลมาเป็นพวก เพื่อช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ ส.ว.ที่ยื่นเรื่องไปแล้ว 2-3 ประเด็น ก็มีปัญหาอยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาในประเด็นนี้หรือไม่ เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเรื่องของสภาใครสภามัน
"ประเด็นที่ 24 ส.ว.ยื่นเรื่องไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ธ.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับไว้วินิจฉัยได้แน่นอนที่สุด ก็คือประเด็นที่ 1 เรื่องคณะรัฐมนตรีรักษาการเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผมจึงขอให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภา เร่งทำเรื่องและส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยด่วนที่สุด และขอความกรุณาศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดเร่งวินิจฉัย หรืออย่างน้อยประกาศวันที่จะวินิจฉัย และให้ทุกฝ่ายรอจนถึงวันนั้น ก็น่าจะเป็นหลักประกันความถูกต้อง" นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า การเร่งจัดตั้งรัฐบาล แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่หากเร่งจัดตั้งบนพื้นฐานของข้อกฎหมายที่ยังมีปัญหาอยู่หลายประการ ก็จะก่อให้เกิดผลเสียหายใหญ่หลวง

**กกต.อ้างยังไม่มีใครยื่นเรื่องมา
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงปัญหา ส.ส. สัดส่วนของพลังประชาชน ที่ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ว่า กกต.ไม่ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวในการประชุมเมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.) เพราะไม่มีใครยื่นเรื่องเข้ามาให้ กกต.พิจารณา
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้ที่ยังสงสัยต้องไปดำเนินการ โดยมาตรา 91 ระบุว่า ให้ ส.ส.1 ใน 10 ส่งเรื่องให้ประธานสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ส่วนจะมีผลต่อการโหวดเลือกนายกฯ หรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่มีการพิจารณาวินิจฉัยไปในทิศทางใด ซึ่งโดยหลักแล้วเห็นว่า ผู้ที่ กกต. ประกาศรับรองเป็น ส.ส.ถือว่า เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเป็น ส.ส.สมบูรณ์ ยังไม่มีคำสั่งใดมาเปลี่ยนแปลงการเป็นส.ส. และก็เห็นว่ายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ เพราะยังไม่มีกฎหมายใดมาสั่งไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่เหมือกรณี กกต.ให้ใบเหลือง ใบแดง เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งรับเรื่องไว้พิจารณา ส.ส.คนนั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสังกัดพรรคการเมืองก่อนถึงวันเลือกตั้ง กกต.จะยึดหลักการสังกัดพรรคกี่วัน นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องการสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่มีถูกเพิกถอนสิทธิทั้ง 26 เขตนั้น ตามกฎหมายได้กำหนดให้ ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง แต่หากมีการยุบสภา ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ จะต้องสังกัดพรรค 30 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนปัญหาที่ว่า ครม.รักษาการ สามารถยุบสภาได้หรือไม่นั้น ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ และไม่ได้ห้ามรัฐบาลรักษาการยุบสภา แต่เป็นเรื่องของมารยาททางการเมืองมากกว่า
เมื่อถามต่อว่า มีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาการเมืองวุ่นวายอยู่ขณะนี้ และเพื่อแก้วิกฤตชาติ ควรจะยุบทั้ง 2 สภา กลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่หากจะยกเลิกส.ว. ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายต้องการให้ กกต. ลาออก เพื่อจะได้ไม่ต้องมีใครจัดการเลือกตั้ง นายประพันธ์ กล่าวว่า ไม่มี มาขอร้องให้ออกจาก กกต. และขอยืนยันว่า ยังไม่มี กกต.ท่านใดลาออก หรืออยากจะลาออก และไม่มีใครโทรมาขอให้ลาออกด้วย อย่างไรก็ตาม ตนไม่ถอดใจ เพราะถ้าเกิดถอดใจ การเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.50 คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะในช่วงเวลานั้นถือว่า หนักกว่านี้

**อยากประชุมสภาเร็วต้องถอนเรื่อง
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณี ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน ที่จะย้ายไปพรรคเพื่อไทย จะเกิดปัญหาหรือไม่ว่า ขณะนี้ 40 ส.ว.ได้ยื่นเรื่องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงพิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว
ส่วนจะเป็นปัญหาในการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงเป็นปัญหา แต่ถ้ามีการถอนเรื่องออกไป ก็คงจะประชุมสภาได้ หากไม่ถอนก็คงต้องรอให้ศาลพิจารณาให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ส่วนส.ส. เขตที่ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิ ก็สามารถเข้าประชุมได้
นางสดศรี ยังกล่าวถึงการรับรองกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ของพรรคเพื่อไทย ที่มีการตั้งขึ้นในการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ทางพรรคยังไม่ได้ส่งเอกสารชี้แจงการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่ มาให้นายทะเบียนพรรคการเมือง
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องตรวจสอบเอกสารตามข้อบังคับพรรค หากถูกต้อง ก็สามารถรับรองการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จากนั้นถึงจะถือว่าได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และสามารถเข้าร่วมประชุมสภาได้
เมื่อถามว่ากรณีที่ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิยังเข้ามาเกี่ยวข้อกับทางการเมือง ทั้งที่เจตนาของรัฐธรรมนูญห้ามไว้นั้น นางสดศรี กล่าวว่า ตนคิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ยังสามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เพียงแต่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
เมื่อถามต่อว่า การเลือกตั้งซ่อมนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ส่งผู้สมัครในพื้นที่เดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่หันมาเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า จะเป็นการฮั้วการเลือกตั้ง นางสดศรี กล่าวว่า เรื่องนี้มองได้ทั้งนั้น แล้วแต่ใครจะคิด หากมองว่าไม่ถูกต้อง ก็ส่งให้ กกต.ตีความได้ ส่วนเรื่องการฮั้วกันนั้น มันเป็นเรื่องยากที่จะนำมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบ ซึ่งตนมองว่า อาจเป็นเรื่องของการออมชอม ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และสุญญากาศทางการเมือง ต้องดูการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป เพราะกกต. มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรมเท่านั้น
เมื่อถามว่า การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จะทำให้การเมืองดีขึ้นหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า ถ้าทุกอย่างตกลงกันได้ และทำให้ประเทศชาติสงบ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเปลี่ยนขั้วกันแล้วยังเกิดปัญหาความไม่ลงตัวกัน ตนคิดว่าก็คงไม่ราบรื่น ส่วนหากเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแล้วไม่ราบรื่น จนนำไปสู่การยุบสภา กกต. ก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง คงไม่มีปัญหา

**"ชวรัตน์"กั๊กยุบสภารอตีความกม.ก่อน
นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนว่า ในวันนี้ ( 9 ธ.ค.) จะมีการประชุมครม.ตามปกติ ซึ่งได้ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดเตรียมวาระการประชุม เมื่อถามว่าขณะนี้จะมีการแถลงจับขั้ว ยังประชุมครม.ได้หรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า การจับขั้วไม่ได้หมายความว่าได้เป็นแล้ว เพราะต้องผ่านสภาก่อน และรัฐบาลรักษาการ จะทำงานจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
เมื่อถามว่า มองว่าการจับขั้วเป็นไปได้หรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนดูแลรัฐบาลรักษาการ อย่างอื่นไม่ได้ยุ่งกับเขา
เมื่อถามถึงเรื่องการพิจารณาเสนอยุบสภา นายชวรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลา ส่วนปัญหานายกรัฐมนตรีรักษาการ มีอำนาจยุบสภาหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ ต้องตีความก่อน เมื่อถามว่าจะนำเข้าหารือในการประชุมครม.หรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า กำลังคิดอยู่ เมื่อถามว่าจำเป็นต้องชัดเจนตอนนี้หรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ตอนนี้ยัง เมื่อถามว่าหากการประชุมไม่ครบองค์ประชุม จะทำอย่างไร นายชวรัตน์ กล่าวว่า ก็ไม่ประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น