40 ส.ว.ย้ำรัฐบาลหมดความชอบธรรมมือเปื้อนเลือด ไม่มีสิทธิ์ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์เพื่อซื้อเวลา ขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญชี้แค่หวังประโยชน์เพื่อตัวเอง เตือนประธานวุฒิฯอย่าพายเรือให้โจรนั่งให้ถอนตัวร่วมประชุม 4 ฝ่าย
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว.และคณะกรรมาธิการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการสาธารณสุข คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้าง ธรรมมาภิบาล ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อสอบสวนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.แถลงภายหลังการประชุม ว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนในขณะนี้ คือ รัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ ซึ่งรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและยุบสภา รวมทั้งยุติการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนการดำเนินคดีอาญาต้องมีการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ จากการข้อมูลที่ได้การชี้แจง พบว่า มีการเบิกใช้แก็สน้ำตาที่ผลิตสหรัฐอเมริกาแต่พบว่าในการสลายการชุมนุมได้มีการใช้แก๊สน้ำจากประเทศจีน ทั้งที่ได้เบิกจากคลังไปหมดแล้วโดยในวันสลายการชุมนุมได้มีการเบิกไป 2-3 ระลอก จำนวนนับพันลูก ก่อนวันที่7 ต.ค.และในช่วงวันที่ 8-9 ก็ยังเบิกจากคลังอยู่ ต่อมาหลังวันที่ 9 ต.ค.ก็นำมาส่งคืนคลัง แต่หลังจากกลุ่ม 40 ส.ว.และผู้เสียหายจากเหตุการณ์ไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลคุ้มครองไม่ให้มีการสลายการชุมนุมจึงได้มีนำแก๊สน้ำตาไปคืนคลังจนหมด
น.ส.รสนา กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามประชุม 4 ฝ่าย 7 พรรคการเมืองเป็นเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งไม่ได้อยู่ในหน้าที่ที่รัฐบาลจะทำ โดยเฉพาะการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดวิกฤตรุนแรงถึงขั้นนองเลือดขึ้น ดังนั้น ขอให้รัฐบาลยุติการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง และขอฝากสังคมส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงออกมาแสดงท่าทีให้รัฐบาลรับรู้เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองไม่ใช่บ้านเมือง นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นผู้ทำให้เกิดความรุนแรงแล้วจะมาตั้งคณะกรรมการสอบหาผู้กระทำผิดในเหตุการณ์เองคงไม่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลไม่มีความชอบธรรม แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งชุดแรกที่เป็นทรราช
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า กรณีที่ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นตัวแทนวุฒิสภาไปประชุมร่วม 4 ฝ่ายนั้น ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาไม่ใช่เป็นตัวแทนของวุฒิสภาทั้งหมด เพราะ ส.ว.มีความเห็นหลากหลาย และไม่ใช่พรรคการเมือง ซึ่งกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังประธานวุฒิสภาแล้วว่า ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในนามตัวแทนของพวกเราได้ เพราะไม่เคยเรียกประชุมวุฒิเพื่อขอมติที่ประชุมให้ไปหน้าที่แทน
“ประธานวุฒิสภาไม่ควรนำวุฒิสภาไปรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้ และไม่ควรไปร่วมกิจกรรมใดที่ดำเนินการของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมไปแล้ว ประธานวุฒิสภาไปประชุมด้วยตัวของท่านเอง เราเป็น ส.ว.กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยจึงท้วงติงว่า เราจะไปพายเรือให้โจรนั่งได้อย่างไร และไม่ควรอย่างยิ่งไปประชุมร่วม 4 ฝ่ายในวันที่ 20 ต.ค.” น.ส.รสนา กล่าว
นายอนันต์ อริยะชัยพานิชย์ ส.ว.สุรินทร์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมร่วมของ 3 คณะกรรมาธิการ ได้เชิญคณะแพทย์ที่ให้การรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.และเชิญสภาทนายความเข้าให้ข้อมูล ที่ประชุมเห็นว่า การสลายม็อบหมู่มากด้วยการใช้ความรุนแรงขนาดนี้ถือว่าไม่เหมาะสมทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคนและมีผู้เสียชีวิตและพิการซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดยืนยันว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตเกิดจากแก๊สน้ำตาให้มีการฉีกขาดของอวัยวะ ซึ่งการสั่งให้มีการใช้แก๊สน้ำตาถือว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งการคือรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติในเบื้องต้นแล้วว่า ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมาจากอาวุธประเภทใด ถูกหลักในการสลายการชุมนุมตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งทางสภาทนายความจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับไปประมวลเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเจตนาของเราต้องการให้มีผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุมของรัฐบาลควรมีขอบเขต ยึดหลักตามขั้นตอน เราไม่ต้องการให้เกิดเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเอง ดังนั้นจะต้องมีผู้ถูกลงโทษตามกระบวนการ และรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบในการสั่งการ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รูปแบบการพิจารณาของ ส.ส.ร.3 เราต้องแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ช่วงก่อนวันที่ 3 ต.ค.ก่อนวันที่ 7 ต.ค.และหลังวันที่ 7 ต.ค.แต่ถ้าจะให้มี ส.ส.ร.3 หลังเกิดเหตุการณ์ 7 ต.ค.คงมีลักษณะพิกลพิการเหมือนกับ ส.ส.และ ส.ว.ถูกจับเป็นตัวประกัน จากการที่นายกฯบอกว่า จะไม่พิจารณาลาออก หรือยุบสภา เพื่อมีการตั้ง ส.ส.ร.3 และแก้ไขรัฐธรรมแล้ว หรือการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า หากไม่เอา ส.ส.ร.3 ก็ต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร.นอกจากนี้ ในฐานะที่ตนเคยทำหน้าที่ สนช.และมีส่วนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมืองขึ้นมานั้น การที่จะให้สภาพัฒนาการเมืองเข้ามามีส่วนออกแบบโครงสร้างการเมืองข้างบนนั้นคงไม่ถูกกับวัตถุประสงค์เพราะสภาพัฒนาการเมืองตั้งขึ้นมา เพื่อการทำงานทางการเมืองภาคประชาชนไม่ใช่การเมืองในลักษณะข้างบน ส่วนสถาบันพระปกเกล้าหากเข้ามาร่วมออกแบบด้วยก็จะยิ่งเสียหายให้กับตนเอง ดังนั้นขอฝากไปยัง นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองด้วยว่า ขอให้พิจารณาถอนทบทวนข้อเสนอนี้ออกไป
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่นายกฯยืนยันไม่ลาออก ยุบสภา จากเหตุการณ์ 7 ต.ค.จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บกว่า 400 คน แสดงให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบของรัฐบาล การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาสอบสวนก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเตะถ่วงเวลา เป็นการไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำลงไป นอกจากนี้ มีความพยายามแทรกแซงการทำงาน เช่น การทำหน้าที่ของพ.ญ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้รัฐบาลบอกว่า เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จแล้วก็ต้องตั้งคณะกรรมการลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 เดือน มันช้าไปแล้วกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ได้กล่าวเรียกร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญเร่งนำคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมา เข้าสู่การวินิจฉัยโดยด่วน ปัญหาก็จะได้ยุติไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าวของกลุ่ม 40 ส.ว.จะมีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ที่ 5 มีเนื้อหาชมเชยและสนับสนุนต่อคำชี้แจงของ ผบ.เหล่าทัพที่ออกรายการโทรทัศน์เมื่อเย็นวันที่ 16 ต.ค.โดยระบุว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวของผบ.เหล่าทัพสะท้อนถึงจุดยืนอันแข็งขันที่จะพิทักษ์รักษาประเทศชาติ ราชบัลลังก์และประชาชน เป็นท่าทีที่แสดงออกที่เป็นตามหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประชาชนมีผลในทางที่เป็นคุณต่อการคลี่คลายสถานการณ์ในขณะนี้
แต่เมื่อแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา จะแจกจ่ายแถลงการณ์นี้ต่อสื่อมวลชนพร้อมแถลงข่าวได้ถูกทักท้วงจากส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ที่ระบุว่า “ผมยังไม่เห็นข้อความของแถลงการณ์แล้วจะแถลงอะไรในนามกลุ่ม 40 ส.ว.ขอให้ผมและเพื่อนๆตรวจดูก่อนการแถลง” ซึ่งทำให้กลุ่ม 40 ส.ว.ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมกว่า 20 คนต่างถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดกว่า 20 นาที ในที่สุดได้มีการตัดบทไม่ให้มีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5