กองทัพตั้งศูนย์ประเมินสถานการณ์ ยอมรับรู้สึกหวั่นวิตกต่อสถานการณ์ ย้ำ ปชช.ต้องไม่ได้รับบาดเจ็บหรือล้มตาย ตอกหน้ารัฐบาลใช้แก๊สน้ำตาไม่เลวร้ายถึงขั้นขาขาด
วันนี้ (7 ต.ค.) ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงษ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ภายหลังรัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตย เมื่อเช้านี้ โดย ผบ.ทุกเหล่าทัพมีความห่วงใย และรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้ประชาชนเกิดการปะทะกัน
ทั้งนี้ กองทัพบกได้มีการตั้งศูนย์คณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมี ผบ.ทบ.นั่งเป็นประธาน โดยในช่วงเช้าของแต่ละวันจะมีคณะกรรมการเข้ามาสรุปสถานการณ์ประจำวันให้แก่ ผบ.ทบ.ได้รับทราบ ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ ก็สามารถโทรศัพท์ปรึกษาหารือที่กับศูนย์คณะกรรมการติดตามสถานการณ์ที่กองทัพบกจัดขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางมาร่วมประชุมที่กองทัพบก
จากนั้น พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก แถลงว่า คตร.ที่มี ผบ.ทบ.เป็นประธานยังไม่ได้ประชุมกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น อำนาจหน้าที่ของ ผบ.ทบ.ในฐานะประธาน คตร.ก็มีขอบเขตในเรื่องการประสานงานเพื่อเสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งข้อสรุปที่จะเสนอก็คงจะต้องเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนนายกรัฐมนตรีจะตกลงใจในการสั่งการ ใช้หน่วยงานใดปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เรื่องของการเปิดพื้นที่ในการที่จะให้คณะรัฐบาลได้เข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภาเมื่อเช้านี้ ต้องเรียนว่าเรื่องนี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายโดยตรงในการรับผิดชอบ และได้ไปประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็คงเป็นเรื่องที่ท่านได้พิจารณาใช้หน่วยงานของตำรวจตามปกติ อย่างไรก็ตาม ทาง ผบ.ทบ.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่าในการพิจารณาปฏิบัติภารกิจในการเปิดช่องทางเพื่อให้คณะรัฐบาลไปแถลงนโยบายขอให้พิจารณาใช้มาตรการที่เป็นหลักสากล และไม่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บต่อพี่น้องประชาชน
“กองทัพบกรู้สึกเป็นกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่มาชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่หน้ารัฐสภาเมื่อเช้านี้ โดยที่ไม่มีอาวุธ ก็ไม่สมควรที่จะได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีผู้บาดเจ็บในหลายกรณี ก็ต้องพิสูจน์ทราบว่าด้วยเหตุอะไร แต่โดยปกติการใช้แก๊สน้ำตาต่อกลุ่มผู้ชุมนุมก็ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลที่โดยทั่วไปก็ใช้กันแบบนี้ การยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปบริเวณพื้นที่ฝูงชน ปกติการกระทบแตกของกระสุนแก๊สน้ำตาก็ไม่น่าจะทำให้มีเหตุอันตรายถึงขั้นได้รับบาดเจ็บจนขาขาด แต่อย่างไรก็จะต้องตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป ในส่วนของกองทัพที่ได้กระทำขณะนี้คือการจัดชุดแพทย์ พยาบาล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว” พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า
เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.ได้หารืออะไรกับ ผบ.เหล่าทัพถึงมาตรการที่จะดำเนินการต่อไปหากเกิดความรุนแรงหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ทาง ผบ.เหล่าทัพได้มาร่วมรัฐประทานอาหารกันคงจะได้มีการหารือถึงเรื่องนี้ สำหรับการเตรียมการต่อไปในข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้กำลังทหารออกไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อระงับเหตุก็คงจะไม่ใช่ คงเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอมาเราก็พร้อมที่จะนำกำลังเข้าไปสนับสนุน ซึ่งพื้นที่ของการปฏิบัติงาน เราต้องยึดถือแนวทางที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ว่าจะลุกลามหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เราเป็นคนไทยด้วยกันน่าจะมีทางออก เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม มีอำนาจดำเนินการอย่างไรหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ผบ.ทบ.ไม่มีอำนาจ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเพียงแค่ประมวลข้อมูลเพื่อเสนอแนวคิดต่อนายกรัฐมนตรี ว่าสถานการณ์อย่างนี้ควรจะดำเนินการอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่ ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จะเตรียมการอย่างไรในเรื่องของความมั่นคงภายใน พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า กฎหมายตามปกติทหารพร้อมจะให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อถามว่า กองทัพจะวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ในขณะนี้อย่างไร พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้ ผบ.ทบ.อยากให้พูดคุยปรึกษาหารือกัน แต่ก็เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้กับคณะรัฐบาลเข้าไปแถลงนโยบาย แต่วิธีการปฏิบัติทำอย่างไรถึงได้มีผู้บาดเจ็บ คงต้องตรวจสอบ ซึ่งทาง ผบ.ทบ.ได้ตรวจสอบไปกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ปรากฏว่าเป็นการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งปกติทางทหารเราก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า แก๊สน้ำตาไม่น่าจะมีผลทำให้เกิดความรุนแรงในลักษณะนี้
ต่อข้อถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้กำหนดวิถีกระสุนทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เพียงแต่ติดตามข่าวจากทางทีวี เมื่อถามว่า การดำเนินการของรัฐบาลไม่ได้ ขอความเห็นจาก ผบ.ทบ.ใช่หรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามพล.อ.ชวลิต เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงและได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่านายกฯ ได้ขอคำแนะนำจากคณะกรรมการติดตามสถานการณร่วม หรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นลงมาทางคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม สามารถเสนอข้อคิดเห็นได้ อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ปฎิบัติตามหลักการสากล แต่เนื่องจากการชุมนุมมีคนจำนวนมาก เมื่อต้องการจะเปิดทางคงมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง จนทำให้เกิดการบาดเจ็บเพราะคงไม่มีใครอยากจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
เมื่อถามว่า ทางกองทัพได้เตรียมกำลังเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่อย่างไร พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ในภารกิจประการแรกของกองทัพได้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นหน้าที่ของกองทัพภาคที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รอ.(พล.ม.2 รอ.) และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) รวมถึงกองร้อยปราบจลาจล ซึ่งมีความพร้อมหากได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อถามว่า กองทัพเห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลในการยิงแก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ตอบลำบากว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของ พล.อ.ชวลิต รับมาจากนายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจใช้หน่วยงานตำรวจปฏิบัติ ดังนั้น บอกไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่หากจะทำต้องให้เกิดความรุนแรงน้อยที่สุด ด้วยการใช้หลักสากลที่ทั่วโลกใช้กัน ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ มีความเป็นห่วง จึงประสานให้ตำรวจคิดหาวิธีการที่เป็นสากลที่สุด เชื่อว่าตำรวจเข้าใจและไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก