xs
xsm
sm
md
lg

พปช.เหิม! ตั้งเป้ารื้อ รธน.หมวดกษัตริย์ โวยองคมนตรีได้อภิสิทธิ์เหนือนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พลังประชาชนแบบสัดส่วน รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตามรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดการออนไลน์ – แฉ พลังประชาชน แก้ รธน.หวังรื้อหมวดพระมหากษัตริย์ด้วย “สุนัย จุลพงศธร” ให้สัมภาษณ์ชัด ไม่พอใจ องคมนตรี-อำมาตยาธิปไตย-ตุลาการ มีสิทธิและอิทธิพลเหนือนักการเมือง เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุม 18 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับบทความของ “คำนูณ” ก่อนหน้านี้ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายใหญ่ของ “ระบอบทักษิณ” อยู่ที่การลิดรอนอำนาจของสถาบันกษัตริย์

เช้าวันนี้ (6 ส.ค.) หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้ตีพิมพ์ข่าวระบุว่า ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชาชนกำลังจะยื่นในการเปิดสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น นอกจากการแก้ไข มาตรา 237 มาตรา 309 และมาตรา 63 ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดประเด็นขึ้นมาในรายการสนทนาประสาสมัครเมื่อวันอาทิตย์ (3 ส.ค.) ที่ผ่านมา รวมถึงมาตราอื่นๆ ที่ส่งผลในทางลบต่อพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยังจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใน หมวด 2 พระมหากษัตริย์ อีกด้วย

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวถูกเปิดเผยจากการที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พลังประชาชนแบบสัดส่วน รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตามรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไข รธน.เสนอระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่มี นายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน

โดย นายสุนัย ระบุว่า พรรคการเมืองมาจากระบบทุน ทว่าเช่น องค์กรอิสระและองค์กรในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ กลับมีตำแหน่งในธนาคารได้ สามารถเป็นที่ปรึกษาธนาคารได้ สามารถเป็นที่ปรึกษาบริษัท ซี.พี.จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นข้อสังเกตหรือข้อจำกัดในการศึกษา จำเป็นต้องพูดถึง

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้นำเผด็จการเข้ามาโดยโครงสร้างรัฐธรรมนูญได้จัดระบบเผด็จการอยู่ในนี้ด้วยการแต่งตั้ง เช่น โครงสร้างของสภาที่มีความเชื่อมโยงกับศาล ซึ่งโครงสร้างศาลมีบทบาทสำคัญในการสรรหาวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง กลายเป็นว่า ส.ว.เลือกตั้งถูกครอบงำจากวุฒิสภากลุ่มนี้ จึงไม่เห็นด้วยให้ตุลาการมีบทบาทในสภาแห่งนี้” นายสุนัย กล่าวพร้อมระบุว่า ที่มาของ ส.ว.ควรที่จะมาจากการเลือกตั้งทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์”

“โครงสร้างขององคมนตรี ตัวองคมนตรีก็ไม่มีบทบัญญัติ ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าห้ามไปดำรงตำแหน่งในบริษัทใหญ่ อยากถามว่าทำไมไม่ห้าม และไม่มีใครห้าม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีต ผบ.ทบ.ที่มีบทบาททางการเมืองและครอบงำการเมืองอยู่ในวันนี้ไปอยู่บริษัทใหญ่ๆ แต่ไม่ห้าม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบุคคลสำคัญในกฤษฎีกาตีความทางกฎหมายนั่งในบริษัทห้างร้านธนาคารต่างๆ องคมนตรีก็นั่งอยู่ในธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น จะตัดทุนออกจากระบบทางการเมือง คุณต้องตัดผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ที่อยู่ในกฤษฎีกา ผู้ที่ปลัดกระทรวงอย่านั่งในบริษัทเอกชนจะได้แฟร์กันทั้ง 2 ฝ่าย” ไทยโพสต์ ระบุถึงคำให้สัมภาษณ์ของ นายสุนัย

“ผู้นำเหล่าทัพไปนั่งอยู่ในธนาคาร หรือบางบริษัทมีหรือใครจะไม่เกรงใจ หรือบุคคลสำคัญผู้นำการรัฐประหารไปนั่งในธนาคาร อดีตนายกฯ ไปนั่งในธนาคารแล้วตีความทางกฎหมายได้เปรียบหรือไม่ ทั้งนี้ ผมไม่ต้องการเจาะจงหมายถึงใคร แต่ต้องการเจาะจงไปที่โครงสร้าง” นายสุนัย กล่าว

ส.ส.พลังประชาชน ผู้นี้ยังกล่าวอีกด้วยว่า ตนต้องการเปิดประเด็นให้มีการพิจารณาเรื่ององคมนตรี รวมถึงอำมาตยาธิปไตยทั้งหมดว่าควรจนำมาพิจารณาในการประชุมวันที่ 18 สิงหาคม เพื่อความเป็นธรรมทั้งระบบ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2551 ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่บทความของ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เรื่อง “โละองคมนตรีชุดป๋าเปรม! เนื้อแท้กระบวนการล้มรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ “เหวง-จรัล” และฉบับ “พปช.”” ที่เปิดเผยว่าในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ พรรคพลังประชาชน พยายามยื่นแก้ไขและฉบับที่อดีต นปก.อย่าง นพ.เหวง โตจิราการ และ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย เสนอต่อประธานรัฐสภา นั้น โดยเนื้อแท้ล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ทั้งสิ้น โดยสะท้อนผ่านการกำจัดหรือลดบทบาทขององคมนตรี คณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการเลือกและแต่งตั้งเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในหมวดที่ 2 สถาบันกษัตริย์ มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับองคมนตรีประกอบไปด้วย

มาตรา 12 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน องคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 13 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรี หรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่น หรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 14 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการ การเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการ ศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ
มาตรา 15 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา 16 องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการ ให้พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 19 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควร ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่ รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 21 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือใน ระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรี คนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
มาตรา 23 ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรง แต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธาน รัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้ง พระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดา ก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่ รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง
มาตรา 24 ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบ ราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 23 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และเป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ต่อไปตามวรรคหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสาม มาใช้บังคับ
มาตรา 25 ในกรณีที่คณะองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 วรรคสอง หรือประธานองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือมาตรา 24 วรรคสอง และอยู่ในระหว่างที่ไม่มีประธานองคมนตรีหรือมีแต่ไม่สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะองคมนตรีที่เหลืออยู่เลือกองคมนตรีคนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประธานองคมนตรี หรือปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือตามมาตรา 24 วรรคสาม แล้วแต่กรณี

กำลังโหลดความคิดเห็น