xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”สบช่องเลื่อนอาเซียนซัมมิต เร่งนำข้อตกลงผ่านกระบวนการม.190

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”แจงเลื่อนประชุมอาเซียน ซัมมิต กระทบการลงนามข้อตกลงการค้า แต่ช่วยให้ไทยมีระยะเวลาปฏิบัติตามมาตรา 190 จับตาเปลี่ยนครม.ใหม่ จะไฟเขียวข้อตกลงการค้าต่างๆ หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การเลื่อนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ไปเป็นช่วงเดือนมี.ค.2552 จากกำหนดเดิมที่จะประชุม 15-18 ธ.ค.2551 จะทำให้ข้อตกลงการค้าและการลงทุนหลายฉบับทั้งในส่วนของอาเซียนจัดทำด้วยกันเอง และอาเซียนจัดทำกับประเทศคู่เจรจาล่าช้าออกไป 3 เดือน เพราะอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต้องรอลงนามพร้อมกัน โดยในส่วนของไทยจะเร่งกลับมาจัดความตกลงให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการนำข้อตกลงต่างๆ ให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

“มีผลกระทบในทางปฏิบัติบ้าง แต่ไม่รุนแรง เพราะข้อตกลงที่เป็นของอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นข้อตกลงเดิมที่ทำกันก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นประชาคมอาเซียน (เออีซี) ซึ่งยังคงเดินหน้าตามที่ตกลงกันไว้ แต่ในส่วนข้อตกลงที่อาเซียนทำกับคู่เจรจา เป็นปัญหาที่ไทยจะต้องเร่งกลับมาจัดทำตามกระบวนการของไทยให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะขั้นตอนของสภาฯ เพราะหากไทยยังไม่สามารถลงนามในอาเซียน ซัมมิต ได้อีก จะกระทบกับไทยเอง ที่ทำให้ผลการบังคับใช้ช้าลง” นางสาวชุติมากล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งจะต้องมีการเลือกคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.) จะทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนและประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากครม.ชุดเดิม ประกอบด้วย เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เอฟทีเออาเซียน-เกาหลี และเอฟทีเออาเซียน-จีน ในส่วนของการลงทุน จะต้องถูกส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงพาณิชย์ และเสนอต่อครม.ชุดใหม่ให้พิจารณา ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯ อนุมัติ ส่วนเอฟทีเอที่ผ่านครม.ไปแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนของสภาฯอย่างเดียวนั้น คือเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี ที่เหลือไทยเพียงประเทศเดียวยังไม่ได้ลงนาม

นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ผลการประชุมคณะทำงานความร่วมมืออาเซียนด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 30 ที่เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม ที่ประชุมได้มีมติให้มีการดำเนินการปรับปรุงระบบลิขสิทธิ์ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ การจัดตั้งองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การสร้างเครือข่ายการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคธุรกิจภายในปี 2558 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 31 ในเดือนพ.ค.2552 นี้ เพื่อพิจารณาเป้าหมายการทำงานต่างๆ อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น