xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มประชุมUNแก้“โลกร้อน”ที่ปอซนัน ครึ่งทางสู่การทำข้อตกลงแม่บทฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – สงคราม, ความหิวโหย, ความยากจน, และความเจ็บป่วย จะเข้าครอบงำมนุษยชาติ หากโลกยังล้มเหลวไม่จัดการแก้ไขภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งนี้เป็นเสียงเตือนที่ดังก้องจากเมืองปอซนัน ประเทศโปแลนด์ เมื่อวานนี้(1) อันเป็นวันแรกของการประชุมว่าด้วยโลกร้อนเป็นเวลา 12 วันที่อุปถัมภ์โดยสหประชาชาติ
“การดำเนินกิจกรรมของมนุษย์เราได้มาถึงจุดจำกัดขีดสุดของระบบปิดแห่งพิภพโลกของเราแล้ว” รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมโปแลนด์ มาซีฟ โนวิกกิ กล่าวต่อที่ประชุม โดยที่เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานของการหารือนานาชาติระหว่างวันที่ 1-12 คราวนี้ด้วย
“การขยายตัวในสไตล์เดิมๆ ต่อไปนี้ จะทำให้เกิดภัยคุกคามต่างๆ ในระดับโลก ซึ่งเป็นความตึงเครียดอันใหญ่หลวงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งและภัยน้ำท่วมระดับมหึมา, พายุไซโคลนที่มีอำนาจทำลายล้างเพิ่มขึ้นทุกทีๆ , การระบาดใหญ่ของเชื้อโรคเขตร้อน, การล่มสลายอย่างน่าแตกตื่นของความหลากหลายทางชีวภาพ, การเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของระดับน้ำทะเล” โนวิกกิกล่าวต่อ “ทั้งหมดเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและกระทั่งทางกำลังอาวุธ อีกทั้งทำให้เกิดการอพยพของผู้คนในขนาดที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลย”
เวทีการประชุมที่ปอซนันคราวนี้ ถือเป็นการเดินกันมาได้ครึ่งทางของความพยายามที่จะจัดทำอนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UNFCCC) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 192 ประเทศ โดยกระบวนการจัดทำนี้กำหนดกันไว้ว่าจะใช้เวลา 2 ปี เริ่มต้นขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตอนปลายปีที่แล้ว และตั้งเป้ากันว่าจะให้เสร็จสิ้นสามารถจัดทำเป็นข้อตกลงนานาชาติฉบับใหม่ภายใต้กรอบของยูเอ็น ในการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เดือนธันวาคม ปี 2009
คำเตือนของรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมโปแลนด์ ยังได้รับการตอกย้ำจาก ราเชนทรา ปาเชารี ผู้อำนวยการ ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปเมื่อปี 2007 โดยที่หน่วยงานนี้ของเขาเป็นผู้รับผิดชอบจัดเตรียมความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องโลกร้อนตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดตามมา
“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากไม่ลงมือกระทำการใดๆ แล้ว อาจจะมีความร้ายแรงสาหัสอย่างยิ่ง” ปาเชารีบอก “เราคาดการณ์กันว่า จำนวนผู้คนที่กำลังอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำซึ่งกำลังประสบปัญหาหนักหน่วงนั้น จะเพิ่มขึ้นจาก 1,400 - 1,600 ล้านคนในปี 1995 เป็น 4,300 – 6,900 ล้านคนในปี 2050 จำนวนขนาดนี้ก็คือส่วนข้างมากของมนุษยชาตินั่นเอง”
ความคืบหน้าของกระบวนการที่เรียกขานกันว่า “บาหลี โรดแมป” นี้ยังไปไม่ค่อยถึงไหน เนื่องจากเสียงเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ให้ฝ่ายอื่นๆ ต้องยอมอ่อนข้อ ตลอดจนเนื่องจากข้อตกลงที่จะจัดทำกันนี้มีความละเอียดซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง
ประเทศพัฒนาแล้วในเวลานี้ ถูกประณามว่าเป็นตัวการสำคัญที่สุดซึ่งสร้างปัญหาสะสมยาวนานตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งกลายเป็นภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน กระนั้น พวกเขาก็พยายามล็อบบี้ให้ยักษ์ชาติชาติกำลังพัฒนาที่เติบโตรวดเร็วในปัจจุบัน อย่างจีนและอินเดีย ต้องเข้ามาร่วมส่วนให้มากขึ้นอีกในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซไอเสียที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ก็ต้องการให้ฝ่ายตะวันตกช่วยเหลือจ่ายเงินเพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนจัดหาเงินมาคอยช่วยพวกประเทศที่กำลังจะประสบภัยร้ายแรงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ความหวังที่เคยตั้งกันเอาไว้ว่า การประชุมครึ่งทางที่ปอซนันคราวนี้จะสามารถผ่าทะลวงทางตันกันไปได้นั้น กำลังมีอันต้องกลับมืดมัวลงมากสืบเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ “แฮมเบอร์เกอร์” ซึ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
แต่ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความหวังในแง่ดี นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดีในสหรัฐฯ เนื่องจาก บารัค โอบามา นั้นประกาศแล้วว่าจะกวาดล้างยกเลิกนโยบายต่างๆ ทางด้านภูมิอากาศของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นตัวการทำให้สหรัฐฯถูกโดดเดี่ยวออกจากแวดวงสิ่งแวดล้อมโลกมาตั้งแต่ปี 2001
โอบามานั้นวางเป้าหมายไว้ว่า จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯลงมาสู่ระดับของปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2020 และลงไปให้ได้ 80% ภายในปี 2050
กำลังโหลดความคิดเห็น