xs
xsm
sm
md
lg

แฉบริษัทยาวิ่งล็อบบี้ล้ม CL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฉบริษัทยาวิ่งล็อบบี้เลิกทำซีแอลวุ่น เผยใช้ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่อมสธ.โยนยาที่ซื้อแล้วทิ้ง บังคับให้ซื้อยาใหม่จากบริษัทต้นตำรับ เสนอรับผิดชอบค่าใช้จ่าย “หมอวิชัย”ยันไม่ทำตามใครสั่ง

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีบริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งพยายามมาเสนอขอให้ยกเลิกการทำซีแอลยา โดยยินดีที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่อภ. ได้สั่งซื้อยาสามัญทั้งสองชนิดจากประเทศอินเดีย พร้อมลดราคายาต้นตำรับทั้งสองชนิด และให้ อภ.กลับมาซื้อยาต้นตำรับจากบริษัทฯ ซึ่ง อภ.ไม่สามารถรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ เพราะต้องดำเนินการตามนโยบายที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สั่งการมาอย่างเคร่งครัด และหากทำตามข้อเสนอดังกล่าว อภ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

“หากมีการล็อบบี้ให้ สธ. เปลี่ยนนโยบายให้ อภ.ทำตามข้อเสนอของบริษัทยา อภ.ก็ยังยืนยันว่า จะยึดหลักตามภารกิจ และจะต้องพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเห็นชอบด้วยกฎหมาย และหลักเหตุผลหรือไม่ เช่น ในอดีตที่นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรมว.สธ. สั่งทบทวนการทำซีแอลยามะเร็งผ่านสื่อ ซึ่ง อภ.ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามเพราะไม่มีคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังทราบว่า บริษัทดังกล่าวได้ยื่นข้อเสนอเดียวกันกับกระทรวงพาณิชย์ด้วย อย่างไรแล้วเข้าใจว่าทั้งสองหน่วยงานต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด”นพ.วิชัย กล่าว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวได้เข้าพบกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยื่นข้อเสนอเดียวกันกับ อภ. เมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และในการประชุมคณะทำงาน ซึ่งมี สธ.เข้าร่วม ข้าราชการของกระทรวงพาณิชย์ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ สธ.รับข้อเสนอยกเลิกการทำซีแอลยาทั้งสองชนิด ซึ่งมูลนิธิฯ ไม่อยากเชื่อว่าสิ่งที่ได้ยินมาเป็นความจริง หากมีการฮั้ว และสมคบคิดกันจนทำให้ราคายาแพงขึ้นอีก ทางมูลนิธิจะไม่ปล่อยเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นในวงข้าราชการ ไม่เข้าใจวิธีคิดว่าเหตุใดจึงยอมรับข้อเสนอของบริษัทยาได้ ทั้งที่ข้าราชการต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานองค์การหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกเอกสารสรุปว่าด้วยประสบการณ์ประเทศต่างๆในการใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์ โดยสรุปบทเรียนว่า มาตรการซีแอลสามารถใช้ และใช้เพื่อปกป้องสาธารณสุขได้ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และยังพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาประกาศมาตราการบังคับใช้สิทธิค่อนข้างจำกัด แต่จากประสบการณ์เหล่านั้นก็พบว่า ซีแอลเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และเป็นคำขู่ที่ได้ผล (Credible Threat) ที่สามารถทำให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรลดราคายาได้จริง

นอกจากนี้การใช้มาตรการก่อนการออกสิทธิบัตรจะสามารถช่วยเสริมการเข้าถึงยาได้ เช่น พ.รบ.การแข่งขันทางการค้า ฯลฯ ทั้งนี้ในข้อสรุปตาทมเอกสารขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ลายประเทศที่ทำซีแอลจะถูกวิจารณ์จะถูกกดดันอย่างมาก ดังนั้น ควรต้องพิจารณาหากลไกในการปกป้องประเทศต่างๆให้ใช้กลไกเหล่านี้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น