เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานล่าสุดปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงอย่างฮวบฮาบ โดยเวลานี้มองว่าเศรษฐกิจของพวกประเทศพัฒนาแล้วในปีหน้า จะถึงขั้นหดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พร้อมกันนั้นทางกองทุนก็เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ เร่งการใช้จ่ายเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤตการเงินครั้งนี้
ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะติดลบ 0.3% ในปี 2009 แทนที่การขยายตัว 0.5% จากที่ประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟก็ยังได้ลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวมเป็นแค่ 0.8% จาก 2.2% เดิม
"ความคาดหมายต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้ย่ำแย่ลงไปมาก เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการเงินยังดำเนินต่อไป ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภคก็ดิ่งลงไปด้วย" ไอเอ็มเอฟกล่าว
"ในเขตเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้ามาก คาดหมายว่าจะเผชิญหน้ากับการหดตัวของการภาคผลิตเมื่อคำนวณตลอดทั้งปี 2009 และนับเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง" ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานล่าสุด ซึ่งเป็นการปรับปรุงรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEF) ฉบับเดือนตุลาคมให้ทันสมัย
รายงานฉบับปรับปรุงของไอเอ็มเอฟ บอกด้วยว่า ความร้ายแรงแห่งขาลงของพวกเศรษฐกิจชาติพัฒนาแล้วครั้งนี้ น่าจะ "สามารถเทียบได้ในด้านความร้ายแรง" ได้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1975 และ 1982 แต่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า "โดยจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2009"
ส่วนคาดการณ์การหดตัวของเศรษฐกิจรายประเทศมีดังนี้ สหรัฐฯ 0.7%,ญี่ปุ่น 0.2%,ยูโรโซน 0.5% และอังกฤษ 1.3% ส่วนแคนาดาโชคดีกว่าเพื่อนที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราราว 0.3%
"การคาดการณ์ของเรามีพื้นฐานจากนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมา รวมทั้งความเป็นไปในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านั้นอาจจะได้รับการขยายออกไปอีกมากกว่าที่เราคาดไว้" โอลิวิเยร์ บลังชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกล่าวในระหว่างการแถลงข่าว
"ในการประชุมกลุ่มจี 20 เราจะเสนอให้มีการขยายการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในทั่วโลก" เขากล่าว ทั้งนี้ จี 20 ประกอบด้วยพวกประเทศพัฒนาแล้วชั้นนำ และพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่กับประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่
กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ โดมินิก สเตราส์-คาห์น จะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของจี 20 ในปลายสัปดาห์นี้ที่เซาเปาลู ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นการประชุมก่อนหน้าที่จะมีการประชุมระดับผู้นำในกรุงวอชิงตัน,สหรัฐฯ ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้
"เห็นได้ชัดว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคเพิ่มขึ้นอีกมาก แม้ว่ารัฐบาลต่าง ๆจะทยอยประกาศมาตรการออกมามากแล้วก็ตาม เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัว และจัดวางบริบทที่จะทำให้ฟื้นฟูสุขภาพของภาคการเงินได้" ไอเอ็มเอฟกล่าว
เมื่อถูกถามว่าประเทศใดบ้างที่ต้องมีมาตรการการคลังเร่งด่วนเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ จอร์จ ดีเครสซิน นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า สหรัฐฯ,"ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี" และจีน
สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2008 นี้ ไอเอ็มเอฟก็ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลงเช่นกัน โดยอัตราการเติบโตของทั่วโลกจะอยู่ที่ 3.7% ต่ำกว่าที่ให้ไว้ในเดือนตุลาคม 0.2% ส่วนอัตราการเติบโตของประเทศพัฒนาแล้วก็เหลือ 1.4% ลดลงมา 0.1%
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นหลังการพังทลายของตลาดตราสารหนี้ซับไพรม์ จะมีอัตราการเติบโตราว 1.4% ในปีนี้ โดยครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะหดตัวลงและฉุดดึงอัตราการเติบโตพอประมาณของ 2 ไตรมาสแรกลงมา
ส่วนทางประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ยังคงสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป แต่อัตราการเติบโตก็จะชะลอลงเหลือ 5.1%ในปี 2009
สำหรับพวกประเทศในเอเชียตะวันออกรวมทั้งจีน ไอเอ็มเอฟได้หั่นลดคาดการณ์อัตราเติบโตในปีหน้าลงมา 0.6% เหลือ 7.1% ในขณะที่อัตราการเติบโตของจีนจะเหลือ 8.5% ในปีหน้า เพราะตลาดส่งออกมีปัญหามาก แต่ภาคการเงินจะเติบโตในอัตราสูงเช่นเดิม แถมต้นทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะลดลงเพราะราคาตกลงมาแล้ว ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะเร่งเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อไป