เอเอฟพี - เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้คนใน 6 ประเทศล่าสุดระบุ แม้จีนจะก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจและการทหารในเอเชีย แต่ก็จะยังไล่หลังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในแง่ของการใช้อิทธิพลของ "อำนาจอ่อน" หรือความสามารถที่จะใช้อิทธิพลของตนด้วยวิธีการทางอ้อม ไม่ใช่ด้วยกำลังทหาร ขณะที่บทบาทสหรัฐฯ ยังโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคแถบนี้
จากรายงานของสภาว่าด้วยกิจการโลกแห่งชิคาโก และสถาบันเอเชียตะวันออกแห่งเกาหลีใต้ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และสหรัฐฯ และนำออกเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (17) พบว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในทั้ง 5 ขอบข่ายหลักของอำนาจอ่อน อันได้แก่ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทรัพยากรมนุษย์ การทูต และการเมือง
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า "การเติบโตของจีนทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร อาจจะยังไม่ได้ถูกแปลงให้เป็นองค์ประกอบของอำนาจอ่อน ที่จะช่วยให้จีนได้ใช้อิทธิพลทางอ้อมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก"
นั่นหมายความว่าความรับรู้ต่ออำนาจอ่อนของจีนนั้น "ยังล้าหลังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในภาพรวม" ทั้งๆ ที่จีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งกับเอเชียและประเทศอื่นทั่วโลก และได้พยายามผลักดันให้การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคมปีนี้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ
"ข้อสรุปจากรายงานนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จีนได้รับการยอมรับจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านว่าจะขึ้นเป็นผู้นำของเอเชียในอนาคตอย่างแน่นอน ทว่าจีนยังมีภารกิจที่จะต้องทำต่อไปอย่างหนักเพื่อเอาชนะจิตใจและความคิดของผู้คนในภูมิภาคนี้" มาร์แชล บูตัน ประธานสภาฯ แห่งชิคาโกกล่าว
"หากจีนต้องการสร้างความน่าเชื่อถือในเอเชียก็จะต้องลงทุนด้านทรัพยากรอีกมากเพื่อสร้างอำนาจอ่อนของตนขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทูต สังคม และวัฒนธรรม" เขาเสริม
จากผลสำรวจความคิดเห็น ชาวอเมริกัน จีน ญี่ปุ่นและอินโดนีเซียล้วนเชื่อว่าจีนนั้นเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจสูงสุดในเอเชีย โดยที่ชาวเกาหลีใต้และเวียดนามเห็นว่าจีนนั้นเป็นรองก็เฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น
ผลสำรวจดังกล่าวรวบรวมจากการสัมภาษณ์ผู้คนกว่า 6,000 คนจาก 6 ประเทศดังกล่าวข้างต้น ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ การสำรวจมีขึ้นก่อนที่จะเกิดปัญหาจลาจลในทิเบต และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเสฉวน ซึ่งได้ฉายให้เห็นถึงสภาพภายในของจีนอย่างชัดเจนขึ้น
รายงานดังกล่าวยังระบุถึงข้อแตกต่างจากผลสำรวจครั้งก่อนๆ ที่จัดทำขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ส่งกำลังบุกอิรักในปี 2003 กล่าวคือ ชาวเอเชียที่ให้สัมภาษณ์เหล่านั้น ส่วนใหญ่ยังคง "ชื่นชม" สหรัฐฯ ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การทูต วัฒนธรรม และการศึกษา โดยพวกเขามองว่าการที่สหรัฐฯ คงกองกำลังทหารในเอเชียนั้นถือเป็นการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และยังเป็นการป้องกันการแข่งขันกันทางด้านอาวุธระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วย
"หากพิจารณาเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นที่มีมุมมองเชิงลบต่อสหรัฐฯ แล้ว ก็นับน่าประหลาดใจที่ประเทศในเอเชียกลับมีความรู้สึกเชิงบวกอย่างมากต่อสหรัฐฯ" คริสโตเฟอร์ วิทนีย์ ผู้อำนวยการบริหารด้านการสำรวจความคิดเห็นประจำสภาฯ แห่งชิคาโกกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีผลสำรวจ "ที่คาดไม่ถึง" ประการหนึ่ง ระบุว่า ชาวอเมริกันมีความรู้สึกในทางลบต่อจีนมากขึ้น หลังจากที่สภาฯ แห่งชิคาโกเคยทำการสำรวจในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อปี 2004 และ 2006
ทว่า ในทางตรงกันข้าม มุมมองของชาวจีนต่อสหรัฐฯ กลับมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจคราวก่อนในปี 2006 อีกทั้งชาวจีนยังมีทัศนคติที่ดีอย่างต่อเนื่องต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชีย