xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาการและทิศทางรัฐนาวามังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับตั้งแต่มีการเปิดประเทศในปี ค.ศ. 1978 หรือเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จากความพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของจีนในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อโลกมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 17 ที่ผ่านมา ทำให้ทิศทางและทุกย่างก้าวของจีน กลายเป็นที่จับตามองของนานาประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางพัฒนาการของจีน – นัยสำคัญสำหรับไทยโดยได้เชิญบุคคลากรจากหน่วยงานมันสมองของจีนและผู้เชี่ยวชาญจากไทยอาทิ ศ. เฉินซีเหวิน รองผู้อำนวยการสำนักงานคุณอนุกรรมการด้านเศรษฐกิจการคลังแห่งรัฐบาลจีน ศ.ดร.หานจวิ้น ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจชนบท ศูนย์วิจัยพัฒนา สำนักนายกรัฐมนตรี และรศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมปาฐกถา

ในงานดังกล่าว ศ.เฉินซีเหวินได้เปิดเผยให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาหลังจีนเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบวางผัง มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด พร้อมเดินหน้าเปิดประเทศในการลงทุน และผลักดันผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่สังคมโลกนั้นสามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจนจากอัตราผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตเฉลี่ย 9.6% โดยเฉพาะหลังปี 2001 ที่มีการเติบโตมากกว่า 10% ล่าสุดในปี 2007 จีนมีจีดีพีรวมอยู่ที่กว่า 24 ล้านล้านหยวน หรือเติบโตถึง 11.4% โดยมีจีดีพีต่อประชากรจากที่ไม่ถึง 200 เหรียญสหรัฐฯเมื่อ 30 ปีก่อน มาอยู่ที่ราว 2,600 เหรียญสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา

นานาปัญหาที่รุมเร้า

เบื้องหลังของความสำเร็จในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้น จีนเองก็ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นไม่น้อย สิ่งนี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยในการจำกัดการพัฒนาในระยะยาวของจีน เนื่องจากผลพวงจากการผลัดดันอุตสาหกรรม ได้ทำให้ที่ดินเพาะปลูกที่ลดลงเรื่อยๆ ก่อให้เกิดมลพิษต่อดิน น้ำและอากาศ โดยเฉพาะการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินอย่างมหาศาล อันก่อให้เกิดการปล่อยซัลเฟอร์และก๊าซเรือนกระจกออกไปเป็นจำนวนมาก

การเติบโตอย่างรวดเร็วยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างตัวเมืองกับชนบท ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค การรักษาพยาบาล รวมไปถึงรายได้ระหว่างคนเมืองกับชาวชนบทที่แตกต่างกันถึง 3.2:1 นอกจากนั้นยังมีความไม่สมดุลระหว่างเขตพื้นที่ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยการพัฒนามากที่สุดจะอยู่ตามบริเวณแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การพัฒนาในภาคกลางและตะวันตกน้อยกว่ามาก ทำให้แรงงานหลั่งไหลไปรวมตัวกันที่บริเวณชายฝั่งจนนอกจากความไม่สมดุลแล้วยังทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับ

“การอพยพของแรงงานจีนมีราว 200 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรชนบท จะเป็นกลุ่มที่อพยพย้ายถิ่นไปมาคล้ายนกเร่ร่อน ทำให้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ในชนบทลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากเดินทางไปหางานในเมืองกันหมด ซึ่งโดยรวมแล้วแรงงานจีนยังนับว่ามีมากเกินอยู่” ศ.ดร หานจวิ้นระบุ

นอกจากนั้นรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็ยังพึ่งพิงการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมากไป จนก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมถึงปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่างๆเช่นค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งด้านการศึกษา ที่พักอาศัย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลพวงอันยาวนานในช่วงเวลาของการพัฒนาเศรษฐกิจอันเป็นความท้าทายที่ยากจะแข้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

เป้าหมายและทิศทางอนาคต

ศ.เฉินได้เปิดเผยว่า จีดีพีของจีนควรจะอยู่ในราว 8%-9% กล่าวคือไม่ร้อนแรงขนาด 11.4% เหมือนในปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ควรต่ำจนเกินไป เนื่องจากในแต่ละปีตัวเมืองจะมีแรงงานเพิ่มกว่า 10 ล้านคน ในขณะที่แรงงานจากชนบทก็มีอีกประมาณ 8 ล้านคนที่จะอพยพเข้าเมือง หากผลผลิตมวลรวมต่ำเกินไป ก็จะเป็นแรงกดดันในการพัฒนาของจีนเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต จีนจำเป็นต้องทุ่มเทเงินลงทุนเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งควบคุมการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ ซึ่งจีนได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 5 ปี ทุกๆผลผลิต 10,000หยวน จะต้องลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรลง 20% ลดมลพิษจากซัลเฟอร์และก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละสิบ

ที่สำคัญคือจีนจะต้องผลักดันการพัฒนาชนบท โดยอาศัยระบบการเงินการคลัง และการพัฒนาเมืองในการไปนำพาการพัฒนาชนบท หว่านเงินลงทุนเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างหลักประกันต่างๆไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้ เงินสำรองเลี้ยงชีพ การรักษาพยาบาล การบริการสาธารณะเป็นต้น

“ตั้งแต่ปี 1998 หลังวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยหนึ่งปี ที่ทั่วโลกรวมถึงจีนได้รับผลกระทบ ทำให้การส่งออกอ่อนล้าลง จีนได้ทุ่มไปกับนโยบายพิชิตตะวันตก (西部大开发) ด้วยการปูพรมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งรถไฟ ไฮเวย์ สนามบิน” รศ. ดร.สมภพระบุ

นอกจากนั้น รูปแบบการเจริญเติบโตที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ จนทำให้ตัวเลขการเกินดุลของจีนทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาไม่น้อย ดังนั้นทางการจีนจึงได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาตลาดภายใน เน้นให้มีการบริโภคภายในให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างเสถียรภาพทางผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร สินค้าเกษตรเพื่อให้ตอบสนองอุปสงค์ของข้าว ข้าวสาลีในประเทศได้ด้วยตนเอง

ในขณะที่เรื่องคุณภาพสินค้า ของปลอม และบริการที่ไม่ดีจนถูกจับตามองจากหลายฝ่ายนั้น ศ.เฉินได้ชี้แจงว่า “เรื่องสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือสินค้าปลอมนั้นมีอยู่บ้างในประเทศจีน ทว่าประเด็นดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับกระบวนการพัฒนาของแต่ละประเทศ ที่สำคัญก็คือ จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตขึ้น เพราะไม่มีสินค้าประเทศใดที่เมื่อผลิตแล้วก็มีคุณภาพดีที่สุดของโลกได้ทันที คุณภาพสินค้าและบริการจะพัฒนาไปตามระดับการพัฒนาของประเทศนั้นๆ และขึ้นอยู่กับว่าผู้นำกับสื่อมวลชนของประเทศจะชี้นำและผลัดดันไปในแนวทางไหน ซึ่งเชื่อว่าในเวลาอีก 3-5 ปีคุณภาพสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนจะดีขึ้น”

นัยสำคัญต่อประเทศไทย

ประเทศไทยกับจีนมีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่นการมีประชากรส่วนมากเป็นเกษตรกร ทว่ากลับมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับด้านอื่น โดยประเทศไทยมีเกษตรกรประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่มีจีดีพีจากสินค้าการเกษตรอยู่ที่ 8% กว่าๆ อุตสาหกรรม 37%-38% และบริการอยู่ที่ 53% ในขณะที่จีนมีสัดส่วนจากการเกษตรอยู่ที่ 11% ภาคบริการ 39% และอุตสาหกรรมที่มากถึง 50% ฉะนั้นไทยเองก็มีการพึ่งพาอุตสาหกรรมมากเกินไปเช่นเดียวกับจีน ซึ่งรูปแบบเศรษฐกิจเช่นนี้ จะทำให้ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศได้ง่าย เช่นหากเศรษฐกิจในสหรัฐฯเกิดเป็นหวัด หรือค่าเงินแข็งเกิน ก็จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีปัญหาและไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างคล่องตัว

กับปัญหาดังกล่าว ดร.สมภพได้มองว่า “จีนเปิดเกมรุกพัฒนาตลาดภายในประเทศ พัฒนาภาคกลางและภาคตะวันตก ด้วยความพร้อมทางด้านนโยบายและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้มีการเกิดการขยายตัวของภาคเมืองอย่างมหาศาล และจะทำให้อุตสาหกรรมและบริการขยายตัวตาม ทำให้มีการปรับฐานด้านอุปาทาน ที่จะนำพาธุรกิจทุกอย่างให้ขยายตัวตาม”

ส่วนโอกาสของไทยนั้น เมื่อภาคบริการจีนขยายตัวขึ้นตามนโยบายที่จะผลักดัน ประเทศไทยซึ่งมีประสบการณ์ความชำนาญในด้านนี้ก็ควรจะทำให้มีการเชื่อมโยงกับจีนให้มากขึ้น โดยศ.ดร.หานจวิ้นได้ระบุว่า “จีนจะเรียนรู้การพัฒนาทางการเกษตรจากไทย เพื่อไปใช้ในการปรับปรุงในการแข่งขันที่มีมากขึ้น ส่วนไทยเองในอนาคตหากสามารถปรับปรุงอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวให้ดี ก็จะเป็นโอกาสอันมหาศาล”
กำลังโหลดความคิดเห็น