xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิตจี8จบโดยผ่า“ทางตัน”แก้โลกร้อนไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - บรรดาผู้นำกลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก(จี8) ให้คำมั่นเมื่อวานนี้(9)ว่า จะร่วมมือกันทำให้ราคาน้ำมันและอาหารที่ทะยานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องให้ลดลงให้จงได้ อย่างไรก็ตามตาม พวกเขาล้มเหลวในการทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เข้ามาร่วมมือต่อสู้กับโลกร้อนในหนทางเดียวกับพวกตน

การประชุมซัมมิตประจำปีเป็นเวลาสามวันของกลุ่มจี8 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวานนี้ และในวันสุดท้ายได้มีการเชิญผู้นำประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างเช่น จีน และอินเดียมารวมประชุมด้วยในหัวข้อโลกร้อน

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชแห่งสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมการประชุมว่า “มีประโยชน์อย่างมาก และผมยินดีที่จะรายงานว่าเราประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง” ก่อนที่จะเขาจะทางออกจากสถานที่ประชุม

กลุ่มจี 8 ซึ่งมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศรวมกันถึงสองในสามของโลก ได้ร่วมกันแถลงว่าแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะ “อยู่ในระดับพอประมาณ” แต่พวกเขาก็มองเห็นอนาคตอันสดใสอยู่รำไร

พวกเขาเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันทำให้ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับราคาปี 2003 และราคาอาหารซึ่งที่ทะยานลิ่ว ลดลงมาก่อนที่จะส่งผลกระทบกับโลกโดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาไปมากกว่านี้

นายกรัฐมนตรี ยาสึโอะ ฟุคุดะ แห่งญี่ปุ่นกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นซัมมิตว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงให้ตลาดน้ำมันมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น” และเขายังกล่าวด้วยว่าผู้นำกลุ่มจี 8 เห็นพ้องต้องกันว่าทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันยกเลิกข้อห้ามการส่งออกอาหาร
หัวข้อที่มีการหารือกันมากที่สุดในการประชุมสุดยอดจี8 และผู้นำประเทศกำลังพัฒนาก็คือสถานการณ์โลกร้อน

เมื่อวันอังคาร กลุ่มประเทศร่ำรวยเหล่านี้ได้เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศโลกอย่างน้อย 50% ในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้นำจี 8 ชื่นชมว่าเป็นความก้าวหน้าหลังจากชะงักงันมาหลายปีเพราะความลังเลของประธานาธิบดีบุช

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับโต้แย้งว่าคำแถลงนี้อ่อนเกินไป และโต้แย้งกับพวกประเทศร่ำรวย ระหว่างการประชุมซัมมิตขยายวง ซึ่งนำเอาผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาแห่งจีน และนายกรัฐมนตรีมานโมหัน ซิงก์ของอินเดีย มาประชุมด้วย

การที่ประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนายังคงขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ทำให้เป็นที่วิตกกันว่า จะทำให้โลกไม่ประสบความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อทำสัญญาเกี่ยวกับการลดปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่ ภายในการประชุมใหญ่ตอนช่วงสิ้นปี 2009 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดขึ้นในการประชุมระหว่างประเทศที่อุปถัมภ์โดยสหประชาชาติ ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ในคำแถลงของผู้นำจี8กับประเทศกำลังพัฒนา ที่ออกมาภายหลังการประชุมขยายวงเมื่อวานนี้ชี้ว่า“ปัญหาโลกร้อนเป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลกที่ท้าทายที่สุดในยุคสมัยของเรา และประเทศของเราก็จะเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จของการประชุมความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกนให้ได้”

อย่างไรก็ตามคำแถลงการณ์ระบุเพียงว่าประเทศร่ำรวยจะปฏิบัติตามเป้าหมายของตนเองในการลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ก็จะเดินหน้าตามที่แต่ละประเทศได้วางแผนไว้ โดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขไว้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานกรรมาธิการยุโรปก็ออกมากล่าวปกป้องผลการประชุมว่า “การมองว่ามันเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วเป็นเรื่องที่ผิดพลาด แน่นอนว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องรับผิดชอบในสัดส่วนที่มากกว่า แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาของโลกและต้องการให้ทุกคนเข้าร่วมแก้ไขด้วย”

ส่วนแดน ไพรซ์ ผู้ช่วยของบุชทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ชื่นชมว่าการประชุมววานนี้ที่เสนอโดยสหรัฐฯเป็นการประชุมที่ “มีประโยชน์มาก” เพราะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายหารือและสร้างความเข้าใจบนพื้นฐานอันเดียวกัน”

แต่กลุ่มห้าประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก และอัฟริกาใต้กลับเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยเป็นผู้นำต่อสู้กับโลกร้อนแทนที่จะมาร่วมมือกันอย่างเท่าเทียมเนื่องจากประเทศร่ำรวยเป็นผู้ปล่อยก๊าซร้อนมากที่สุด

“หากว่าสหรัฐฯไม่เปลี่ยนการตัดสินใจต่อเรื่องนี้เสียใหม่โดยมามีบทบาทเพิ่มขึ้นในเรื่องนี้ อัฟริกาใต้ก็เห็นว่ากลุ่มห้าประเทศก็คงไม่สามารถดำเนินการใด ๆต่อไปได้” มาร์ธินัส ฟาน ชอล์ควีค รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอัฟริกาใต้กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น