xs
xsm
sm
md
lg

หลากหลายทัศนะเกี่ยวกับวิกฤตการณ์สินเชื่อด้อยคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันมีข้อถกเถียงกันมากว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินจากหนี้ด้อยคุณภาพจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของโลกมากน้อยเพียงใด ให้บทเรียนราคาแพงอะไรบ้าง และควรปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินของโลกอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

กลุ่มแรก สามารถเรียกในชื่อว่า No Recession Camp ได้วิเคราะห์ว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีผลร้ายแรงแต่อย่างใด เนื่องจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินเป็นหลัก ขณะที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่มากนักและเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น

กลุ่มที่สอง ได้วิเคราะห์ว่าวิกฤตการณ์หนี้ด้อยคุณภาพของภาคสถาบันการเงินจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากไม่รีบเร่งแก้ไขโดยเร็วแล้ว จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)

กลุ่มนี้ได้วิเคราะห์ว่าปัญหาของหนี้ด้อยคุณภาพและปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจจริงผ่านกลไกต่างๆ กล่าวคือ จากการที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ลดลง ประกอบกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลดต่ำลง ทำให้ประชาชนสหรัฐฯ มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงตามไปด้วย ขณะที่หนี้สินมีมูลค่าเท่าเดิม ทำให้ฐานะการเงินของประชาชนลดต่ำลง

ปัญหาข้างต้น จะส่งผลกระทบทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อในรูปต่างๆ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อซื้อรถยนต์ ฯลฯ แก่ภาคครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง ผู้ผลิตสินค้าต้องลดปริมาณการผลิต ดังนั้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นและรายได้ของภาคครัวเรือนลดต่ำลงมากขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการเงินที่ประสบปัญหามีแนวโน้มที่จะเก็บเงินสดไว้ เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อันนำไปสู่ภาวะ “สินเชื่อตึงตัว” (Credit Crunch) ซึ่งก่อความเดือดร้อนให้กับภาคเศรษฐกิจจริง เพราะทำให้ลูกหนี้คุณภาพดีไม่สามารถกู้เงินได้ และยังต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าปกติ

ขณะเดียวกัน Spiegel Online ได้สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์เพื่อให้ทัศนะเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้แตกต่างกันออกไป คนแรก คือ นาย Jeffrey Miron อาจารย์ประจำสาขาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้ทัศนะว่าปัญหาในด้านสินเชื่อจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความยากลำบากระยะหนึ่ง แต่ไม่น่าจะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เหมือนกับวันสิ้นโลกอย่างที่ทุกคนคิด โดยรัฐบาลควรยอมปล่อยให้บางสถาบันการเงินหรือบางบริษัทที่มีฐานะการเงินย้ำแย่ต้องล้มละลายลงบ้าง เนื่องจากควรมีคนที่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ส่วน นาย Edmund S. Phelps ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี 2549 ได้ให้ทัศนะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากธนาคารได้เพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยมีอัตราหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา บรรดาธนาคารเหล่านี้ได้มุ่งเน้นให้สินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ทั้งในการปล่อยสินเชื่อแก่โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ขณะที่สนใจปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจลดลง

สำหรับในอนาคตธนาคารจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ โดยลดการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ลง และหันมาปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารเหล่านี้ได้ละเลยในการให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ ทำให้สูญเสียความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจในด้านนี้

ขณะที่ นาย Paul A. Samuelson ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2513 ได้ให้ทัศนะว่าแม้ว่าจะเกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นกับประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด แต่ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดจะคงอยู่ต่อไปและเป็นระบบหลักของโลก เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว และไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจน ยังไม่มีระบบเศรษฐกิจแบบอื่นที่สามารถเป็นทางเลือกที่น่าพึงพอใจมากกว่าระบบเศรษฐกิจอย่างการตลาด อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจแบบตลาดให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

ขณะที่ นาย Robert E. Lucas ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี 2538 มองว่าปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินนับว่ารุนแรงมาก ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยเพิ่มเงินสดสำรองจำนวนมาก จาก 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 เป็น 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 329,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2551 แม้ว่านโยบายเช่นนี้จะมีผลกระทบเชิงลบ ทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีทัศนะว่าปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินสำคัญมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ

สำหรับการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต นาย Lucus ได้ให้ทัศนะว่าควรมีทางเลือกให้กับประชาชนเกี่ยวกับสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ปราศจากความเสี่ยงจากปัญหาผิดนัดชำระหนี้ โดยแนวทางที่ดีที่สุด คือ เงินฝากที่ค้ำประกันโดยรัฐบาล ซึ่งจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อทางราชการออกกฎระเบียบอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมสินทรัพย์ของธนาคาร ดังนั้น ในอนาคตควรให้ประชาชนสามารถเลือกฝากเงินกับธนาคาร 2 แบบ แบบแรก คือ รัฐบาลค้ำประกัน อาจจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่ไม่มีปัญหาความเสี่ยงว่าธนาคารจะล้ม และ แบบที่สอง เป็นเงินฝากธนาคารที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยและความเสี่ยงสูงกว่า

นาย Reinhard Selten ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2537 ได้วิเคราะห์ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในอัตราสูงเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจำนอง บางครั้งสูงกว่าราคาทรัพย์สินที่นำมาจำนองด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ผู้ขอสินเชื่อมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ และเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหากับสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงการลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคตนั้น จะต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านนี้ รวมถึงธนาคารจะต้องแยกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงออกไปเป็นอีกนิติบุคคลหนึ่งซึ่งทำธุรกิจเฉพาะกิจแยกต่างหากจากกิจการธนาคารของตนเอง

นาย Joseph E. Stiglitz ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2544 เห็นว่ากระบวนการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกในครั้งนี้ ควรต้องแก้ไขในรูปความร่วมมือประสานงานกันระหว่างประเทศ มิฉะนั้น จะไม่ประสบผลสำเร็จ โดยยกตัวอย่างในช่วงต้นปี 2551 ซึ่งธนาคารกลางของยุโรปได้ปฏิเสธที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากหวั่นเกรงปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่

การดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ร่วมมือประสานงานกันดังกล่าวข้างต้น ทำให้เงินไหลจากสหรัฐฯ เข้าไปยังยุโรป ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐ อ่อนตัวลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเงินยูโร รวมถึงทำให้สินค้าของสหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในตลาดส่งออก ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนั้นปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มที่ใช้เงินยูโร ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออก

จากปัญหาข้างต้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มที่ใช้เงินยูโรอ่อนตัวลง ได้ส่งผลกระทบสะท้อนกลับคืนไปยังเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกต่อหนึ่ง โดยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนตัวลงเช่นกัน เนื่องจากตลาดส่งออกสำคัญ คือ กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ลดการนำเข้า

รวมทั้งได้วิพากษ์วิจารณ์ภาคสถาบันการเงินว่าภารกิจสำคัญ คือ การเสริมสร้างความมั่งคั่งและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านกระบวนการจัดสรรทรัพยากรให้ถูกต้อง และมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา คือ ภาคสถาบันการเงินจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงแต่ไม่บริหารความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเสี่ยงขึ้นเอง แม้ในระยะที่ผ่านมาจะมีกฎระเบียบเกี่ยวกับ Basel II เพื่อกำกับดูแลและควบคุมสถาบันการเงิน แต่เป็นกฎระเบียบที่มุ่งเน้นให้ธนาคารกำกับดูแลควบคุมตนเองเป็นหลัก ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าธนาคารไม่สามารถบริหารความเสี่ยงของตนเองผ่านกลไกระบบกำกับดูแลตนเองได้

สำหรับแนวทางดำเนินการในอนาคต นาย Stiglitz ได้เสนอแนะไว้หลายประการ

ประการแรก จะต้องควบคุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความปลอดภัยและสถาบันการเงินจะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตนเองจำหน่ายออกไป ไม่ใช่เมื่อแปลงสินเชื่อเป็นหลักทรัพย์ตราสารหนี้และจำหน่ายออกไปแล้ว จะถ่ายโอนความเสี่ยงทั้งหมดไปยังลูกค้าที่ซื้อตราสารหนี้นั้นๆ โดยตนเองไม่รับความเสี่ยงอีกต่อไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา “จริยวิบัติ” (Moral Hazard) กล่าวคือ สถาบันปล่อยสินเชื่อโดยไม่สนใจวิเคราะห์ความเสี่ยงเท่าที่ควร

ประการที่สอง ได้วิเคราะห์ว่าการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ใช้เงินเหรียญสหรัฐ เป็นเงินทุนสำรองนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เหมาะสม เพราะเงินเหรียญสหรัฐ ไม่ใช่เครื่องมือที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ ในการเก็บรักษามูลค่าเงินสำรองเอาไว้ ดังนั้น จึงเห็นว่าควรจะต้องสร้างระบบทุนสำรองของโลกขึ้นใหม่ โดยตั้งชื่อว่า Bancor ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบ Special Drawing Rights (SDR) ของ IMF

ประการที่สาม ได้วิพากษ์วิจารณ์ IMF ว่าเป็นองค์กรที่มีจุดบกพร่องในกระบวนการบริหารงาน เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกได้ พร้อมกับให้ทัศนะว่าในอดีต IMF มักบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยุโรปและสหรัฐฯ กลับดำเนินนโยบายตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อประเทศของตนเองเผชิญวิกฤต กลับลดอัตราดอกเบี้ยและเร่งใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ในอนาคตจะต้องมีการปฏิรูปสถาบันที่รับผิดชอบในด้านการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของโลกเสียใหม่

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น