xs
xsm
sm
md
lg

เงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

เผยแพร่:   โดย: ธรรมรัตน์ รัตนพันธ์

กรณีการได้รับเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 นั้น ผู้รับเงินปันผลที่เป็นบุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลจะได้รับสิทธิและประโยชน์ โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับนั้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งกำไรสุทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 จะนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 341 นั้น จะต้องเป็นกำไรสุทธิทางภาษีเท่านั้นมิใช่กำไรสุทธิทางบัญชีแต่อย่างใด

1. กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ได้รับเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 ผู้ได้รับเงินปันผลจะไม่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตลอดระยะเวลาที่ผู้จ่ายเงินปันผลนั้นได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับเงินปันผลในกรณีดังกล่าวนี้ไม่มีสิทธิในการได้รับเครดิตเงินปันผลอีก เนื่องจากเงินปันผลในกรณีนี้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว

นอกจากนั้นการให้เครดิตภาษีเงินปันผลแก่ผู้มีเงินได้นั้น ในทางทฤษฎีจะให้เฉพาะกรณีที่ผู้ได้รับเงินปันผลจากบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ดังนั้น กรณีผู้จ่ายเงินปันผลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วผู้รับเงินปันผลย่อมไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลอีก2

กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลที่จ่ายจากกิจการที่ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ ตามนัยมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บุคคลธรรมดาผู้ได้รับเงินปันผลนั้นต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ตามมาตรา 48 (3) วรรคสอง นอกจากนั้นผู้มีเงินได้ดังกล่าวยังมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามปกติ3

2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ได้รับเงินปันผล ที่จ่ายจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 จะไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตลอดระยะเวลาที่ผู้จ่ายเงินปันผลนั้นได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม

กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับเงินปันผลที่จ่ายจากกิจการที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ผู้ได้รับเงินปันผลนั้น ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและต้องนำเงินปันผลที่ได้รับนั้นไปคำนวณเป็นรายได้ของบริษัทตามเกณฑ์ปกติ

ตัวอย่างเช่น บริษัท รวยเงิน จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานฯ ออกบัตรส่งเสริมฯ ให้ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ซึ่งในบัตรส่งเสริมฯ ระบุว่าให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 7 ปี ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลในบัตรดังกล่าวได้หมดไปแล้ว

ต่อมาในปี 2549 บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มอีก 1 บัตรลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 ซึ่งในบัตรส่งเสริมฯ ระบุว่าได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี และประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ เป็นกิจการเดียวกันกับบัตรส่งเสริมฯ ฉบับแรก ถ้าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมของบัตรส่งเสริมฯ ฉบับเดิม ผู้รับเงินปันผลดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่

เงินปันผลที่ผู้รับเงินปันผลได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งกิจการนั้นได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนก็ต่อเมื่อเงินปันผลดังกล่าวนั้น จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและจะต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายและผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530

ดังนั้น กรณีที่บริษัท รวยเงิน จำกัด ประสงค์จะนำกำไรสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับแรก มาจ่ายเป็นเงินปันผลในปีอื่นๆ ที่มิใช่ระยะเวลาที่บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฉบับดังกล่าว เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในกรณีดังกล่าวย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และผู้รับเงินปันผลจะต้องนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ปกติ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

1 มาตรา 34 เงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น

2 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร โดยไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ...กรณีได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยจ่ายจากกำไรของโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและได้รับในช่วงเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น

3 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 เรื่อง การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กำลังโหลดความคิดเห็น